ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 สังคมโฟกัสไปที่ชัยชนะและความสำเร็จของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะที่เบียดบ้านใหญ่ หรือไม่ก็หักเสาไฟฟ้า แล้วแทงตัวเองเป็นเสาโทรเลขขึ้นมาผงาดแทน
รวมถึงพื้นที่ที่กวาด ส.ส.ยกจังหวัด ไม่เว้นแม้แต่กรุงเทพฯ 33 เขตที่เว้นไว้ให้เพื่อไทยแค่เขตเดียว
แต่ก็ยังมีบางจังหวัดที่เกิดปรากฏการณ์ “ส.ส.กระจาย” ซึ่งหมายถึงจังหวัดที่ไม่มี “เจ้าที่” แม้จะมี “บ้านใหญ่” แต่ก็ไม่ได้เบ่งบารมีครอบคลุมทั้งจังหวัดได้ จนไม่สามารถกวาด ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ
จังหวัดที่ผลการเลือกตั้งออกมาลักษณะนี้ ก็เช่น จังหวัดนราธิวาส มี 5 เขต ผลการเลือกตั้งออกมาได้ ส.ส.จาก 4 พรรคการเมือง
เขต 1 อำเภอเมืองนราธิวาส กับ อำเภอยี่งอ ผู้ชนะ คือ วัชระ ยาวอหะซัน แชมป์เก่า เดิมอยู่พลังประชารัฐ แต่ครั้งนี้เปลี่ยนเสื้อมาลงรวมไทยสร้างชาติ แต่ก็ยังรักษาเก้าอี้ไว้ได้ด้วยคะแนน 29,006 คะแนน
วัชระ เป็นสมาชิก “บ้านใหญ่ยาวอหะซัน” เป็นลูกชายของ กูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นราธิวาส 4 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมัยที่ 5 เขตนี้ไม่มีพลิกโผ แม้ช่วงนับคะแนนจะโดนแซงไปบ้างก็ตาม
เขต 2 อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงโก-ลก ผู้ชนะคือ อามินทร์ มะยูโซ๊ะ จากพรรคพลังประชารัฐ น้องชายของ สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ หรือ “ส.ส.บีลา” อดีต ส.ส.เขตนี้ที่ขยับไปลงเขต 3 เพื่อเปิดทางให้น้องลงเขต 2 แทน
“ส.ส.บีลา” เป็นแม่ทัพใหญ่ให้พลังประชารัฐสู้ศึกนราธิวาสด้วยเดิมพันแพ้ไม่ได้ และสามารถพาน้องชายคว้าชัยะมาได้ด้วยคะแนน 31,289 คะแนน
ข้อมูลที่ต้องบันทึกไว้ก็คือ อามินทร์ เอาชนะ “เมธี ลาบานูน” หรือ “เมธี อรุณ” นักร้องนำวงป๊อปร็อกชื่อดังจากค่ายประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่ เมธี เป็นความหวังเดียวของพรรคเก่าแก่ในนราธิวาส และคะแนนนิยมดีมาตลอด แถมได้รับแรงหนุนจากนายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นคนดัง แต่ปรากฏว่าคุณเมธีไปแพ้หนักที่ตากใบ
เขต 3 อำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง อำเภอแว้ง “ส.ส.บีลา” คว้าชัยไปด้วยคะแนนท่วมท้น 34,411 คะแนน เมื่อรวมกับเขตของน้องชาย ทำให้พลังประชารัฐรักษา 2 เก้าอี้ในนราธิวาสเท่ากับการเลือกตั้งปี 62 ได้ แต่ครั้งนั้นเป็น “ส.ส.บีลา” กับ วัชระ ยาวอหะซัน ซึ่งยังสังกัดพลังประชารัฐ
เขต 4 อำเภอจะแนะ อำเภอระแงะ และอำเภอสุคิริน เขตนี้ถือว่าหักปากกาเซียน เนื่องจาก ดร.ซาการียา สะอิ จากพรรคภูมิใจไทย คว้าชัยไปได้ด้วยคะแนน 30,966 คะแนน แถมยังทำคะแนนทิ้งห่าง กูเฮง ยาวอหะซัน ส.ส.เก่า และลูกชายของบ้านใหญ่ “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” ไปหลายพันคะแนน ถือว่าเหนือความคาดหมาย
ทั้งๆ ที่ ดร.ซาการียา ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หนำซ้ำยังสวมเสื้อพรรคภูมิใจไทยที่มีกระแสต้าน “พรรคกัญชา” อย่างหนาแน่นในพื้นที่ แต่ก็ฝ่ามรสุมโจมตีมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ขณะที่อดีต ส.ส.กูเฮง มีผลงานดี ทำงานในพื้นที่ตลอด แถมยังอภิปรายในสภาบ่อยครั้ง ชาวบ้านจำได้ นำปัญหาจากชายแดนใต้ไปพูดในสภาอย่างต่อเนื่อง หนำซ้ำยังเป็นสมาชิกบ้านใหญ่ “ยาวอหะซัน” งานนี้เรียกว่า “ล้มช้าง” ก็คงไม่ผิด
เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาจึงมีกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และลุกลามเป็นกระแสโจมตีผู้ชนะ โจมตีประชาชนในเขตนี้ทำนองว่า “เลือกคนผิด”
จากการตรวจสอบเส้นทางของ ดร.ซาการียา สะอิ พบว่า แม้จะเป็น “หน้าใหม่” ในเวทีการเมืองระดับชาติ แต่ตระกูลของ ดร.ซาการียา ถือเป็น “ตระกูลการเมือง” ของนราธิวาส มีพี่ชายเป็นนายก อบต.กาลิซา ตำบลกาลิซา อำเภอระแงะ ทำให้มีฐานเสียงหนาแน่น
ครอบครัวของ ดร.ซาการียา ทำบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของนราธิวาส ได้งานจากกระทรวงคมนาคมในความดูแลของพรรคภูมิใจไทยอยู่ไม่น้อย ขณะที่ตัว ดร.ซาการียา เองก็มีโค้ชดี คือ นัจมุดดีน อูมา อดีต ส.ส. 4 สมัยในพื้นที่นี้ ซึ่งเลือกตั้งหนนี้ขยับตัวเองไปลงปาร์ตี้ลิสต์ และทำหน้าที่ “แม่ทัพนราธิวาส” ของภูมิใจไทย
ส่วนประวัติส่วนตัวของ ดร.ซาการียา ก็ไม่ได้ขี้เหร่ จบดอกเตอร์สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าจากอังกฤษ เคยเป็นอาจรย์สอนระดับมหาวิทยาลัยมานานนับสิบปี มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ฉะนั้นด้วยความพร้อมส่วนตัว ครอบครัว และแรงส่งทางการเมือง ทำให้คว้าชัยเป็น “ส.ส.ป้ายแดง” ได้สำเร็จ
เขต 5 อำเภอบาเจาะ อำเภอรือเสาะ อำเภอศรีสาคร เขตนี้ไม่พลิกโผ เพราะ กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ แชมป์เก่า และทนายมุสลิมชื่อดัง รักษาเก้าอี้เอาไว้ได้ด้วยคะแนน 31,457 คะแนน
สรุป 5 เขตของนราธิวาส พลังประชารัฐได้ไป 2 ที่นั่ง รวมไทยสร้างชาติ 1 นั่ง ภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง และประชาชาติ 1 ที่นั่ง
โครงสร้าง ส.ส.นราธิวาส ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปจากปี 62 ที่แบ่งกัน 2 พรรค คือ พลังประชารัฐ 2 ที่นั่ง และประชาชาติ 2 ที่นั่ง “บ้านใหญ่ยาวอหะซัน” เก็บเก้าอี้ได้ครบ ลง 2 เขต ได้เข้าสภาทั้งคู่ (สองพี่น้อง วัชระ กับ กูเฮง) แต่เลือกตั้งปี 66 ได้ 1 ตก 1 ถือว่าบ้านใหญ่ร่วง
ขณะที่ผู้สมัครเสียงดีที่สุดในประเทศ อย่าง เมธี ลาบานูน (เพราะเป็นนักร้องดัง) ก็พ่ายไปเช่นกัน ถือเป็นผลการเลือกตั้ง 2 คน 2 เขตที่ “พลิกโผ” ไม่น้อยทีเดียว
สำหรับภาพรวมทั้ง 5 เขต แข่งกันดุเดือดมาก เพราะทุกพรรคมีเดิมพัน “แพ้ไม่ได้” ทำให้มีข่าวการใช้เงินในหลายพื้นที่ สนนราคาอยู่ที่ 1,000 ถึง 1,500 บาทต่อหัว และในช่วงใกล้เลือกตั้งราคาพุ่งถึง 2,000 บาทต่อหัว
แต่ข่าวที่อาจจะเรียกว่าเป็น “ข่าวดีในข่าวร้าย” ก็คือ คนที่ซื้อเสียง แจกเงิน ไม่ได้การันตีการเข้าสภา อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในพัฒนาการทางการเมืองของนราธิวาสด้วยก็ได้เช่นกัน