กลายเป็นประเด็นทางกฎหมายตามมา หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ชี้ชัดว่า พ.ร.ก.ยื้อกฎหมายอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ไม่มีผลบังคับใช้ “พ.ต.อ.วิรุตม์” หวั่นคดีเกิดหลัง 22 ก.พ.66 เปิดช่อง “มืออุ้ม-นักซ้อม” สู้คดีได้ ญาติ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” เร่งผลักดันใช้จริงในพื้นที่อย่างเข้มงวด ด้านทหารชายแดนใต้เผยทุกวันนี้เหตุซ้อมทรมานแทบไม่มีเหลือแล้ว
วันพฤหัสบดีที่ 18 พ.ค.66 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดี เรื่องการตรา พระราชกำหนด (พ.ร.ก.ฆ) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องพิจารณาที่ 11/2566
คำร้องนี้สืบเนื่องจาก ส.ส.จำนวน 99 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร เข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ตราขึ้นเพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 จากเดิมที่ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือ วันที่ 22 ก.พ.2566 แก้ไขเป็นให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป
โดยอ้างเหตุผลความไม่พร้อมด้านงบประมาณ การจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ และชั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า เหตุผลที่อ้างไม่ได้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงส่งความเห็นดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคหนึ่งนั้น
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสี่ วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และให้ พ.ร.ก.ไม่มีผลใช้บังคับมาแต่ต้น คือวันที่ 22 ก.พ.2566 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173 วรรคสาม
หลังทราบผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน) กล่าวว่า นับจากนี้ก็ต้องทำตามกฎหมายทุกมาตราอย่างเคร่งครัด ไม่ทำผิดวินัย แน่นอนที่สำคัญคือต้องบันทึกภาพ เสียง ในการจับทุกครั้งจนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวน ต้องแจ้งการจับให้นายอำเภอและอัยการท้องที่ทราบทันที ในกรุงเทพฯให้แจ้งกรมการปกครอง
“ปัญหาคือที่ผ่านมานับแต่วันที่ 22 ก.พ.66 เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะมี พ.ร.ก.ออกมา จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะกลายเป็นช่องทางต่อสู้คดีของผู้ต้องหาหรือจำเลย อ้างว่าเป็นการจับมิชอบ ปัญหาเกิดจากความคิดอุตริโดยปราศจากความรับผิดชอบของตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่ต้องให้กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ทุกมาตรา”
พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวด้วยว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมา คิดว่าการซ้อมทรมานจะเกิดขึ้นยากมาก อาจหลงเหลือพวกเพี้ยนเล็กน้อย พฤติกรรมแบบเดิมจะหายไป 99.99 เปอร์เซ็นต์ เพราะคนสอบสวนมีทั้งนายอำเภอและอัยการ ไม่ใช่ตำรวจฝ่ายเดียวแบบเดิมต่อไป
ด้าน นายโมฮำหมัดรอฮมัด มามุ ลูกพี่ลูกน้องของ นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงที่เสียชีวิตจากอาการหมดสติ ภายหลังถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นคดีดังคดีหนึ่งของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ต้องผลักดันในพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติข้มงวดในการบังคับใช้กหมายจริงๆ
ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้ความเห็นว่า มีกฎหมายออกมาชัดขนาดนี้ ก็ยากที่จะเกิดเหตุซ้อมทรมานอีก ทุกวันนี้ก็น้อยลงแล้ว กำลังพลระวังมากขึ้น ชาวบ้านเองเมื่อพบเห็นอะไรผิดสังเกตหน่อยก็โวยวายทันที เหมือนชาวบ้านเองรู้สิทธิ์มากขึ้น ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เรียนรู้กฎหมาย เรียนรู้หลายๆ อย่างมากขึ้นกว่าเดิม