นักศึกษาไทยในซูดาน 62 คน บิน C-130 จากรุงเทพฯถึงชายแดนใต้ ครอบครัวรอต้อนรับอย่างอบอุ่น ขอบคุณรัฐบาลช่วยเหลือบุตรหลานกลับบ้านอย่างปลอดภัย ด้านกระทรวงศึกษาฯ เทียบโอนวิชามหาวิทยาลัยให้ได้เรียนจบ หากกลับไปเรียนต่อซูดานไม่ได้อีก
จากสถานการณ์สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพซูดาน กับกองกำลังติดอาวุธ RSF ที่กรุงคาร์ทูม สาธารณรัฐซูดาน ส่งผลต่อพลเรือนคนไทยและนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาต่อที่นั่น ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางไปจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลซาอุดิอาระเบียจับมือกันช่วยเหลืออพยพเคลื่อนย้ายนักศึกษาและคนไทยให้ลงเรือออกจากประเทศซูดานข้ามทะเลมายังประเทศซาอุดิอาระเบีย จากนั้นขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย ถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง เมื่อคืนวันพฤหัสดบีที่ 27 เม.ย.66 นั้น
ล่าสุดเวลา 11.40 น. วันศุกร์ที่ 28 เม.ย.66 กลุ่มนักศึกษาเยาวชนไทยที่ศึกษาในซูดานซึ่งเดินทางกลับถึงประเทศไทยชุดแรก เป็นนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช และพัทลุง รวม 62 คน ได้เดินทางด้วยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศ จากกรุงเทพฯ ถึงสนามบินบ่อทอง หรือ ท่าอากาศยานปัตตานี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 รอต้อนรับกลุ่มเยาวชน พร้อมทั้งมอบดอกกุหลาบให้ทันทีที่เครื่องลงจอด
กลุ่มเยาวชนต่างทยอยลงมาจากเครื่องบินพร้อมสัมภาระติดตัว ก่อนไปขึ้นรถบัสเดินทางไปยัง ค่ายกองพลทหารราบที่ 15 (พล.ร.15) ซึ่งเจ้าหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ไว้เพื่อ เพื่อให้เหล่าบรรดาครอบครัวของกลุ่มเยาวชนมารอต้อนรับ เมื่อถึงค่าย พล.ร.15 ต่างเดินเข้าสวมกอดกับพ่อแม่และคนในครอบครัว จนน้ำตาไหลออกมา หลายคนถึงขั้นร่ำไห้ด้วยความดีใจ บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นของความรักที่ได้กลับมาเจอกันอย่างปลอดภัยอีกครั้ง หลังจากผ่านเรื่องเลวร้ายมา
ส่วนการศึกษาต่อของกลุ่มเยาวชนนักศึกษาไทยที่เรียนต่อที่ประเทศซูดาน ทางกระทรวงศึกษาธิกา รและ ศอ.บต. ได้เตรียมการไว้ขั้นต้นว่า จะรอดูสถานการณ์ความรุนแรงของประเทศซูดานว่าจะร้ายแรงขึ้นอีกหรือไม่ ซึ่งหากไม่สามารถกลับไปศึกษาต่อที่ซูดานได้ ก็จะเตรียมการให้กลุ่มเยาวชนนักศึกษาได้เทียบโอนวิชากับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพื่อให้ได้สำเร็จการศึกษาครบทุกขั้นตอน
นายอะหมัด เจะแม หนึ่งในนักศึกษาไทยที่เดินทางกลับจากซูดาน เล่าว่า จุดที่เกิดการปะทะไม่ไกลจากที่พักมากนัก ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิดตลอดเวลา บางครั้งทุกคนก็ต้องหมอบกับพื้น
"การใช้ชีวิตอยู่ที่โน่นลำบากมาก อาหารการกิน น้ำดื่มก็มีน้อย อีกทั้งร้านค้าต่างๆ พากันปิดหมด ทุกคนต้องอยู่ในบ้านอย่างเดียว ส่วนจะเรียนต่อหรือไม่นั้น ถ้าเหตุการณ์สงบลงก็จะไปเรียนต่อ ถ้ายังไม่สงบก็จะหาที่เรียนที่เทียบโอนหน่วยกิตในไทย ดีใจมากที่ได้กลับมาประเทศไทยอย่างปลอดภัย ตอนนั้นรู้สึกกลัวมาก ทำอะไรไม่ถูก โชคดีที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลซาอุดิอาระเบียให้การช่วยเหลือ พากลับบ้านในที่สุด ต้องขอขอบคุณมากๆ"
นางอัสมะ ดูงอโบด ครอบครัวนักศึกษารายหนึ่ง เปิดเผยว่า คอยติดต่อหาน้องอยู่ตลอด เพราะเป็นห่วงมาก
"น้องบอกว่าได้ยินเสียงปืน บางครั้งต้องหาที่หลบและมีทหารเข้ามา ก็พยายามติดต่อน้องตลอด อยากให้น้องกลับมาให้ได้ จนวันนี้ทางรัฐบาลไทยได้ช่วยเหลือ รู้สึกโล่งใจมาก เจอครั้งแรกก็สวมกอดน้อง ท่ามกลางน้ำตาที่ไหลออกมา ขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือน้อง และเด็กไทยในซูดานทุกคน"
@@ รองผู้ว่าฯยะลา ต้อนรับ นศ.ไทยชาวยะลา กลับภูมิลำเนา
วันเดียวกันนี้ ที่ห้องประชุมสำนักงานคลังจังหวัดยะลา นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา พร้อมด้วย พ.อ.วิชิต ปัญติภานุวัฒน์ รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา นายธราวุธ ช่วยเกิด ปลัดจังหวัดยะลา ให้การต้อนรับนักเรียน นักศึกษาไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.ยะลา จำนวน 18 คน หลังเดินทางกลับจากซูดานถึงประเทศไทยชุดแรก
นายบาซอรี อารียู ตัวแทนนักศึกษาไทยในซูดาน กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การตอนรับอย่างอบอุ่น ไม่คิดว่าจะมีคนมาต้อนรับเยอะขนาดนี้ ส่วนตัวรู้สึกตื่นตันใจเป็นอย่างยิ่ง ไม่คิดด้วยซ้ำว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ดีใจที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือให้ตัวเองมีชีวิตรอดรอดกลับมาอย่างปลอดภัย
ด้าน นายมะดามิง อารียู ผู้ปกครองของนักศึกษาไทยจากซูดาน กล่าวขอบคุณเช่นกันว่า รัฐบาลให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 จนมาถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในซูดาน รู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมากที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยคนไทยที่อยู่ต่างแดน และดีใจมากที่ลูกกลับมาอย่างปลอดภัย