การเปิดตัวว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลของแกนนำก้าวไกล ซึ่งล่าสุดถึง 8 พรรคการเมือง มีพรรคเล็ก-พรรคจิ๋ว ระดับ 1 เสียงรวมอยู่ด้วย 3 พรรค คือ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเป็นธรรม
พรรคเสรีรวมไทย ของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส คนไทยทั่วประเทศรู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วนพรรคพลังสังคมใหม่ วันสองวันนี้ก็มีข่าวออกมาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคซึ่งเป็น “คนน่าน” บ้านเดียวกับ คุณหมอชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย
ขณะที่ “พรรคเป็นธรรม” หลายคนตั้งคำถามว่าเป็นใครมาจากไหน
จริงๆ แล้วในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง สื่อมวลชนบางแขนงเคยนำเรื่องราวของ “พรรคเป็นธรรม” มานำเสนออยู่บ้างประปราย ว่าเป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ที่มี ปิติพงศ์ เต็มเจริญ เป็นหัวหน้าพรรค และมี กัณวีร์ สืบแสง เป็นเลขาธิการพรรค ขึ้นดำรงตำแหน่งก่อนเลือกตั้งเพียงไม่นาน
ทั้งยังมี “เสธ.แมว” พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ
“พรรคเป็นธรรม” มีชื่อติดหูติดตาในระยะหลัง เพราะเสนอนโยบาย “ตรงและแรง” เกี่ยวกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะแคมเปญ “พาทหารกลับบ้าน” ซึ่งหมายถึง “ถอนทหารพ้นชายแดนใต้” ยกเลิกกฎหมายพิเศษทุกฉบับ และนโยบายที่มุ่งเน้นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นเชิงนามธรรมที่ไม่ค่อยมีพรรคการเมืองไหนหยิบมาหาเสียง
ส่วนในทางการเมือง มีช่าวกระเซ็นกระสายว่าพรรคเป็นธรรมน่าจะถูกตั้งขึ้นมาเพื่อตัดคะแนนพรรคก้าวไกลที่ชายแดนใต้ เพื่อให้พรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาชาติซึ่งเป็นพันธมิตรแนบแน่น ได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำ และไม่ถูกก้าวไกลเบียด หรือโค่นเสาไฟฟ้า ในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
ถึงวันนี้ “พรรคเป็นธรรม” 1 เสียง กำลังได้เข้าร่วมรัฐบาล เราจึงควรมาทำความรู้จักพรรคนี้เพิ่มขึ้น เพราะพรรคนี้มีบางมิติที่น่าสนใจจริงๆ
คีย์แมนของพรรคนี้ ถ้าไม่นับ “เสธ.แมว” ก็มีอยู่ 2 คน คือ “ดุ่ย” ปิติพงศ์ เต็มเจริญ กับ “นล” กัณวีร์ สืบแสง
ปิติพงศ์ ไม่ใช่หน้าใหม่ทางการเมือง เคยเป็น ส.ส.เขตตลิ่งชัน เคยสังกัดพรรคประชากรไทย (ยุคสมัครฟีเวอร์ สมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค - ต่อมาเป็นนายกฯในนามหัวหน้าพรรคพลังประชาชน พรรคสายชินวัตรที่ตั้งขึ้นหลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ) และเคยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย กับพรรคพลังประชาชนยุค สมัคร สุนทรเวช เป็นผู้นำ และเป็นนายกฯด้วย
เส้นทางการเมืองก็มีประสบการณ์พอตัว เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรีหลายคน หลายกระทรวง เช่น เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ และเคยเป็นเลขานุการ ชัยเกษม นิติสิริ ซึ่งปัจจุบันเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย
ต่อมาลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพราะต้องการแสวงหาแนวทาง “การเมืองใหม่” และด้วยความที่รู้จักกับ “เสธ.แมว” เนื่องจากเคยเป็นศิษย์ทางการเมืองของ ปรีดา พัฒนถาบุตร อาของเสธ.แมว ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย จึงได้ปรึกษากับ “เสธ.แมว” และตั้งพรรคเป็นธรรมขึ้น
ความผูกพันกับ “เสธ.แมว” และตระกูลพัฒนถาบุตร ทำให้เชื่อมโยงถึง “ตระกูลชินวัตร” เพราะทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นตำรวจติดตามปรีดา สมัยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และถือเป็น “ศิษย์เอกผู้พี่” ในทางการเมืองของปรีดา
ส่วนปิติพงศ์ ถือเป็น “ศิษย์เอกคนรอง” ฉะนั้น “เสธ.แมว” จึงเหมือนเป็น “ที่ปรึกษาส่วนตัวในทางการเมือง” ของ ปิติพงศ์ ด้วย
สำหรับที่มาของ “พรรคเป็นธรรม” หลังจาก “เสธ.แมว” เสนอให้ตั้งพรรคใหม่ ก็ใช้ทางลัด จึงไปนำพรรคการเมืองที่จดทะเบียนอยู่แล้วมาปรับโครงสร้างใหม่ ชื่อว่า “พรรคกลาง” โดยปิติพงศ์เข้าไปเป็นเลขาธิการพรรค จากนั้นก็ปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคเป็นธรรม” โดยชื่อภาษาอังกฤษไม่ใช้ทับศัพท์ แต่ใช้คำว่า Fair Party ทำให้เข้าใจง่าย ฝรั่งอ่านก็เข้าใจ
ส่วนคำว่า “เป็นธรรม” เป็นรากฐานของประชาธิปไตย การจะเกิดความเป็นธรรมได้ ต้องมีทั้งเรื่อง สิทธิ เสรีภาพ ภราดรภาพ ความเท่าเทียม ความไม่เหลื่อมล้ำ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่สังคมต้องการ
จากประสบการณ์ของ “เสธ.แมว” มองว่า เงื่อนไขเปลี่ยนการเมืองมี 2 อย่างที่สำคัญ คือ 1.ประชาชนไม่มีจะกิน คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง กับ 2.เรื่องความไม่ธรรม
นี่คือที่มาของคำว่า “พรรคเป็นธรรม” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
สำหรับประวัติชีวิตของปิติพงศ์ ถือว่าไม่ธรรมดา อยู่ในครอบครัวคหบดีย่านฝั่งธนบุรี ที่บ้านเป็นเจ้าของที่ดินที่สร้างเป็น “สถานีขนส่งสายใต้” ทั้งแห่งเก่า บริเวณสามแยกไฟฉาย และแห่งใหม่ย่านตลิ่งชัน ติดกับทางยกระดับบรมราชชนนี การศึกษาจบนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ และไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ส่วน “นล” กัณวีร์ สืบแสง จบสวนกุหลาบ จบรามคำแหงเกียรตินิยม และไปศึกษาต่อปริญญาโทที่สหรัฐ เคยทำงานที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. จึงรู้จักสนิทสนมกับ “เสธ.แมว”
ลาออกจาก สมช. ไปทำงานยูเอ็น ในส่วนงานดูแลผู้อพยพ หรือ ยูเอ็นเอชซีอาร์ (สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ) เคยเป็น ผอ.ศูนย์อพยพสำคัญๆ ทั้งที่แม่ฮ่องสอน และอีก 8 ประเทศ แต่ละประเทศล้วนงานหนัก งานใหญ่ทั้งสิ้น เช่น ซูดาน และศูนย์สุดท้ายที่เข้าไปทำงานก่อนลาออกมาลงการเมือง คือ เมียนมา
การไปทำงาน “ยูเอ็นเอชซีอาร์” ได้รับการสนับสนุนจาก “เสธ.แมว” เป็นคนลงนามรับรอง จึงเพิ่มน้ำหนักให้ “นล” กัณวีร์ ได้เข้าไปแสดงฝีมือในหน่วยงานระดับนานาชาติ ความสัมพันธ์ของสองคนนี้จึงแนบแน่น ไม่แพ้ ปิติพงศ์ กับ เสธ.แมว
วันเวลาผ่านไป 12 ปี “นล” กัณวีร์ สนใจการเมือง จึงมาปรึกษา “เสธ.แมว” และสุดท้ายลงตัวที่พรรคเป็นธรรม โดย นลเข้าไปเป็นรองหัวหน้าพรรค ก่อนขยับเป็นเลขาธิการพรรค เพราะคุยกับปิติพงศ์ แล้วคลิกลงตัว ชูนโยบายสำคัญด้านสิทธิมนุษยชน และความมั่นคงที่เคารพสิทธิเสรีภาพและกฎหมาย จึงลุยงานด้านนี้เต็มตัว ประกาศนโยบายที่แรงและตรง ทำให้ได้ใจมวลชนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่เมื่อไล่ดูคะแนนของพรรคเป็นธรรม กลับได้คะแนนกระจายจากทั่วประเทศ ราวๆ 1.8 แสนคะแนน (181,699 คะแนน) โดย “เสธ.แมว” วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่เสนอสำหรับแก้ปัญหาชายแดนใต้ โดนใจคนทั่วประเทศ จึงได้คะแนนมาเป็นกอบเป็นกำ
“พรรคเป็นธรรม” มีความเป็นธรรมตั้งแต่การบริหารงานในพรรค เพราะ ปิติพงศ์ ยอมเสียสละ เป็นหัวหน้าพรรคแต่ลงสมัคร ส.ส.เขต (เป็นอีกพรรคหนึ่งที่หัวหน้าพรรคลงเขต นอกจากพรรคเพื่อไทย กับพรรคทางเลือกใหม่) และไม่ได้รับเลือกตั้ง ส่วนปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 เป็น “นล” กัณวีร์ และได้เข้าสภา
ทั้งคู่ร่วมงานกันอย่างดี ไม่มีปัญหา วันนัดดินเนอร์ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล ปิติพงศ์ก็เป็นคนไปส่งกัณวีร์ แต่ไม่ได้เข้าไปร่วมงาน
ส่วนวันแถลงข่าวร่วมกันที่โรงแรม โอกุระ เพรสทีจ หัวหน้าพรรคต้องไป ปิติพงศ์จึงไปปรากฏตัวพร้อมกัณวีร์ และมอบหมายกัณวีร์ให้ไปหารือการจัดทำกรอบเอ็มโอยูนโยบายและการแถลงทิศทางของรัฐบาลชุดใหม่ 22 พ.ค.นี้
ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร 57 พอดิบพอดี!