ฮือฮาพอสมควร เมื่อ นายกัณวีร์ สืบแสง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม พรรค 1 เสียงที่ได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ล่าสุดในวันประชุม 7 คณะทำงานเพื่อสนองตอบปัญหาของประชาชนนัดแรกของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า เขาเตรียมตั้ง นายซาฮารี เจ๊ะหลง นักกิจกรรมภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท มาเป็นคณะทำงานในเรื่องปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัญหาชายแดนใต้เป็น 1 ใน 7 ปัญหาที่ “8 พรรคว่าที่รัฐบาลชุดใหม่” ตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อนงานล่วงหน้า เนื่องจากเป็น “นโยบายร่วม” ของหลายๆ พรรคการเมืองใน 8 พรรคที่หาเสียงเอาไว้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเป็นธรรม
(หลังการประชุมนัดแรก มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสนองตอบปัญหาของประชาชนเพิ่มอีก 5 ชุด เพื่อให้ครอบคลุมทุกปัญหาที่ประชาชนกำลังเดือดร้อน)
“ทีมข่าวอิศรา” พาไปทำความรู้จัก 2 ว่าที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ นายกัณวีร์ สืบแสง เสนอเชิญมาร่วมงาน
@@ รู้จัก “ซาฮารี เจ๊ะหลง” แห่งชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ
นายซาฮารี เจ๊ะหลง เป็นนักกิจกรรมภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนในพื้นที่ มีดีกรีนักศึกษาปริญญาโท (สันติศึกษา) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในสาขาวิชาความขัดแย้งและสันติศึกษา เป็นอดีตประธานกลุ่มเยาวชนชุมชนบ้านดอนรัก (PPD) นักจัดรายการวิทยุชุมชนมีเดียสลาตัน และสถานีวิทยุสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี รวมถึงเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการฮาลาล สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี
ในฐานะสื่อมวลชน เป็นบรรณาธิการด้านเนื้อหาของสื่อ The Motive สื่อออนไลน์ท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นำเสนอประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ที่ถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
และเขายังเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะแอดมินเพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้า Butler's Club” ที่คอยเปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตจากการยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ หรือถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม
แม้การทำเพจของนายซาฮารีและเพื่อนๆ จะทำหน้าที่เป็นแค่ตัวกลางในการระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้สูญเสียที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ เพราะผู้เสียชีวิตเกือบทั้งหมดเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับ หรือไม่ก็มีหลักฐานว่าเป็นคนร้าย และเสียชีวิตจากการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ แต่กิจกรรมของเขาก็ทำให้เขาและเพื่อนๆ ที่ร่วมทำเพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” ถูกเฝ้าจับตาโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมาตลอด
จนเมื่อวันที่ 13 มี.ค.66 นายซาฮารี ได้ไลฟ์สดระหว่างกำลังขับรถเพื่อนเดินทางกลับเข้าบ้าน เนื่องจากได้รับทราบจากภรรยาว่า มีเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นำหมายศาลเข้ามาตรวจค้นที่บ้าน พร้อมทั้งยึดคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและแบบพกพาจำนวน 2 เครื่อง เพื่อนำไปตรวจสอบ
เขาเชื่อว่า การเข้าตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เนื่องจากมาการทำเพจ “ชมรมพ่อบ้านใจกล้าฯ” ที่รับบริจาคช่วยครอบครัวผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ เพราะก่อนหน้านี้ทราบมาว่า มีผู้บริจาคผ่านเพจหลายรายถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปสอบปากคำ
เรื่องที่เกิดขึ้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกมาชี้แจงกรณีว่า การเข้าตรวจค้นบ้านของนายซาฮารี เป็นการค้นหาพยานหลักฐานตามหมายศาล เนื่องจากพฤติกรรมการเปิดรับบริจาคของนายซาฮารี ในนามชมรมฯ ที่อ้างว่านำเงินไปช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตจากการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่นั้น กลับมีข้อมูลข้อสงสัยว่าเงินบริจาคบางส่วนถูกนำไปใช้ในกิจกรรมอื่น จนเกิดความขัดแย้งกันภายใน ต้องเปลี่ยนไปรับบริจาคในบัญชีของญาติผู้เสียชีวิตแทน
นอกจากการเป็นนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว นายซารียังเคยลงสมัครรับเลือกตั้งในสนามการเมืองท้องถิ่นของ จ.ปัตตานี โดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนรัก (อบต.ดอนรัก) อ.หนองจิก ในนาม “ทีมรวมพลังพัฒนาดอนรัก“ แต่ทีมผู้สัมครทีมนี้ไม่ได้รับเลือกตั้ง
@@ “หมอสุภัทร” สายล่อฟ้าแห่งชมรมแพทย์ชนบท
อีกรายที่ นายกัณวีร์ เสนอชื่อเป็นคณะทำงาน คือ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือ “หมอจุ๊ก” ประธานชมรมแพทย์ชนบท และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถูกคำสั่งย้ายไปเป็นผู้อำนายการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยเจ้าตัวและคนรอบข้างเชื่อว่า สาเหตุที่ถูกย้ายเพราะความไม่พอใจของฝ่ายการเมือง เกี่ยวกับการทักท้วงนโยบายปลดล็อกกัญชา และการแฉข้อมูลการบริหารจัดการวัคซีนโควิดที่ล้มเหลว จนต้องออกมาปกป้องสิทธิ์ ด้วยการยื่นฟ้องศาลศาลปกครอง และเอาผิดผู้โยกย้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ
บทบาทโดดเด่นอีกประการหนึ่งในช่วงที่ผ่านมาของหมอสุภัทร คือการร่วมคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ที่มีความพยายามผลักดันจากรัฐบาล และ ศอ.บต.ให้มีการก่อสร้างท่าเรือ และอุตสาหกรรมหนักในพื้นที่ อ.จะนะ ซึ่งมีวิถีชุมชนและความอุดมสมบูรณ์
หมอสุภัทร มีพื้นเพเป็นชาว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (แพทย์จุฬาฯ รุ่น 44) โดยในขณะที่ยังเป็นนักศึกษา ถือเป็นนักกิจกรรมตัวยง จนได้เป็นนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และเป็นเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
เริ่มทำงานเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา เมื่อปี 2538 และขยับขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย ต่อมาปี 2542 ได้รับการโยกย้ายให้ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานจนถึงปี 2566
แม้จะทำงานเป็นแพทย์ แต่ก็ยังศึกษาต่อจนสำเร็จระดับปริญญาโท สาขาสาธารณสุขศาสตรมหาบัณฑิต จาก Institute of Tropical Medicine, Belgium ในปี 2555 ด้วยความเป็นคนที่อุทิศตนในการทำงาน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2560 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารและพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยทักษิณ และในปี 2563 ได้รับเลือกเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทจนถึงปัจจุบัน
แม้บุคคลทั้งสองจะเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่การเลือกบุคคลทั้งสองมาเป็นคณะทำงาน ก็อาจถูกมองจากบางฝ่ายว่า เป็นความจงใจเลือกบุคคลที่ยืนตรงข้ามกับขั้วอำนาจรัฐเดิมมาทำงานให้กับรัฐบาลชุดใหม่หรือไม่ และจะช่วยเกื้อหนุนบรรยากาศแห่งความปรองดอง ร่วมไม้ร่วมมือได้อย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม!