ก่อนเข้าสู่ 14 วันสุดท้ายเลือกตั้ง 66 (28-30 เม.ย.) ปรากฏว่า 3 พรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม ลงใต้พร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ขาดแต่ภูมิใจไทยพรรคเดียวที่ไปภาคตะวันออก และอีสาน
พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ฐานเสียง และพื้นที่เป้าหมายของพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยมเกือบจะ 100%
ย้อนกลับไปการเลือกตั้งปี 62 ภาคใต้มี ส.ส. 50 ที่นั่ง มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.ภาคใต้ 5 พรรค ได้แก่
ประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง
พลังประชารัฐ 13 ที่นั่ง
ภูมิใจไทย 8 ที่นั่ง
ประชาชาติ 6 ที่นั่ง
รวมพลังประชาชาติไทย 1 ที่นั่ง
ทั้ง 5 พรรค มี 4 พรรคเข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะอยู่สายอนุรักษ์นิยมด้วยกัน คือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และรวมพลังประชาชาติไทย มีเพียงพรรคประชาชาติเท่านั้นที่ไปเป็นฝ่ายค้าน
เลือกตั้งปี 66 ส.ส.ภาคใต้เพิ่มจาก 50 ที่นั่งเป็น 60 ที่นั่ง แต่พรรคที่ลุ้นแข่งขันกลับมีมากขึ้น เพราะพรรคพลังประชารัฐ แตกออกเป็น 2 พรรค คือ พรรคพลังประชารัฐเดิม กับรวมไทยสร้างชาติ พรรคใหม่ของนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา
หากนับเฉพาะพรรคสายอนุรักษ์นิยมเดิม จะพบว่าตัวหารเพิ่งขึ้น แม้เก้าอี้ ส.ส.จะเพิ่มขึ้นด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่การต่อสู้ช่วงชิงกลับสูงขึ้น และจริงจังขึ้น เนื่องจากพรรคร่วมรัฐบาลคะแนนนิยมตกต่ำเกือบทุกพรรค จึงต้องการโกยเก้าอี้ ส.ส.ให้ได้มากที่สุด และเป้าหมายก็คือโกยจากภาคใต้
แม้เลือกตั้งปี 66 พรรครวมพลังประชาชาติไทยจะถูกถอดจากสมการ แต่การก่อกำเนิดขึ้นของพรรครวมไทยสร้างชาติ ทำให้การแข่งขันดุเดือด เพราะ...
- มีการดูด-ดึง ส.ส.เก่าจากทั้งประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐไปร่วมงานหลายคน แถมแต่ละคนล้วนเป็น “ตัวตึง” มีลุ้นเก้าอี้ทั้งสิ้น
- คะแนนนิยม “ลุงตู่” หรือนายกฯประยุทธ์ ถือว่าสูงมากในภาคใต้ สะเทือนพรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะแชมป์เก่าอย่างประชาธิปัตย์
- ประชาธิปัตย์ต้องการล้างอายเมื่อปี 62 ที่ได้ ส.ส.ใต้ไม่ถึงครึ่ง คือไม่ถึง 50% จากที่เคยกวาดกว่า 90% มาตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ และภาคใต้คือฐานเสียงเดียวที่หนาแน่นที่สุดของประชาธิปัตย์ เนื่องจาก กทม.ที่เคยเป็นฐานเสียงหลักอีกพื้นที่หนึ่ง เมื่อปี 62 กลับสูญพันธุ์
ด้วยเหตุนี้ประชาธิปัตย์จึงเน้นเป็นพิเศษในพื้นที่ภาคใต้ แต่ก็โดนพรรครวมไทยสร้างชาติดูดไปหลายจังหวัด จนเกิดปมขัดแย้งกัน และแข่งขันกันเองอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ประกาศ “ยิงตกให้หมด” แม้ตัวเองจะแพ้ก็ไม่เป็นไร แต่รวมไทยสร้างชาติต้องไม่ได้ ส.ส.ด้วย
- แต่ปัญหาของประชาธิปัตย์ คือ คะแนนพรรคดีขึ้น ส่วนคะแนนนิยมหัวหน้าพรรคกลับไม่ดี ตรงกันข้ามกับรวมไทยสร้างชาติ ที่กระแส “ลุงตู่” ดีมาก แต่กระแสพรรคไม่ค่อยดี และคนจำชื่อพรรคยังไม่ได้ จำได้แต่ “พรรคลุงตู่”
- ภูมิใจไทยตั้งเป้าเป็นพรรคใหญ่ ตัวเลข 3 หลัก และเป็นพรรคหลักของขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามเพื่อไทย จึงทุ่มเทให้กับพื้นที่ภาคใต้มากเป็นพิเศษ มีโครงการของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (สองกระทรวงที่พรรคภูมิใจไทยดูแล) มาลงในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งตอนบน ตอนกลาง ตอนล่าง เยอะมาก รวมถึงจังหวัดเศรษฐกิจ ถึงขั้นประกาศ “แลนด์สไลด์อันดามัน”
- พลังประขารัฐก็ยังหวังรักษาฐานที่มั่นให้ได้บางเขต โดยเฉพาะที่นราธิวาส และ ส.ส.เก่าที่ไม่ย้ายพรรค
- ส่วนพรรคประชาชาติก็เหนียวแน่นสุดๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมี 13 ที่นั่ง พรรคอื่นจะเข้าไปแทรก หรือโกยเก้าอี้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
นี่คือสถานการณ์ “แข่งเดือด” ในพื้นที่ภาคใต้ หรือด้ามขวานทองของไทย ซึ่งมี ส.ส. 60 ที่นั่ง แต่ชิงกันหลายพรรค แถมเป็นการชิงกันด้วยโอกาสเท่าๆ กัน ไม่เหมือนในภาคอีสาน 133 เขตที่เพื่อไทยกระแสนำโดดพรรคเดียว แม้จะมีหลายพรรคท้าชิง แต่ก็แย่งยาก ทำให้คาดการณ์ตัวเลข ส.ส.พุ่งกว่า 90 ที่นั่ง (จาก 133) แต่สถานการณ์ในภาคใต้ไม่ได้เป็นแบบนั้น
ทิศทางแบบนี้ไม่ค่อยดีกับ “พรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม” ซ้ำยังกระทบกับ “ยุทธศาสตร์ชนเพื่อไทย” ที่ฝ่ายความมั่นคงวางเกมให้ 3 พรรคจับมือกันแน่น คือ “พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย” โดย 3 พรรคนี้ต้องได้ ส.ส.รวมกันมากกว่าพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว เรียกว่า “สูตร 3 รุม 1” แล้วชิงจัดตั้งรัฐบาล
เช่น ถ้า 3 พรรคนี้รวมกันได้ 180+ เมื่อรวมกับประชาธิปัตย์ และพรรคเล็กที่เหลือ อาจเกิน 250 ได้เหมือนกัน
แต่ความจริงกลับไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่วางไว้ เพราะ “พรรค 2 ลุง” ดันแข่งกันเองจริงจัง ปาดกันไปปาดกันมา แถมช่วงชิงเก้าอี้นายกฯกันเองอย่างดุเดือด ทั้งสายมู ทั้งขายนโยบายเกทับกัน ขณะที่ภูมิใจไทยก็ต้องเอาตัวรอดจากกระแสต้านกัญชา และแคมเปญโจมตีของ ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เสี่ยจอมแฉ ส่วนประชาธิปัตย์ก็มีแผลในใจกับรวมไทยสร้างชาติ
สุดท้าย “พันธมิตรการเมือง” ที่จับมือกันไว้หลวมๆ จะฮั้วแตกหรือไม่ โดยมีศึกภาคใต้เป็นชนวน
ระวังไปๆ มาๆ สองลุงจะได้กลับบ้านจริงๆ