การเลือกตั้งปี 66 แม้จะเป็นการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 2 หลังการรัฐประหารปี 57 แต่บรรยากาศกลับแตกต่างจากปี 62 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง
โดยเฉพาะบทบาทของอดีตผู้นำการรัฐประหาร และอดีตนายทหารระดับสูงที่เคยทำตัวเป็น “กำลังสนับสนุน” ปรากฏว่าวันนี้ต้องกระโดดลงรถถัง ขึ้นรถแห่หาเสียงกันอย่างคึกคัก และอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ภาพหลายภาพเป็นภาพที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเห็น เช่น ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นรถแห่ และขึ้นเวทีปราศรัยทั้งเล็กและใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หรือภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเวทีปราศรัยด้วยลีลาไม่ต่างจากนักการเมืองอาชีพ และยังขึ้นรถไฟชั้น 3 ไปหาเสียงภาคอีสาน
ปรากฏการณ์เหล่านี้บอกอะไรกับสังคมไทยบ้าง ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ชื่อก้องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถอดมุมมองเอาไว้อย่างน่าสนใจจริงๆ...
@@ ลงรถถัง ขึ้นรถหาเสียง!
นั่งดูภาพข่าวการหาเสียงจากสื่อต่างๆ แล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นบรรยากาศการเมืองใหม่ด้วยการเดินหาเสียงของอดีตผู้นำรัฐประหาร 2557 … ภาพที่เห็นสรุปได้ว่า วันนี้พวกเขายอม “ลงจากรถถัง และขึ้นรถหาเสียง”
สองในสามของอดีตนายทหารที่ทำการยึดอำนาจครั้งนั้น วันนี้พวกเขาต้อง “ยอมจำนน” กับกระแสประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับการเลือกตั้ง 2566 ด้วยการออกขอเสียงจากพี่น้องประชาชนที่เป็น “เจ้าของอำนาจ” ทางการเมือง ซึ่งไม่ว่าพวกเขาจะคิดอย่างไร แต่วันนี้อำนาจอยู่ที่คูหาเลือกตั้ง ไม่ใช่อยู่ที่รถถัง
ในวันก่อนและหลังรัฐประหาร 2557 กลุ่มนายทหารเหล่านี้พร้อมกับเครือข่ายของพวกเขา ได้แสดงอาการต่อต้านประชาธิปไตย พร้อมกับแสดงอาการรังเกียจการเลือกตั้งด้วยการสร้าง “วาทะทางการเมือง” (narrative) หลากหลายเรื่อง วาทะเหล่านี้ขมวดปมได้เรื่องเดียว คือ การสร้างสิ่งที่ในการศึกษาทางรัฐศาสตร์เรียกว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (antipolitics ideology) ที่มีจุดยืนในการต่อต้านประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
แน่นอนว่า กระแสเช่นนี้เมื่อขับเคลื่อนอย่างสุดโต่งแล้ว จะเอื้ออย่างมากในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกันก็เอื้ออย่างมากด้วยต่อการกลับสู่อำนาจอีกครั้งของคณะทหาร เพราะพื้นฐานของกระแสนี้คือ การมี “รัฐบาลคนกลาง” ที่มาด้วยการรัฐประหาร เนื่องจากจะต้องล้มรัฐบาลพลเรือนให้สิ้นสภาพไปให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่า “คนกลาง” ในบริบทการเมืองเช่นนี้ ไม่มีใครเป็นอื่นไปได้ที่จะ “เหมาะสม” มากเท่ากับผู้นำทหาร
และในการเมืองไทยแล้ว “สเปกคนกลาง” ต้องเป็นของผู้นำทหารจากกองทัพบกเท่านั้น
การขับเคลื่อนของกระแสต่อต้านการเมืองอย่างสุดโต่งเช่นนี้ เกิดขึ้นด้วยการประท้วงทางการเมืองอย่างสุดโต่งที่มาในรูปแบบของ “กลุ่มนกหวีด” (กลุ่ม กปปส.) ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น “กลุ่มขวาจัด” ของการเมืองไทยยุคใหม่ (กลุ่มนี้จึงมีสถานะเป็นผู้ให้กำเนิด “กลุ่มสลิ่ม” ในการเมืองไทยในปัจจุบันด้วย)
หากย้อนเวลากลับไปพิจารณาสถานการณ์ทางการเมืองแล้ว เราจะตอบได้ทันทีเลยว่า การประท้วงรัฐบาลด้วยความสุดโต่งของกลุ่มนกหวีดนั้น จะต้องจบลงด้วยการยึดอำนาจอย่างแน่นอน เพราะการประท้วงครั้งนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการผนึกกำลังของกลุ่มปีกขวาทั้งหลายที่สมาทาน “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” อย่างชัดเจน และมีท่าทีอย่างไม่ปกปิดถึงความต้องการในการล้มล้างระบอบเลือกตั้ง
ดังจะเห็นได้จากท่าทีของชนชั้นนำขวาจัด ผู้นำทหารขวาจัด กลุ่มการเมืองขวาจัด และกลุ่มทุนผูกขาดที่พร้อมจะเข้าร่วมการล้มระบอบเลือกตั้ง เพื่อเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ใหม่ แต่การจะทำเช่นนี้ให้สัมฤทธิ์ผลได้จะต้องอาศัยเงื่อนไขประการเดียวคือ ผู้บัญชาการทหารบกจะต้องเป็น “ตัวเปลี่ยนเกมส์”
ฉะนั้น “เกมส์เชนเจอร์” ในการเมืองไทยในปี 2557 จึงไม่มีทางเป็นอื่น นอกจากจะต้องกระทำผ่านการรัฐประหาร อันเป็นวิธีการที่ชนชั้นนำและผู้นำทหารมีความคุ้นเคยมาโดยตลอด จนมีคำล้อกันในทางรัฐศาสตร์ว่า ทหารไทยแทบไม่ต้องเขียนแผนยุทธการในการรัฐประหารเลย เนื่องจากความคุ้นชินในการยึดอำนาจ
สำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้น พวกเขามักจะตกอยู่ใน “ภวังค์การเมือง” ที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องการถูกยึดอำนาจ แต่เมื่อกระแสนกหวีดถูกขับเคลื่อนด้วยความรุนแรงบนถนนแล้ว คำตอบจึงไม่มีทางเป็นอื่น นอกจากกลุ่มปีกขวาจัดกำลังเตรียมก่อการรัฐประหารอีกครั้ง … แล้วในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 รัฐประหารก็เกิดขึ้นจริงๆ และไม่ใช่สิ่งที่ผิดคาดแต่อย่างใด
จากวันนั้นถึงวันนี้ … ไม่น่าเชื่อว่าผู้นำทหารที่มาจากการยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคม 2557 จะอยู่ยาวมาจนถึงพฤษภาคม 2566 อันเป็น 9 ปีของความสำเร็จของการสถาปนาอุดมการณ์ต่อต้านการเมืองในการเมืองไทย และทำให้ผู้นำรัฐประหารที่มีจุดยืนในการต่อต้านประชาธิปไตยอย่างชัดเจนนั้น อยู่ในอำนาจมาได้อย่างยาวนาน พร้อมกับสร้างความ “เพี้ยน” ให้กับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยไทยอย่างมาก
แต่เมื่อการอยู่ในอำนาจต่อไปของผู้นำรัฐประหารเดิม มาถึงจุดสิ้นสุดด้วยการหมดอายุของรัฐสภาแล้ว การจะอยู่ต่อในอำนาจเกิดขึ้นได้ด้วยชัยชนะในการเลือกตั้งเท่านั้น … ต้องชนะด้วยการขอเสียงจากประชาชนเพื่อให้พรรคของตนได้คะแนนมากกว่าพรรคคู่แข่ง ไม่ใช่ชนะด้วยการเคลื่อนรถถังเข้ายึดรัฐสภา ที่แม้จะอยู่ใกล้หน่วยรถถังเพียงแค่เดินข้ามถนนก็ตาม
ภาพที่เกิดขึ้นเช่นนี้อดคิดในอีกมุมหนึ่งไม่ได้ว่า นี่คือ “ชัยชนะของประชาธิปไตย” … อดีตผู้นำรัฐประหารวันนี้ต้องออกเดินขอเสียงจากประชาชน … ต้องขึ้นรถไฟชั้น 3 เดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อหาเสียง และอีก “หลายๆ ต้อง” ในแบบที่ตอนยึดอำนาจนั้น พวกเขาไม่เคยต้องสนใจ เพราะในวันรัฐประหาร “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน” แต่ในวันเลือกตั้ง “อำนาจรัฐเกิดจากปลายปากกา” ของประชาชนที่ใช้กาบัตรเลือกตั้ง
วันนี้ ประชาธิปไตยบังคับให้อดีตนักรัฐประหารต้องยอมรับกระบวนการเลือกตั้ง ด้วยการเป็น “นักการเมือง” และต้องขอเสียงจากประชาชนในการอยู่ในอำนาจ ภาวะเช่นนี้อาจจะไม่ได้บอกว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ชนะ แต่ต้องการบอกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” ชนะ ดังจะเห็นได้ว่าวันนี้ผู้นำรัฐประหารถูกบังคับให้ต้อง “ลงจากรถถัง และขึ้นรถหาเสียง” เพื่อที่จะได้อยู่ในอำนาจหลังการเลือกตั้ง
วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ กำลังบังคับให้ผู้นำรัฐประหารต้องยอมรับว่า อำนาจรัฐเกิดจาก “รถหาเสียง ไม่ใช่รถถัง” …
ก็หวังว่า ผู้นำทหารในยุคหลังจะเห็นบทเรียนสำคัญว่า “อำนาจรัฐเกิดจากประชาชน” !