กลายเป็นประเด็น “แตกฮือ” สำหรับข้อเสนอ “ประชามติแยกดินแดน” ที่ประกาศกันชัดๆ โต้งๆ กลางงานเปิดตัว “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” หรือ Pelajar Kebangsaan Patani หรือ Pelajar Bangsa ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันพุธที่ 7 มิ.ย.66
ถือเป็นประเด็นร้อนแรงรับ “ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่” ที่ประกาศนโยบายและความตั้งใจจะเข้าไปปรับทิศทางนโยบายดับไฟใต้แบบกลับหัวกลับหาง พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน แตกต่างจากเดิมที่ทำกันมา 19 ปี เกือบจะ 20 ปีเต็ม
โดยเฉพาะลดบทบาทฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะทหาร แล้วเพิ่มบทบาทภาคประชาชน ประชาสังคม รับรองสิทธิ เสรีภาพของผู้คนมากขึ้น ไม่ใช่ถูกคุมเข้มโดยกฎหมายพิเศษ
และช่วงของการหาเสียงที่ผ่านมา แกนนำบางคนจากบางพรรค เคยเอ่ยถึงเรื่อง “เขตปกครองตนเองแบบพิเศษ” และการ “พูดคุยเจรจาแนวใหม่” กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งอีกด้านหนึ่งก็ถูกขนานนามว่าเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือกลุ่มก่อความไม่สงบนั่นเอง
กระแสกังวลลึกๆ ของผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงของชาติ เกี่ยวกับเรื่อง “ประชามติแยกดินแดน” มีมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะมีช่องทางตามกฎบัตรและมติสมัชชาใหญ่ของสหประชาชาตเปิดช่องเอาไว้ ปรากฏว่าวันนี้ พร้อมๆ กับการจะมีรัฐบาลใหม่ที่ประกาศจะยกเครื่องแนวทางการแก้ไขปัญหา ประเด็น “ประชามติแยกดินแดน” ก็ปรากฏขึ้นมาให้ได้ฮือฮาสูดปากกันทั้งประเทศ
ในกิจกรรมเปิดตัวองค์กร “ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ” มีการปาฐากถาพิเศษ เรื่อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี” ด้วย โดยมีวิทยากร รศ.ดร.มารค ตามไท อาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ (โฟนอิน) และมี ผศ.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี, นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม, นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani ร่วมแสดงความคิดเห็น และมี นายฮูเซ็น บือแนเป็น ผู้ดำเนินรายการ
เราไปย้อนอ่าน ย้อนฟังกันว่า แนวคิดของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่องอ่อนไหวนี้ เป็นอย่างไร...
@@ ต้นตอปัญหาอยู่ที่รัฐบังคับห้ามคิดต่าง
นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม :
"ที่ผ่านมาตอนที่เรามีแคมเปญเรื่อง Right to Self Determination เราก็เห็นว่ามันเป็นหลักการและเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น ความขัดแย้งมันเป็นแบบนี้ หมายถึงเราเถียงกันไม่จบ เพราะฉะนั้นเราต้องถามประชาชนว่า เขาจะรู้สึกอย่างไร และเขาเห็นว่าต้องหาทางออกอย่างไร ก็ต้องถามประชาชน จะมีการเจรจาสันติภาพก็ต้องกลับมาหาประชาชนว่าประชาชนคิดเหมือนที่เขาเจรจาหรือเปล่า แต่ภาพรวมมันไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพราะถ้าเรามองว่าปัญหามันคือความขัดแย้งแบบนี้ มันต้องกำหนดชะตากรรมตัวเองคือทางออก
แต่พอมีปัญหาที่รัฐจัดการความเห็นต่าง ใช้ความรุนแรง ทั้งเชิงโครงสร้าง เชิงนโยบายต่างๆ กฎหมายต่างๆ มาห้าม บางที่ก็ใช้การตีความทางกฎหมายว่าเป็น ‘กบฏ’ ทำให้คนใช้อาวุธต่อสู้กับรัฐ นี่คือปัญหา
ในมุมของพรรคเป็นธรรม คือต้องแก้ปัญหาที่รัฐ เพราะรัฐคือปัญหาที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีสิทธิเสรีภาพในการแสfงออกและกำหนดชะตากรรมของตนเองได้ รัฐก็มีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย มีวิธีคิดของรัฐ อันนี้คือปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่ประกอบสร้างใหม่ว่า รัฐนี้เป็นรัฐเดียว เป็นรัฐชาติที่มีอัตลักษณ์เดียวกัน เรามีประวัติศาสตร์ที่สร้างขึ้นที่จะไม่ให้ใครต่างกัน แล้วพยายามบอกให้ประชาชนคิดแบบนี้ แล้วถ้าใครไม่คิดแบบนี้ หรือคิดต่าง ก็เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งไปกำหนดในรัฐธรรมนูญ กำหนดในกฎหมายอาญา
จริงๆ กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 1 บอกว่า ประเทศแบ่งแยกไม่ได้ ถ้าในต่างประเทศที่ก้าวหน้า แบ่งแยกไม่ได้แปลว่าพูดได้นะ อย่างสเปนแบ่งแยกไม่ได้ แต่เขาพูดได้ เขาชุมนุมได้ ไม่ผิดกฎหมาย เมื่อไหร่ที่ประชามติแล้วแบ่งแยกก็ผิดกฎหมาย แต่การพูด การรณรงค์ตอนนั้นยังไม่ผิด แต่รัฐไทยไปใช้กรอบคิดแบบว่า อันนี้เป็นภัยต่อความมั่นคง ใช้กฎหมายไปตีความว่า การคิดแบบนี้ก็ผิดกฎหมายแล้ว ถ้ามีการชุมนุมผิดกฎหมาย ต้องปราบปราม เป็นการตีความกฎหมายให้แรงกว่าเดิมโดยใช้กลไกการตีความกฎหมาย
เช่น การเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นก็โดนจับกุมได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่าก่อเหตุอะไรบ้าง ไปตีความว่าส่อที่จะเป็นอั้งยี่ อันนี้เป็นปัญหาของโครงสร้างรัฐธรรมนูญที่เถียงไม่จบ ตกลงแล้วคำว่าแบ่งแยกไม่ได้ แล้วคิดต่างได้ไหม คิดต่างแล้วถูกจับไหม ยังเถียงไม่จบ
มาดูเรื่องกฎหมายอาญา ก็มีเรื่องมาตรา 113 มาตรา 116 มาตรา 215 เป็นตัวกฎหมายที่พยายามไปเชื่อมกับมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ใครที่มีความคิดแบบนี้ มาตรา 215 บอกว่าหมิ่นเหม่ที่จะก่อความวุ่นวายในรัฐ อาจจถูกควบคุมตัว 2 ปี หรือว่าอาจจะอ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือ 113 ที่อาจจะเป็น 15 ปี
จะเห็นว่าโครงสร้างกฎหมายพวกนี้มันทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย และยังมีกฎหมายพิเศษต่างๆ ที่พยายามเชื่อมกับความรุนแรง กับความคิดทางการเมือง ทำให้คนกลัว คนที่ใช้ความรุนแรงต่อสู้เพื่อเอกราช คนนี้ผิดกฎหมาย แต่คนที่คิดอย่างเดียวไม่ได้ใช้ความรุนแรง คนคนนี้ผิดกฎหมายไหม ปัญหาจริงๆ จึงอยู่ที่พื้นที่เสรีภาพในการแสดงออก เป็นเรื่องของนโยบายในทางกฎหมาย และก็โครงสร้างกฎหมายด้วย
พวกเราเลยมาตั้งพรรค แล้วผลักดันนโยบายนี้ผ่านพรรคเป็นธรรมว่า ถ้าเราอยากให้ประชาชนหลุดพ้นจากความรู้สึกอาณานิคม หลุดพ้นจากความรู้สึกที่ไม่มีอิสระ เสรีภาพในการกำหนดชะตากรรมตนเอง เราต้องไปแก้กฎหมาย ไปแก้นโยบายที่กล่าวมา เราไม่ต้องกลัวว่าจะมีการแบ่งแบกดินแดนในระยะนี้ เพราะเราต้องไปปลดความคิดว่า เราจะไปสร้างรัฐอีกระดับที่สามารถถกเถียงเรื่องที่เรากำลังคุยว่าจะเอกราชไหม Autonomy ไหม หรือจะอะไรโดยรู้สึกปลอดภัย ส่วนแบ่งแยกยังอยู่ในมาตรา 1 อันนี้ต้องไปว่าเรื่องการแก้กฎหมายในอนาคต
อย่างน้อยที่สุดเรื่องการเถียง การคิด ต้องการันตีว่าปลอดภัย จะปูไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งที่รากเหง้า เพราะเราตีความว่ารากเหง้าไม่ให้เสรีภาพ Right to Self Determination (สิทธิในการกำหนดใจตนเอง) จึงเป็นสิ่งที่คิดว่าจำเป็นในการอธิบายปัญหาปาตานีและทางออกปาตานี”
@@ ต้องมีประชามติรองรับ “การต่อสู้เพื่อเอกราช”
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani :
“เวลาพูดถึงหลักในการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ Right to Self Determination มันเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องสันติภาพปาตานี ในอดีตหลักนี้เป็นหลักที่เคยได้รับการยอมรับ เคยถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และเป็นหลักที่ตอนนี้มีกระบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช ส่วนใหญ่ก็หยิบหลักนี้มาใช้เช่นกัน หลักนี้สามารถใช้กับกระบวนการภายใน ถามความเห็นต่อพลเมืองตัวเองต่อการเลือกข้อขัดแย้งต่างๆ ให้ได้ข้อยุติ และเป็นหลักที่สามารถพูดถึงการอยากมีประเทศอิสระ หรือแยกตัวออกมาจากรัฐเดิมที่ตัวเองอยู่หรือไม่
เราเองเชื่อมั่นว่า ปลายทางของสันติภาพปาตานี มันจำเป็นจะต้องมีสถาบันทางการเมืองที่มองเห็นว่าชะตากรรมต้องถูกกำหนดโดยมวลชน โดยประชาชน การขับเคลื่อนขององค์กรทั้งหมดต้องยึดถือคุณค่าประชาธิปไตย ทั้งกระบวนการภายในเอง และก็การกำหนดอนาคตตัวเอง ถามว่าทุกวันนี้กระบวนการที่สอดคล้องกับหลักนี้ และเป็นที่ยอมรับทางสากล และยังไม่ได้มีกระบวนการอื่นที่ดีกว่า ก็คือประชามติ
The Patani (องค์กรภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรณรงค์เรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเอง) มองว่าการลงประชามติคือเครื่องมือที่ดี ต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเครื่องมือนี้เขาเป็นเจ้าของจริงๆ รู้สึกว่าเป็นเครื่องมือที่แฟร์จริงๆ ไม่ควรเป็นเครื่องมือของฝ่ายเอกราชเท่านั้น ไม่ควรเป็นเครื่องมือเดียวที่จะเอาชนะรัฐไทยได้ ต้องทำให้ผู้คนเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดผลของการประชามติออกมาแบบไหนก็ตาม มันก็คือชัยชนะของชาวปาตานี ชัยชนะที่ชาวปาตานีได้บอก ได้กำหนดว่าอนาคตของเขาสมควรจะเป็นอย่างไร
สมมติถ้าพรุ่งนี้ทำประชามติ ผมเชื่อว่าคนที่นี่เลือกอยู่กับรัฐไทย ฝ่ายเอกราชแพ้ แต่ปาตานีชนะ พอเป็นหลักก็ไม่ได้หมายถึงว่า ทำแล้ว ทำเลย และสิ้นสุด แม้วันนี้ปาตานีเลือกอยู่กับรัฐไทย ฝ่ายเอกราชแพ้ ต่อไปหากวันหนึ่งเราเจอผู้นำโง่กว่านี้อีกในอีก 100 ปีข้างหน้า คนที่นี่อาจอยากลงประชามติเป็นเอกราชก็ได้”
@@ “ประชามติแยกดินแดน” ต่อสู้แบบใช้ปัญหา ไม่พึ่งพาอาวุธ
ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี :
“ทำไมต้องใช้ Self Determination ผมว่าช่องทางที่มีอยู่ที่ดีที่สุด และอยู่ในกรอบของทางการเมือง ผมว่า Self Determination ที่จะสามารถดำเนินการภายใต้กรอบและความเหมาะสมกับการเมืองไทยขณะนี้ แต่รัฐไทยไม่คิดแบบนั้น หน้าที่ของเราต้องทำต่อ เราต้องใช้วิธีการอย่างนี้ในขณะที่เราไม่ใช่ขบวนการการต่อสู้ที่ใช้อาวุธ มันก็ต้องใช้อย่างนี้ ใช้สติปัญญา ใช้กระบวนการทางการเมืองที่เปิดช่องให้เราทำ แต่ที่ผ่านมาความรุนแรงที่ใช้กับประชาชนในหลายสิบปีที่ผ่านมา ใช้ในรูปแบบเดียวกัน คือ ใช้ให้รู้สึกหวาดกลัว หวาดผวา อุ้มหาย จับขัง
ดังนั้นการที่เรามาพูดในเรื่อง Self Determination มันเป็นประเด็นที่เหมาะสม เป็นประเด็นที่ใช้สติปัญญา มีข้อมูล ข้อเท็จจริง สนับสนุนในการที่จะเดินไปในช่องที่มันน้อยๆ นี้ Self Determination จริงๆ มีความสำคัญ เป็นการใช้สติปัญหา ภูมิปัญญาที่จะต่อสู้ พวกที่ดำเนินการในเรื่องของขบวนการที่ใช้ความรุนแรงก็ว่ากันไป เพราะเขาเชื่ออย่างนั้น
วันนี้ Self Determination เป็นช่องทางที่เหมาะสม เพราะระหว่างที่เราเดินทาง เราให้ความรู้แก่ประชาชน เพราะประชาชนในวันนี้ไม่แน่ใจว่าถ้าใช้ประชามติจะเอาหรือเปล่า ถ้าไม่ผ่านการให้ความรู้ แม้คำว่า ‘ปาตานี’ ที่ในอดีตยังมีปัญหา แต่เพิ่งมาพูดอย่างเปิดเผยได้ในวันนี้ องค์ความรู้เหล่านี้ต้องถ่ายทอดไปให้เหมือนที่เราทำ”
@@ Self Determination นโยบาย-หลักการของ “ประชาชาติ”
“สำหรับพรรคประชาชาติ เราทำเหมือนหลักการของ Self Determination แล้วมันมีในเรื่องของการเมือง เรื่องของเศรษฐกิจ ในเรื่องของวัฒนธรรม ในเรื่องของสังคม ก็มองจุดตรงนี้ใส่เข้าไปในนโยบายของเรา ผมเข้าใจว่าเราเป็นมลายูมุสลิม เราถูกห้ามในเรื่องของดอกเบี้ย เราไม่เหมือนเขาแน่นอนในบริบทของการดำรงชีวิตบางส่วน ซึ่งพรรคประชาชาติพรรคเดียวที่กำหนดระบบเศรษฐกิจฐานคุณธรรม ซึ่งเป็นวิถีที่ไม่ไปกดดัน ไม่ไปขูดรีดคนที่อยู่ในระบบเหมือนระบบเสรีนิยม เราตั้งใจว่าเมื่อเราเป็นรัฐบาลจะขยายตรงนี้ออกไป
ส่วนในทางด้านการเมือง เราหวังว่า Decentralization หรือ การกระจายอำนาจ เป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะทำให้เรารู้จักตัวเรา ที่จะเป็น Self Determination ต่อไป เริ่มต้นจากนี้จะได้รู้ว่าความอิสระ ความมีเสรีภาพ ในการที่จะมีพื้นที่ที่พวกเราพูด จะต้องเริ่มต้นอย่างไร เริ่มต้นจากอะไร เราจึงใส่เข้าไปว่าการกระจายอำนาจ การเลือกผู้ว่าฯ ก็อยู่ในนโยบายของประชาชาติในเรื่องทางด้านการเมือง”