กรณีที่แกนนำพรรค “ว่าที่รัฐบาล” ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคเป็นธรรม ออกมารุมตำหนิ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่จัดประชุมผู้แทนอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ และเชิญเมียนมาเข้าหารือด้วย ระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. ทั้งๆ ที่รัฐบาลลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอยู่แล้วในเดือนหน้า ขณะที่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่ไทยจัดในครั้งนี้
โดยประเด็นวิจารณ์มีทั้งเรื่องมารยาทของไทย ซึ่งไม่ได้มีบทบาทตัวแทนอาเซียนในวาระเกี่ยวกับเมียนมา, ความเหมาะสมของรัฐบาลรักษาการที่จะจัดการประชุมลักษณะนี้ และการให้พื้นที่กับรัฐบาลเมียนมาซึ่งยึดอำนาจเข้ามาและมีการก่อสงครามภายในประเทศนั้น
“ทีมข่าวอิศรา” ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เรื่องนี้กับฝ่ายการเมืองในกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงโฆษกรัฐบาล แต่ได้รับการปฏิเสธ
ล่าสุด “ทีมข่าวอิศรา” ได้พูดคุยกับ นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีประเด็นน่าสนใจหลายประเด็น
1.เรื่องความเหมาะสมของการเป็นรัฐบาลรักษาการ - นายนันทิวัฒน์ บอกว่า รัฐบาลรักษาการก็ยังเป็นรัฐบาล ถือว่ามีอำนาจที่จะดำเนินการได้ ในทางกลับกัน ฝ่ายการเมืองที่ออกมาวิจารณ์ ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ทำ เมื่อตนเองเข้ามามีอำนาจ ก็จะต่อว่ารัฐบาลชุดนี้อยู่ดีว่า “ไม่ทำอะไรเลย” สรุปทำหรือไม่ทำก็จ้องจะด่า
ที่สำคัญเท่าที่ประเมินสถานการณ์ เรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะที่การตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ยังกำหนดเวลาไม่ได้ว่าจะสำเร็จเมื่อใด รัฐบาลรักษาการจึงตัดสินใจจัดประชุม ส่วนรัฐบาลชุดใหม่ เมื่อเข้ามามีอำนาจแล้ว จะตัดสินใจทำอย่างไร ก็เป็นสิทธิของรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลรักษาการก็ไม่ได้ไปตั้งรัฐบาลแข่งด้วย
2.ผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ - นายนันทิวัฒน์ บอกว่า สถานการณ์การสู้รบในเมียนมากระทบถึงชายแดนไทย ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร ผลกระทบเกิดกับการค้าตามแนวชายแดน ตัวเลขความเสียหายราวๆ 2 แสนล้านบาท ฉะนั้นหากทำให้สงบได้ย่อมดีกว่าปล่อยให้สู้รบต่อไป
3.มีต่างชาติเข้าไปมีบทบาทในการสู้รบ ทั้งๆ ที่เป็นสถานการณ์ภายในของเมียนมา - นายนันทิวัฒน์ บอกว่า ได้รับข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า มีชาวตะวันตก ชื่อ “ทิมโมธี” และทีมงาน เข้าไปฝึกกำลังรบให้กับกองกำลังที่ต่อสู้กับรัฐบาลเมียนมา และยังมีกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็น “นักรบรับจ้าง” เข้าไปเคลื่อนไหวด้วย จึงขอถามคนที่ออกมาวิจารณ์ว่า อยากให้เมียนมาเป็น “ยูเครน 2” หรืออย่างไร
สถานการณ์ในเมียนมาขณะนี้ กำลังมีคนทำให้ปัญหาภายในกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ไม่ใช่คนพม่ารบกันเอง ต้องถามว่าคนที่ออกมาวิจารณ์ยอมรับได้หรือ หากมีการแทรกแซงลักษณะนี้กับปัญหาภายในของไทยบ้าง เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะยอมหรือไม่ หากสถานการณ์ในเมียนมารุนแรงขึ้น ขยายวงกว้างขึ้น ย่อมกระทบกับไทยมากขึ้น
4.การที่กระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ไม่ได้ตัดหน้าใคร ไม่ได้ตัดหน้าลาว - นายนันทิวัฒน์ อธิบายว่า กระทรวงการต่างประเทศจัดเวทีลักษณะนี้มา 2 ครั้งแล้ว เรียกว่า informal meeting ตามนโยบาย “ไม่โดดเดี่ยวเมียนมา” เราต้องการช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ใช่คว่ำบาตร หรือตัดเมียนมาออกจากอาเซียน ถามว่าคนที่ออกมาวิจารณ์ หรือเรียกร้องเรื่องนี้ ใช้สิทธิอะไรในการตัดเมียนมาออกจากอาเซียน
ต้องไม่ลืมว่า จิตวิญญาณของอาเซียน เมื่อครั้งที่ พันเอกพิเศษ ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมก่อตั้งอาเซียนขึ้นนั้น คือความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ไม่พูดเรื่องการเมือง และไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน
บางประเทศเคยมีปัญหาปราบปรามชนกลุ่มน้อย อาเซียนเคยเข้าไปแทรกแซงหรือไม่
บางประเทศตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แทบไม่มีฝ่ายค้าน เข้าข่ายเผด็จการรัฐสภา อาเซียนเคยไปทักท้วงหรือไม่
ฉะนั้นอยากให้ย้อนกลับไปค้นหา “จิตวิญญาณอาเซียน” สำหรับกระทรวงการต่างประเทศ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีดอน ต้องการแสดงท่าทีและส่งสัญญาณให้เมียนมาทราบว่า อาเซียนพร้อมช่วยแก้ไขปัญหา มีอะไรให้ไทยช่วยในฐานะเพื่อนบ้านก็ขอให้บอกมา เป็นการพยายามสร้าง engage กับเมียนมา ที่เรียกว่า construction engagement หรือความพัวพันอย่างสร้างสรรค์
ที่ผ่านมาเวทีที่ไทยเคยจัด สามารถพูดคุยให้รัฐบาลเมียนมาทำอะไรได้หลายอย่าง เช่น ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ส่วนเรื่องการเลือกตั้ง รัฐบาลเมียนมาก็อยากให้มีเลือกตั้งเร็วๆ แต่ไม่สามารถจัดได้ทันในปีนี้ เพราะมีปัญหาการสู้รบ โดยมีสถานการณ์แทรกซ้อนคือ รัฐบาลเมียนมาทำสัญญาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มแล้ว ยกเว้นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ซึ่งพบว่ามีต่างชาติให้การสนับสนุน
นายนันทิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า หากเมียนมาไม่สงบ ประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือไทย รองลงมาคืออินเดีย ซึ่งมีชายแดนติดกันค่อนข้างยาวเช่นกัน และต้องรับผู้อพยพหนีภัยจากเมียนมาเข้าไปจำนวนมาก จีนเองก็ไม่อยากให้เมียนมาอยู่ในสภาพแบบนี้ ทั้งอินเดียและจีนก็สนับสนุนบทบาทของไทย
5.มีชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศปฏิเสธร่วมเวทีที่ไทยจัด - นายนันทิวัฒน์ บอกว่า เราเชิญไปทุกประเทศที่เป็นสมาชิกอาเซียน เชิญทั้งๆ ที่รู้ว่าบางประเทศจะไม่มา ทั้งๆ ที่รู้ว่าบางประเทศรับโจทย์ตะวันตกอย่างไร จริงๆ แล้วเวทีแบบนี้ หลายประเทศในอาเซียนเห็นพ้องต้องกัน และเสนอให้ re-engage เมียนมา จึงหวังว่าเวทีที่จัดขึ้น หากมีบางเรื่องประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นผลดี และส่งผลถึงความคืบหน้าก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการที่ลาวเป็นเจ้าภาพในเดือนหน้าด้วย
นายนันทิวัฒน์ บอกด้วยว่า การพบปะกันครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ไทยจัด ถือเป็นความพัวพันเชิงบวก สองครั้งแรกคุยกันที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ไปต่างจังหวัด ทุกคนทุกชาติที่มาร่วมก็พอใจ ส่วนประเทศที่ไม่มาก็ไม่เป็นไร ไม่ได้บังคับ ขอย้ำว่า เรื่องความมั่นคงของชาติไม่ใช่เกมการเมือง และผลประโยชน์ชาติ 2 แสนล้าน รอไม่ได้