การเลือกตั้ง ส.ส.ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป พื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้มีเขตเลือกตั้งรวมทั้งหมด 60 เขต เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งปี 2562 ที่มีเขตเลือกตั้งรวมเพียง 50 เขตเท่านั้น
โดยเขตเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมา 10 เขต มาจาก จ.นครศรีธรรมราช 2 เขต ที่เหลือเป็น พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สุราษฎร์ธานี, สงขลา, ปัตตานี และนราธิวาส เพิ่มจังหวัดละ 1 เขต
ในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตปี 2562 ใน 14 จังหวัดภาคใต้ มีเพียง 5 พรรคการเมืองเท่านั้นที่ได้ที่นั่ง ส.ส. คือ พรรคประชาธิปัตย์ 22 คน คิดเป็น 44% พรรคพลังประชารัฐ 13 คน คิดเป็น 26% พรรคภูมิใจไทย 8 คน คิดเป็น 16% พรรคประชาชาติ 6 คน คิดเป็น 12% และพรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน คิดเป็น 2%
ส่วนผลการเลือกตั้งปีนี้ที่เพิ่งปิดหีบกันไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มี 6 พรรคการเมืองที่ได้เก้าอี้ ส.ส.ในภาคใต้ ได้แก่
พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.รวมทั้งหมด 17 คน คิดเป็น 28.33% แยกเป็น
จ.นครศรีธรรมราช 6 คน จากทั้งหมด 10 คน 10 เขต
จ.ตรัง 2 คน จากทั้งหมด 4 คน 4 เขต
จ.พัทลุง 2 คน จากทั้งหมด 3 คน 3 เขต
จ.สงขลา 6 คน จากทั้งหมด 9 คน 9 เขต
จ.ปัตตานี 1 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต
หากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ภาคใต้ 22 คน โดย จ.สุราษฎร์ธานี ได้ยกจังหวัดทั้ง 6 เขต และ จ.พังงา 1 เขต แต่ในปีนี้กลับไม่ได้เก้าอี้ ส.ส.ใน 2 จังหวัดนี้เลย เรียกว่า “แพ้ยกจังหวัด”
ทั้งๆ ที่พังงาเป็นบ้านเกิดของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่นำทัพสู้ศึกเลือกตั้งหนนี้ และเพิ่งลาออกไปทันทีเมื่อทราบผลเลือกตั้ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบกับความล้มเหลว พ่ายแพ้
พรรคพลังประชารัฐ ได้ ส.ส.รวมทั้งหมด 7 คน คิดเป็น 11.67% แยกเป็น
จ.พังงา 1 คน จากทั้งหมด 2 คน 2 เขต
จ.นครศรีธรรมราช 1 คน จากทั้งหมด 10 คน 10 เขต
จ.ตรัง 1 คน จากทั้งหมด 4 คน 4 เขต
จ.ปัตตานี 1 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต
จ.สงขลา 1 คน จากทั้งหมด 9 คน 9 เขต
จ.นราธิวาส 2 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต
เดิมในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส.ภาคใต้ 13 คน แต่ครั้งนี้เสียเก้าอี้ ส.ส.เดิมใน จ.สงขลา เคยได้ 4 คน กลับเหลือเพียง 1 คน ส่วน จ.ภูเก็ต เคยได้ยกจังหวัดทั้ง 2 เขต แต่เลือกตั้งหนนี้ไม่ได้เลย
พรรคภูมิใจไทย ได้ ส.ส.รวมทั้งหมด 12 คน คิดเป็น 20% แยกเป็น
จ.ระนอง 1 คน จาก 1 เขต (ยกจังหวัด)
จ.พังงา 1 คน จากทั้งหมด 2 คน 2 เขต
จ.กระบี่ 3 คน จาก 3 เขต (กวาดยกจังหวัด)
จ.สุราษฎร์ธานี 1 คน จากทั้งหมด 7 คน 7 เขต
จ.นครศรีธรรมราช 2 คน จากทั้งหมด 10 คน 10 เขต
จ.สตูล 2 คน จาก 2 เขต (ได้ยกจังหวัด)
จ.สงขลา 1 คน จากทั้งหมด 9 คน 9 เขต
จ.นราธิวาส 1 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต
พรรคภูมิใจไทยถือว่าได้จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ได้ ส.ส.เพียง 8 คน โดย ส.ส.เดิมที่ยังรักษาพื้นที่ไว้ได้อย่างเนียวแน่น คือ จ.สตูล ทั้ง 2 เขต แต่ก็เสียเก้าอี้ ส.ส.ใน จ.พัทลุง ไป 2 ที่นั่ง ทว่าก็มากวาด ส.ส.ได้ยกจังหวัดที่กระบี่ 3 ที่นั่ง
พรรคประชาชาติ ได้ ส.ส.รวมทั้งหมด 7 คน คิดเป็น 11.67% แยกเป็น
จ.ปัตตานี 3 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต
จ.ยะลา 3 คน จาก 3 เขต (ยกจังหวัด)
จ.นราธิวาส 1 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต
หากเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ได้ ส.ส. 6 คน ถือว่าพรรคประชาชาติได้ ส.ส.เพิ่มขึ้นมา 1 คน โดยเฉพาะที่ยะลาสามารถกวาด ส.ส.ยกจังหวัด แต่ใน จ.นราธิวาส ต้องเสียเก้าอี้ ส.ส.เก่าไป 1 ที่นั่งให้กับพรรคภูมิใจไทย
พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ ส.ส.รวมทั้งหมด 14 คน คิดเป็น 23.33% แยกเป็น
จ.ชุมพร 3 คน จาก 3 เขต (ยกจังหวัด)
จ.สุราษฎร์ธานี 6 คน จากทั้งหมด 7 คน 7 เขต
จ.นครศรีธรรมราช 1 คน จากทั้งหมด 10 คน 10 เขต
จ.ตรัง 1 คน จากทั้งหมด 4 คน 4 เขต
จ.พัทลุง 1 คน จากทั้งหมด 3 คน 3 เขต
จ.สงขลา 1 คน จากทั้งหมด 9 คน 9 เขต
จ.นราธิวาส 1 คน จากทั้งหมด 5 คน 5 เขต
แม้จะเป็นพรรคใหม่ในแบรนด์ “ลุงตู่” แต่ก็ทำผลงานได้ดี สามารถครองเก้าอี้ ส.ส.ภาคใต้ได้มากเป็นอันดับ 2 รองจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะ จ.ชุมพร สามารถกวาด ส.ส.ได้ยกจังหวัดทั้ง 3 เขต และที่ จ.สุราษฎร์ธานี กวาด ส.ส.ได้มากถึง 6 คนจาก 7 เขต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ส.ส.ของพรรคก็เป็น ส.ส.ที่ถูกดึงมาจากพรรคอื่น โดยเฉพาะประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐ
พรรคก้าวไกล ได้ ส.ส.รวม 3 คน คิดเป็น 5% เป็น ส.ส.ใน จ.ภูเก็ตทั้ง 3 เขต ถือว่ากวาดยกจังหวัด จากเดิมที่การเลือกตั้งในปี 2562 ส.ส.ภูเก็ตเป็นของพรรคพลังประชารัฐยกจังหวัดทั้ง 2 เขต ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่พรรคก้าวไกล (พรรคอนาคตใหม่เดิม) สามารถเจาะพื้นที่ ส.ส.เขตในภาคใต้ได้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากกระแสของพรรคบวกกับปรากฏการณ์ “เบื่อลุง” และภูเก็ตเป็นเมืองเศรษฐกิจ พึ่งพาการท่องเที่ยว บาดเจ็บหนักจากมาตรการรับมือโควิดของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดกระแส “เปลี่ยน” ค่อนข้างแรง จึงทำให้สามารถแย่งชิงเก้าอี้ ส.ส.ภูเก็ต จากพลังประชารัฐมาครองได้ทั้งหมด
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ในแง่ของจำนวน ส.ส.ภาคใต้ แม้จะยังเป็นแชมป์ ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับพรรคอื่นๆ แต่เปอร์เซ็นต์ หรือสัดส่วนที่ได้ลดลงฮวบฮาบ จาก 44% เมื่อปี 62 และก่อนหน้านั้นเคยได้ถึง 85-95% ต้องมาลดต่ำเหลือเพียง 28% แถมไม่มีพื้นที่ใดเลยที่ได้ ส.ส.แบบยกจังหวัด
จะเรียกว่าพรรคการเมืองที่เป็นดั่ง “ดวงอาทิตย์” ของภาคใต้อย่างประชาธิปัตย์ กำลังอัสดงในพื้นที่ฐานเสียงสำคัญที่สุดของตัวเอง...ก็คงไม่ผิดนัก!