การติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ได้ทำให้เรารับรู้ข้อมูลของพรรคการเมืองที่เสนอตัวเป็นทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้นเท่านั้น
แต่การโจมตีแข่งขันกันทางการเมืองยังเพิ่มดีกรีความเครียดให้กับผู้เสพข่าวอีกด้วย
โดยเฉพาะการเมืองท่ามกลางความขัดแย้งแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายอย่างการเมืองไทย
อ.พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร เขียนบทความสะท้อนปัญหานี้ไว้ พร้อมแบบทดสอบสำรวจอารมณ์การเมืองของตนเอง และทางออกเพื่อป้องกันความเครียดลุกลาม
@@ สำรวจอารมณ์การเมืองของตัวเองก่อนเลือกตั้ง
ยิ่งใกล้เลือกตั้ง แคมเปญหาเสียงจากนักการเมืองเริ่มทวีความเข้มข้นทั้งด้านนโยบาย รูปแบบการปราศรัย และการเปิดตัวบุคคลที่ถูกจัดวางให้เป็นขุนพลของพรรคส่วนหน้าและผู้อยู่เบื้องหลัง
นอกจากนี้ฝ่ายสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ ที่เป็นกลุ่มก้อนอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ มีการแชร์คอนเทนต์ทางการเมืองที่เชียร์ฝั่งตนเองและดิสเครดิตฝ่ายตรงข้ามเพิ่มขึ้นอย่างหนาตา
สิ่งที่หนีไม่พ้นบนกระดานสนทนาของโซเชียลมีเดียคือการตอบโต้และถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนของคอการเมืองที่ดูเหมือนว่าจะดุเดือดกว่าในช่วงเวลาปกติ ซึ่งหมายถึงอุณหภูมิทางการเมืองบนแพลตฟอร์มต่างๆ กำลังอยู่ในภาวะที่เรียกว่าร้อนระอุไม่แพ้อากาศร้อนของฤดูร้อน
นอกจากนี้การนำเสนอข่าวการเมืองของสื่อสำนักต่างๆ และผลโพลที่ออกมาถี่ยิบในช่วงใกล้โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้ความร้อนแรงทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งไม่สบอารมณ์เมื่อเห็นคอนเทนต์ทางการเมืองปรากฏในกลุ่มหรือส่งตรงมายังตัวเอง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งวางเฉยต่อคอนเทนต์การเมือง และส่วนหนึ่งมีความชื่นชอบต่อคอนเทนต์การเมืองที่ได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนเทนต์ที่ตรงใจตัวเอง และแน่นอนว่าความไม่สบอารมณ์ต่อคอนเทนต์ทางการเมืองย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้รับข่าวสารอยู่ไม่มากก็น้อย
เมื่อช่วงการเลือกตั้งปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยแสดงความเป็นห่วงสุขภาพจิตคนไทยที่อาจเครียดจากการเสพข่าวการเมืองมากเกินไป ในขณะที่นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (ตำแหน่งในขณะนั้น) มีคำแนะนำเพื่อลดความเครียดในช่วงเลือกตั้ง โดยเห็นว่าคนไทยมีความสนใจเรื่องของการเมืองมาก ทำให้อาจเผชิญความเครียดเฉพาะทางการเมืองเนื่องจากเห็นความต่างทางการเมืองทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง มีการคาดการณ์ทางการเมืองจากกระแสว่าใครจะจัดตั้งรัฐบาลและใครดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สภาพการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่ในอดีตคนไทยเคยเกิดความเครียดทางการเมืองมาตั้งแต่ที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง และความเห็นต่างที่เปราะบาง ก็สามารถพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งได้
อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ถ้ามีความเครียดมาก จะส่งผลต่อระบบสุขภาพ ร่างกายและจิตใจ จะวิตกกังวล หงุดหงิด และคิดมาก อาจส่งผลให้ปวดต้นคอ ปวดหลัง ไม่กินข้าว นอนไม่หลับ
ดังนั้นมีคำแนะนำต้องติดตามการเมืองแบบมีวุฒิภาวะ ไม่จำเป็นต้องติดตามข่าวสารการเมืองแบบใกล้ชิดมาก และให้คำแนะนำว่าไม่ควรเสพข่าวการเมืองมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน
นอกจากนี้ควรรับฟังและเปิดใจรับฟังเสียงของคนอื่น หันไปทำทำกิจวัตรประจำวันเป็นปกติ หรือดูข่าวสาร เช่น ข่าวบันเทิง เศรษฐกิจ และกลับไปทำหน้าที่ของตัวเอง อีกทั้งควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการนอนจะลดความเครียด ออกกำลังกาย ทำสมาธิ ออกไปท่องเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน เป็นต้น
( ที่มา https://www.thaipbs.or.th/news/content/278809 )
จากการสำรวจของ PEW Research Center ของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับมุมมองเรื่องคอนเทนต์ทางการเมืองบนโลกโซเชียลเมื่อปี 2016 พบว่า
๏ 37 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เบื่อหน่ายต่อคอนเทนต์ทางการเมืองที่ได้เห็น ในขณะที่ 20 เปอร์เซ็นต์ มีความชอบต่อคอนเทนต์ทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย (แต่การสำรวจในปี 2019 ตัวเลขความเบื่อหน่ายคอนเทนต์การเมืองเพิ่มขึ้นจาก 37 เปอร์เซ็นต์เป็น 46 เปอร์เซ็นต์)
๏ 59 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียตกอยู่ในความเครียดและอึดอัดใจเมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองกับคนที่ไม่เห็นพ้องกับตนเอง
๏ 49 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้โซเชียลมีเดียเห็นว่า การสนทนาเรื่องการเมืองบนโลกโซเชียลมีการแสดงความโกรธเคืองกันมากกว่าการสนทนาเรื่องอื่นๆ ทั้งนี้ 53 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าพวกเขาไม่เคารพซึ่งกันและกัน ในขณะที่ 49 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าพวกเขาไม่ค่อยมีมารยาท
๏ ปฏิกิริยาของผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่อคอนเทนต์ทางการเมือง : 39 เปอร์เซ็นต์ มีการบล็อก อันเฟรนด์ หรือ ซ่อน ผู้ที่มักชอบนำคอนเทนต์ทางการเมืองมาโพสต์บนโลกโซเชียลฯ
๏ 64 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าการเผชิญกับความเห็นที่ต่างทางการเมืองจากผู้อื่นบนโซเชียลมีเดียจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าระดับของความไม่ลงรอยต่อกันมีมากกว่าที่ตัวเองคาดคิด
ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคอนเทนต์ทางการเมืองบนโลกไซเบอร์ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการรับรู้ของผู้คน โดยเฉพาะเมื่อใกล้ถึงเวลาเลือกตั้ง หลายคนอดไม่ได้ที่จะทำตัวเป็นนักวิจารณ์ทางการเมืองและเผยแพร่ความเห็นส่วนตัวหรือแชร์ความเห็นจากแหล่งต่างๆ ส่งให้เพื่อนในกลุ่มอ่านจ นทำให้เพื่อนบางคนถึงกับออกปากว่ารู้สึกอึดอัดเพราะถูกบังคับให้อ่านในเรื่องที่ไม่อยากอ่าน และต้องการอ่านคอนเทนต์ที่ประเทืองปัญญามากกว่า
สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงอารมณ์ตอบสนองต่อคอนเทนต์ทางการเมืองบนโลกโซเชียล และยังสะท้อนถึงมารยาทในการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้ใช้โซเชียลมีเดียจะต้องเรียนรู้เองด้วยการสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองจากคนรอบตัวที่ใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อรักษามิตรภาพระหว่างเพื่อนที่นับวันจะหาได้ยากยิ่งเอาไว้ (ที่มาhttps://www.isranews.org/article/isranews-article/117498-isranews-144.html )
แบบทดสอบอารมณ์ทางการเมือง ของกรมสุขภาพจิต
ในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 กรมสุขภาพจิต มีความเป็นห่วงต่ออารมณ์ทางการเมืองของคนไทยและได้ทำแบบประเมินอารมณ์ทางการเมืองขึ้นซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการประเมินอารมณ์ทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้งปี 2566 เช่นกัน โดยให้ผู้ประเมินสามารถประเมินตัวเองและสะท้อนออกมาเป็นระดับอารมณ์ทางการเมืองว่าในช่วงที่ผ่านมาเรามีความรู้สึกต่อไปนี้อย่างไร
๏ ฉันมักอารมณ์เสียเวลาคุยเรื่องการเมือง (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
๏ เวลาคนพูดเรื่องการเมืองที่ฉันไม่เห็นด้วย ฉันอดไม่ได้ต้องเถียงเสมอ (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่) ฉันหมกมุ่นเรื่องการเมือง จนลืมเรื่องบ้านฉัน (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่) ฉันกลัวว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรงกับประเทศไทยตลอดเวลา (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
๏ ฉันมักจะพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นด้วยกับความคิดเห็นทางการเมืองของฉันเสมอ (ใช่, ไม่แน่ใจ, ไม่ใช่)
เมื่อประเมินแล้วก็ให้คะแนนและแปลผลดังนี้ ตอบว่า ใช่ = 2 คะแนน ไม่แน่ใจ = 1 คะแนน, ไม่ใช่ = 0 คะแนน เสร็จแล้วรวมคะแนนที่ได้ทั้งหมดแล้วอ่านผลประเมิน ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ได้คะแนน 0-2 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองปกติ คือ เป็นผู้ที่เปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย และตระหนักเพียงว่าเป็นความคิดเห็นทางการเมืองที่อาจไม่ตรงกันได้
กลุ่มที่ 2 ได้คะแนน 3-5 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง มีจุดยืนและรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ แต่มีความเสี่ยงที่จะเครียดและเกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ถ้าหมกมุ่นมากเกินไป จึงควรหากิจกรรมอย่างอื่นทำ เช่น ไปท่องเที่ยว หรือออกกำลังกายบ้าง
กลุ่มที่ 3 ได้คะแนน 6-10 คะแนน อารมณ์ทางการเมืองค่อนข้างรุนแรง มีความเสี่ยงต่อความเครียดและขัดแย้งกับผู้อื่นสูง จึงไม่ควรเปิดรับสื่อที่นำเสนอเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองทั้งวัน หากิจกรรมอย่างอื่นทำบ้าง และหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสถานการณ์หรือกับบุคคลที่มีความคิดรุนแรง
(ที่มา https://www.thaipbs.or.th/news/content/278809)
ข้อแนะนำเพิ่มเติม สำหรับผู้ใช้โซเชียลมีเดีย
การเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียที่มีข้อมูลสารพัดรูปแบบและคอนเทนต์ที่หลากหลายโดยเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เว้นเสียแต่ว่าเลิกใช้โซเชียลมีเดียหรือหยุดการใช้โซเชียลมีเดียชั่วคราว ซึ่งเชื่อว่าหลายคนไม่สามารถทำได้ เพราะโซเชียลมีเดียได้แทรกซึมเข้าไปในทุกส่วนของชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปเสียแล้ว
วิธีที่ดีที่สุดในการหลีกเลี่ยงความขุ่นเคืองอารมณ์จากคอนเทนต์ที่เราไม่พึงประสงค์บนโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะความเห็นทางการเมืองที่มักแสลงใจคนส่วนหนึ่งนั้น อาจต้องตั้งสติและใช้วิธีง่ายๆ ต่อไปนี้ในการรับมือ ซึ่งน่าจะได้ผลตามสมควรหากทำจริงจัง
๏ หนี : เมื่อพบคอนเทนต์ทางการเมืองที่ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวหรือถึงขั้นโกรธ ให้รีบออกจากแหล่งของคอนเทนต์นั้นในทันที หรือลบคอนเทนต์นั้นออกไป และหันไปหาคอนเทนต์อื่นๆ ที่สร้างความบันเทิงใจแทน เช่น ฟังเพลง อ่านข่าวกีฬา ดูหนัง ฯลฯ และทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับคอนเทนต์ทางการเมืองใดๆ อีก
๏ หยุด : เมื่อพบคอนเทนต์ทางการเมืองที่แสดงถึงความไม่ประสีประสาหรือความไร้สาระ ให้หยุดคิดและไตร่ตรอง อย่าเพิ่งรีบร้อนตอบโต้หรือแก้ไข เพราะเราอาจแปลความหมายในสิ่งที่เห็นไม่ตรงกับเจตนาของผู้โพสต์ความเห็นนั้นก็เป็นได้
๏ ขอโทษ : โลกโซเชียลมีเดียไม่มีเกราะป้องกันภัย (Safeguard) ไม่ว่าใครก็ตามจึงอาจถูกคุกคามจากตัวตนที่มองไม่เห็นได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ “การสูญเสียความยับยั้งชั่งใจบนโลกออนไลน์” ซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์อาจทำให้เราอยู่ในสถานะเป็นผู้คุกคามหรือพาดพิงบุคคลอื่นในทางการเมืองเสียเองโดยเราไม่รู้ตัว การแสดงความขอโทษต่อบุคคลต่อสาธารณะจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอในการยุติความขัดแย้งใดๆ บนโซเชียลมีเดีย