จากกรณี เครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง รวมตัวคัดค้านโครงการขอประทานบัตรเหมืองหินแกรนิต และบุกล้มเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ที่เทศบาลตำบลเตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานอุตสาหกรรมประจำจังหวัดปัตตานี และ บริษัท อิบนู อัฟฟานแกรนิต กรุ๊ป จำกัด โดยอ้างเหตุผลว่าไม่เปิดให้ประชาชนกลุ่มคัดค้านการขอประทานบัตรเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยนั้น
ทีมข่าวได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากที่สุด โดย พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ส่วนตัวขอให้กำลังใจประชาชน และขอเรียนว่าจุดยืนส่วนตัวให้ความสำคัญระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาต้องให้ทุกภาคส่วนมีส่วนรวม ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และต้องคำนึงถึงความยั่งยืน
การจัดทำโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ จะต้องมี “การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์” (Strategic Environmental Assessment) หรือ SEA ก่อน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า กรณีพื้นที่ปัตตานีนั้น มีโครงการการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี SEA:สงขลา-ปัตตานี ที่เป็นผลมาจากการรุกขึ้นสู้ของ “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” ได้คัดค้านและชุมนุมเรียกร้องโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เมื่อปี 2564-2565 อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รัฐบาลต้องชะลอโครงการ และต้องทำผลประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เสียก่อน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.65 รัฐบาลให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงนามสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ในการจัดทำ SEA “แผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี” วงเงินค่าจ้าง 28.22 ล้านบาท ใช้เวลาศึกษานาน 18 เดือน หรือแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567
ขณะที่การจัดทำ SEA ครั้งนี้ จะมีการจัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนรวม 40 เวที และมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,000 คน แบ่งเป็นปี 2566 จำนวน 32 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 2,100 คน และปี 2567 จำนวน 8 เวที ผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 900 คน
จากการติดตามทราบว่ามีการประชุมระดมความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27-29 พ.ค.66 จัดขึ้นที่คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งถือว่าทุกอย่างดำเนินการไปตามครรลองที่ควรจะเป็น
“จุดยืนส่วนตัว การทำโครงการใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ต้องรอผลการจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาเชิงพื้นที่ของจังหวัดสงขลาและปัตตานี หรือ SEA:สงขลา-ปัตตานี ให้เสร็จก่อน เพราะ SEA ครอบคลุมทั้ง 3 ด้านของการพัฒนา ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยหลีกเลี่ยงผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากแผนหรือแผนงานที่ไม่ยั่งยืน และที่อาจก่อให้เกิดความสูญเสียหรือเสื่อมสภาพของสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ หรืออาจทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณในการพัฒนาประเทศ” พ.ต.อ.ทวี กล่าวในที่สุด