เรื่องการอ่านแถลงการณ์ สัมนา ปาฐกถา และทำประชามติจำลอง เกี่ยวกับการใช้สิทธิกำหนดอนาคตตนเอง เพื่อเอกราชปาตานี เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่ ม.อ.ปัตตานี แม้ฝ่ายผู้เกี่ยวข้องจะพากันออกมาปฏิเสธ และอ้างว่าเป็นแค่เวทีวิชาการ
ทั้งยังเป็นการทดลองทำประชามติเพื่อถามว่า “จะทำประชามติกำหนดอนาคตปาตานีดีหรือไม่” ยังไม่ใช่ “การทำประชามติเพื่อแยกดินแดน” ก็ตาม
แต่เมื่อจับอาการของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายพรรคการเมืองที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับเวทีนี้แล้ว น่าจะสรุปได้เบื้องต้นว่า นี่อาจลุกลามเป็น “เกมใหม่” เสมือนลูกบอลไหลไปเข้าเท้าผู้มีอำนาจ แล้วยิงเข้าประตู
@@ ข้อเท็จจริงของการจัดงาน
1.มีตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งเป็นว่าที่พรรครัฐบาล ไปร่วมจริงอย่างน้อย 2 พรรค
-พรรคเป็นธรรม
-พรรคประชาชาติ
2.มีการพูดสนับสนุนแนวคิด แนวทาง “ประชามติกำหนดอนาคตนเอง” หรือบางคนใช้คำว่า “ประชามติเอกราช” ดินแดนปาตานี หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาจริง
3.มีการทดลองทำประชามติ แม้จะอ้างว่าเป็น “ประชามติเพื่อถามว่าต้องการให้การทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่” ก็ตาม คือยังไม่ถึงขั้นทำประชามติแยกดินแดน แค่ถามว่าจะทำให้เรื่องนี้ถูกกฎหมายได้หรือไม่ เพราะทราบดีว่าเรื่องนี้ผิดกฎหมาย
แต่คำถามของฝ่ายความมั่นคง และคนที่ไม่เห็นด้วยก็คือ จะทำเรื่องนี้ไปเพื่ออะไร และถ้าทำไปจริงๆ แล้วสังคมไทย สภาไทย รัฐบาลไทย ฝ่ายความมั่นคงไทย จะยอมหรือ?
งานนี้จึงถูกมองว่าผิดกฎหมาย
@@ สำรวจท่าทีฝ่ายความมั่นคง
พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สมช. พูดชัดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.66 ว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ทั้งแบบเปิดและแบบปิด
-การจัดกิจกรรม เท่าที่ทราบจะเห็นว่ามีพรรคการเมืองเกี่ยวข้องด้วย ทั้งอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง
-ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง บางพรรคมีนโยบายค่อนข้างที่จะสุดโต่ง แรงในหลายเรื่อง แต่หลังเลือกตั้งนุ่มนวลลง
พล.ท.ศานติ ศกุนนาค แม่ทัพภาคที่ 4 พูดย้ำในวันที่ 13 มิ.ย.66 หลังประชุมฝ่ายกฎหมาย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตรวจสอบทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเปิดประชุมสัมมนา และเชื่อมโยงถึงใครแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งสอบถามเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายทุกส่วนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในวันนี้มีความคิดเห็นตรงกันว่ามีแนวโน้มจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดกฎหมาย พร้อมกำชับและมอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการหาพยานหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างรัดกุม รอบคอบ และตรงไปตรงมา”
“กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมให้ความเป็นธรรมภายใต้หลักของความยุติธรรม ขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่และในประเทศไทยได้รับทราบว่าส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมยึดกฎกติกาของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ยืนยันพร้อมดำเนินการตามกฎหมายอย่างรัดกุมที่สุด”
สรุปก็คือ ฝ่ายความมั่นคงทุกระดับ (รวมทั้งนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา) ยืนยันว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และไม่ได้พูดตัดช่องทางว่าจะไม่ดำเนินคดี แต่อาจจะยกเว้นเด็กๆ นักศึกษา โดยมุ่งเป้าพรรคการเมืองเป็นหลัก
@@ ตรวจสอบข้อกฎหมาย
รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 “เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข....
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น”
@@ เช็คอาการพรรคการเมือง
เรื่องนี้น่าจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องออกอาการ “ดิ้น - ชิ่ง - ตีกรรเชียง” ด้วยเช่นกัน เพราะน่าจะคาดเดาผลกระทบที่จะตามมาได้เป็นอย่างดี
หนึ่ง ตัวแทนพรรคก้าวไกล ได้รับเชิญเป็นหนึ่งในวิทยากรหลัก แต่ยกเลิกไปร่วมกิจกรรมกะทันหัน ส่วน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และว่าที่นายกฯคนที่ 30 ก็ออกมาตอกย้ำว่าพรรคก้าวไกลยึดหลักการ “รัฐเดี่ยว” ตามรัฐธรรมนูญ ไม่แบ่งแยก
สอง พรรคเป็นธรรม กับพรรคประชาชาติ ออกมาโดดหนี
นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า “จริงๆ มันอยู่ตรงที่สิทธิเสรีภาพแสดงออกมากกว่า ไม่ได้อยู่ตรงที่ว่าต้องการเห็นประชามติแยกดินแดน ถ้าตราบใดรัฐบาลยังปิดกั้น จะไม่สามารถสร้างเสรีภาพได้เลย”
นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม โพสต์ยืนยัน เคารพรัฐธรรมนูญ ยึดหลักการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 และไม่สนับสนุนแนวคิดการแบ่งแยกดินแดน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ออกมายืนยันว่า ทางพรรคไม่ใช่ต้นคิดจัดกิจกรรมครั้งนี้
-ได้รับเชิญจากผู้จัด มีหนังสือเชิญชัดเจน เชิญมาที่หัวหน้าหรือเลขาธิการพรรค แต่ทางพรรคได้ส่ง อาจารย์วรวิทย์ บารู เป็นตัวแทนไป เนื่องจากเป็นว่าที่ ส.ส.เขต 1 ปัตตานี พื้นที่มหาวิทยาลัยที่จัดงาน และยังเคยเป็นรองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี ด้วย
-เวทีนี้เป็นเวทีวิชาการ เนื่องจากมี รศ.ดร.มารค ตามไท อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยเจรจาดับไฟใต้ในยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นวิทยากรหลัก
สาม มีความพยายามจากบางพรรค โยนบาปพรรคภูมิใจไทยว่าอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ โดยอ้างว่าประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่เป็นผู้นำอ่านแถลงการณ์ประชามติเอกราช คือ ลูกชายของ นายนัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส 4 สมัย แม่ทัพเลือกตั้งนราธิวาสของพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จ พา ส.ส.เข้าสภาได้ 1 คน คือคนเดียวของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 13 ที่นั่งที่เป็น ส.ส.ภูมิใจไทย
@@ ผลสะเทือนจากประชามติเอกราช
หากมีการเปิดคดีทั้งอาญา และยุบพรรค แม้สุดท้ายจะไม่ผิด ไม่ยุบ ยกฟ้อง ยกคำร้อง แต่ผลร้ายเกิดขึ้นแน่ๆ
1.เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นำไปอ้างได้ว่าไม่สมควรโหวตสนับสนุนว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ซึ่งสนับสนุน นายพิธา เป็นนายกฯ
สิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ นายพิธาก้าวขึ้นเป็นนายกฯยากขึ้นไปอีก
2.หากมีการยุบพรรคในระยะเวลาอันสั้น เสียงสนับสนุนฝ่าย 8 พรรคร่วมรัฐบาลจะหายไปอีก ลดลงจาก 312 เสียง ทำให้ยากที่จะรวบรวมเสียงสนับสนุนให้เกิน 376 เสียงหนักเข้าไปอีก
เรื่องนี้อย่าคิดว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้ ให้นึกถึงปรากฏการณ์ “ลูกไหลเข้าเท้า” เมื่อปี 62 นำไปสู่คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่ไม่มีใครวิจารณ์ได้เลย
รอลุ้นภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ว่าจะมี “นักร้อง” รับลูกชงเรื่องหรือไม่ หากนิ่ง ก็อาจจบกันไป แต่ถ้ามีความเคลื่อนไหว ก็อาจกลายเป็นอีกหนึ่งงานใหญ่ของ 8 พรรคว่าที่รัฐบาล!
--------------------------
ขอบคุณ : ภาพกราฟฟิกบางส่วนจาก "ข่าวข้นคนข่าว" เนชั่นทีวี