อีกหนึ่งเรื่องที่ “ทีมข่าวอิศรา” เปิดประเด็น คือ “ส่วยร่วมพัฒนาชาติไทย” ที่มีการเก็บหัวคิวจาก “ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง” ที่เข้าร่วม “โครงการพาคนกลับบ้าน” ของกองทัพภาคที่ 4
ขณะที่อดีตคนเคยเข้าโครงการออกมา “เปลือยชีวิตตัวเอง” ว่าเหมือนตายทั้งเป็น เพราะชีวิตกลายเป็น “ติดแบล็กลิสต์” ทั้งๆ ที่ไม่เคยถูกออกหมายจับ ไม่เคยถูกดำเนินคดี แต่เข้าร่วมโครงการเพราะการกดดันและแนะนำของผู้นำในท้องถิ่น หนำซ้ำยังต้องถูกเกณฑ์ไปร่วมกิจกรรมของภาครัฐโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือไม่ก็มีค่าตอบแทน แต่ถูก “ไอ้โม่ง” หักหัวคิวไปด้วย
ล่าสุด หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ได้ออกมาชี้แจงยืนยันว่า มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มก่อความไม่สงบ หรือกลุ่มขบวนการ พยายามดิสเครดิตโครงการนี้ เพราะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีแนวร่วมออกมาแสดงตัวกับรัฐจำนวนมาก ทำให้กลุ่มขบวนการสูญเสียกำลังคน จนทำให้โครงสร้างของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง และกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนอ่อนแอลง
ก่อนหน้านี้ ในปี 2561 เคยมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสารโจมตีการดำเนิน “โครงการพาคนกลับบ้าน” ว่าเป็นการสร้างภาพพาโจรกลับบ้าน, ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย, มอบบ้านให้, มอบที่ดินทำกิน และจ่ายเงินตอบแทนให้รายละ 1,000,000 บาท ซึ่งไม่เป็นความจริง ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องมาแล้ว
ดังนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) จึงขอสร้างความเข้าใจ เพราะที่ผ่านมาโครงการประสบความสำเร็จด้วยดี มีการออกมารายงานตัวเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 5,427 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายในประเทศ จำนวน 5,305 ราย และกลุ่มเป้าหมายประเทศเพื่อนบ้านที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 122 ราย
กลุ่มเป้าหมายในประเทศ แยกเป็นปี 2555 – 2559 จำนวน 4,403 ราย, ปี 2560 จำนวน 127 ราย และปี 2561 จำนวน 775 ราย
ทั้งหมดจะต้องผ่านกรรมวิธีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ผู้ที่มีหมายจับ ป.วิอาญา จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของกฎหมายโดยไม่มีการละเว้น รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย, ที่ดินทำกิน และค่าตอบแทนต่างๆ เพื่อจูงใจให้เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด
ขณะที่กลุ่มเป้าหมายประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 122 ราย เป็นผู้เห็นต่างจากรัฐและหวาดระแวง ซึ่งหลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะต้องผ่านกรรมวิธีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ที่สำคัญคือ การตรวจพิสูจน์สัญชาติและตรวจสอบพฤติกรรมการกระทำความผิดก่อนเข้าร่วมโครงการ, การฝึกอบรมเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ณ นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนส่งกลับภูมิลำเนา
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้ อาจจำเป็นต้องจัดสร้างศูนย์พักพิงและที่ดินทำกินให้เข้าพักอาศัยเป็นส่วนรวม ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดให้ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นๆในอดีต
ส่วนผลสัมฤทธิ์จากการดำเนิน “โครงการพาคนกลับบ้าน” ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากจะสามารถลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการใช้ความรุนแรงแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC เพราะเป็นแนวทางแก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธีที่ไม่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐมีความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น
ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้เสนอข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานของความจริง ไม่บิดเบือนหรือหวังผลประโยชน์อื่นแอบแฝง เพราะอาจมีความผิดตามกฎหมาย หากมีข้อสงสัยประการใด ขอให้สอบถามกับหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่ได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม กอ.รมน.ภาค 4 สน.ยินดีรับฟัง และให้การเคารพในทุกความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ เพื่อนามาใช้ในการปรับปรุง แนวทางแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป