สัปดาห์ก่อนส่งท้ายปลายเดือน พ.ค. ในวงการตำรวจชายแดนใต้ ไม่ได้มีแค่ข่าวลบเกี่ยวกับการลงโทษตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จำนวน 14 นายด้วยวิธีที่หลายคนมองว่า “พิสดาร เท่านั้น
แต่มีอีก 1 เรื่องที่ไม่ได้เป็นข่าวโด่งดัง แต่ “ทีมข่าวอิศรา” ไปตรวจสอบมา นั่นก็คือเรื่องร้องเรียน “เจ้าหน้าที่ตำรวจนราธิวาส ไม่ได้รับเงิน พ.ส.ร. หรือ เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ” นานถึง 6 ปีแล้ว มีการให้ข้อมูลว่า...”ปะทะโจรไปหลายรอบยังไม่ได้แม้แต่บาทเดียว ส่วนจังหวัดอื่นได้ครบหมดแล้ว” นี่คือข้อร้องเรียน
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เจ้าหน้าที่ตำวจ ทหาร ที่ลงไปปฏิบัติราชการสนามในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสถานการณ์ความไม่สงบ และเป็นพื้นที่ประกาศกฎอัยการศึก จะได้เงินตอบแทนพิเศษ 2 ก้อน คือ
หนึ่ง เบี้ยเสี่ยงภัย 2,500 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งข้าราชการทุกหน่วยได้เท่าเทียมกันหมด ยกเว้นข้าราชการครูที่มีการขอเพิ่มและได้รับการอนุมัติเป็น 3,500 บาทต่อเดือน
เบี้ยเสี่ยงภัยนี้ จะได้เฉพาะช่วงเวลาที่รับราชการอยู่ในพื้นที่เสี่ยง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และพื้นที่ตามประกาศเท่านั้น หากย้ายออกจากพื้นที่ จะไม่ได้รับและถูกตัดทันที
สอง เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ หรือ พ.ส.ร. ได้เฉพาะทหาร ตำรวจ แต่ละคนได้ไม่เท่ากัน เพราะต้องคำนวณกับขั้นเงินเดือน
แต่เงิน พ.ส.ร. ดีกว่าเบี้ยเสี่ยงภัยในความรู้สึกของคนได้รับ เพราะจะได้ไปเรื่อยๆ จนถึงเกษียณอายุราชการ แม้จะย้ายออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ไปแล้วก็ยังได้รับ เหมือนกับ “วันทวีคูณ” ทั้งยังสามารถนำไปคำนวณรวมกับ “บำเหน็จ-บำนาญ” หลังเกษียณได้อีกด้วย
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถามเรื่องนี้ไปยังตำรวจในจังหวัดนราธิวาส ได้ข้อมูลว่า กรณีไม่ได้รับเงิน พ.ส.ร.มานานข้ามปีนั้น เป็นความจริง
มีคำชี้แจงจากหน่วยต้นสังกัด คือ
1.เป็นเพราะเอกสารไม่ครบ เนื่องจากตำรวจต้องทำเอกสารกันเอง อาจมีตกหล่น
2.ต้องตรวจสอบว่ามีชื่อในอัตรากำลังของ กอ.รมน.หรือไม่ เนื่องจากคนที่จะได้ พ.ส.ร. ต้องมีชื่อในคำสั่ง กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร)
3.กอ.รมน.ไม่ได้บรรจุรายชื่อกำลังพลเข้าไปในโครงสร้างอัตรากำลังของ กอ.รมน.
“เรื่องเงิน พ.ส.ร. ไม่ใช่ว่ารออย่างเดียวแล้วเงินจะออก บางคนไม่ได้ส่งเอกสาร ไม่เคยตรวจสอบสิทธิ์ ได้แต่รอแบบนี้เมื่อไหร่เงินจะเข้า เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการในการขอ ต้องตรวจสอบสิทธิ์ เนื่องจาก กอ.รมน.ไม่ได้บรรจุทุกคนทั้งโรงพัก สมมุติโรงพักหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 200 นาย กอ.รมน.อาจอนุมัติแค่ 140 นาย อีก 60 นายก็ต้องคัดออก ส่วนคนที่ไม่ได้รับเงินนานถึง 6 ปี น่าจะเป็นกลุ่มส่งเอกสารไม่ครบ ไม่ยอมเซ็นเอกสารให้เรียบร้อย ซึ่งก็มีหลายคนที่เป็นแบบนี้ ตามมาเซ็นก็ยังไม่มา แบบนี้ก็ไม่ได้” แหล่งข่าวจากหน่วยงานต้นสังกัดของภูธรจังหวัดนราธิวาส กล่าว
แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า การไม่ได้รับเงิน พ.ส.ร. มีแต่ตำรวจนราธิวาสเท่านั้น ส่วนตำรวจปัตตานีกับยะลา กลับไม่มีใครร้องเรียนปัญหานี้