“นักศึกษาชายที่อยู่กับกลุ่มของลูกสาว เอาของไปช่วยได้ครั้งเดียว พอจะเอาไปให้อีกก็โดนไล่ยิงเลยต้องกลับ เพราะตอนนี้ในมหาลัยวิทยาลัยถูกยึด เด็กๆ ออกมาซื้อของไม่ได้ อยากขอความช่วยเหลือรัฐบาลไทย ช่วยนักศึกษาไทยที่ซูดานโดยด่วน”
นี่คือเสียงจากพ่อแม่ผู้ปกครองของนักศึกษาไทยในซูดาน ซึ่งจำนวนไม่น้อยเป็นเด็กและเยาวชนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปศึกษาต่อ และต้องเผชิญกับเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศของซูดาน เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างกองทัพซูดาน กับกองกำลังติดอาวุธกึ่งทหาร หรือ RSF ในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของสาธารณรัฐซูดาน
รายงานล่าสุดระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วุ่นวายราวๆ 200 คน และบาดเจ็บอีกนับพันคน สถานการณ์เข้าขั้นตึงเครียด หลายประเทศสั่งอพยพพลเมืองของตนออกจากซูดาน เช่น รัฐบาลญี่ปุ่น
นักศึกษาหญิงไทยรายหนึ่ง เผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ (วันเกิดเหตุ) เกิดเหตุรุนเเรงจนบ้านสั่น หลังจากนั้นมีการทำสัญญาหยุดยิง หยุดรบ 24 ชั่วโมง สถานการณ์ก็เบาลง เเต่บางพื้นที่ก็ยังมีปะทะอยู่ เเต่หลังมัฆริบ (หลังตะวันตกดิน) จะเเรงอีกไหมต้องรอดู
“ความรู้สึกตอนนี้อยากกลับกันมาก เเต่กลัวกลับไปเเล้วไม่ได้กลับมาเรียนอีก เพราะมีคนที่จบเเล้วกับกำลังจะจบ อีกอย่างค่าตั๋วเครื่องบินเเพงมากด้วย เเล้วก็ผู้ปกครองเป็นห่วง เพราะเขาทิ้งระเบิดด้วย มีรบกันทั้งทางบกและทางอากาศ นักศึกษาทำได้เเค่หมอบเเล้วกอดกับเพื่อน มีร้องไห้กันด้วย”
นี่คือความรู้สึกและสถานการณ์จริงจากในพื้นที่ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอดจนญาติมิตรวิตกกังวลกันอย่างมา
@@ รู้จัก “ซูดาน” แห่งทวีปแอฟริกา
สาธารณรัฐซูดาน เคยเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในทวีปแอฟริกา แต่ภายหลัง “เซาท์ซูดาน” แยกตัวออกไปเมื่อเดือน ก.ค.2554 ทำให้สาธารณรัฐซูดานสูญเสียแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ประมาณ 5 พันล้านบาร์เรล
ประเทศซูดาน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีเมืองหลวงชื่อคาร์ทูม มีพรมแดนทางทิศเหนือติดกับประเทศอียิปต์ ทิศใต้ติดต่อกับเซาท์ซูดาน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับทะเลแดง ทิศตะวันออกติดกับเอริเทรีย และเอธิโอเปีย ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดกับเคนยาและยูกันดา ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ทิศตะวันตกติดกับประเทศชาด และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับลิเบีย
ปี 2554 รัฐบาลไทยส่งทหารราบเข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพ UNAMID ในดาร์ฟูร์ ซึ่งมีสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐซูดานกับกลุ่มผู้ต่อต้าน ต่อมาสถานการณ์ดีขึ้นจากการเจรจาสันติภาพของทั้งสองฝ่าย ทว่าทุกอย่างกลับตาลปัตร เมื่อเกิดการประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี และกองทัพซูดานเข้ายึดอำนาจ โค่นล้มผู้นำเมื่อปี 2562 ก่อนจะครองอำนาจเรื่อยมา กระทั่งมาขัดแย้งกันเอง กลายเป็นสงครามกลางเมืองรอบล่าสุด
@@ บัวแก้วเร่งจัดหาสิ่งของยังชีพส่งให้คนไทย
สำหรับท่าทีของรัฐบาลไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ได้มีประกาศเตือนให้คนไทยและนักเรียนนักศึกษาไทยที่พำนักอยู่ในซูดานเพิ่มความระมัดระวังตัว โดยให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการปะทะกัน พร้อมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำ และกฎหมายของทางการซูดานด้วย
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุในซูดาน ทาง ศอ.บต.ได้รับการประสานงานจากตัวแทนนักศึกษาไทย ณ สาธารณรัฐซูดาน เพื่อเร่งให้การประสานความช่วยเหลือในส่วนของปัจจัยยังชีพ เนื่องจากทางการซูดานได้ประกาศห้ามประชาชนออกจากเคหสถานในบริเวณพื้นที่ที่กำหนด (เคอร์ฟิว) โดย ศอ.บต.ได้ประสานความร่วมมือไปยังกระทรวงการต่างประเทศ
ทางกระทรวงต่างประเทศแจ้งว่า ปัจจุบันโดยกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการอนุมัติงบประมาณ เพื่อนำไปจัดหาปัจจัยยังชีพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดหา เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
@@ ศอ.บต.ประสานทุกหน่วย - การบินไทย เตรียมแผนรับมือขั้นต่อไป
ส่วนการดำเนินการในขั้นต่อไปทางกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายความมั่นคง การบินไทย และส่วนราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชุมเพื่อเตรียมแผนในระดับต่างๆ เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ต่อไป
รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวอีกว่า ศอ.บต.จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อติดตามการดูแลให้ความช่วยเหลือ และจะได้สื่อสารข้อมูลชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เดินทางไปศึกษาต่อ รวมทั้งทำงาน ณ สาธารณรัฐซูดานในห้วงเวลานี้
ทั้งนี้ หากนักศึกษาและผู้ปกครองมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สามารถประสานหรือส่งข้อมูลมาได้ที่กลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดี (ส่วนงานการต่างประเทศ) 073 – 274101 หรือทาง Facebook Page FAS : Foreign Affairs Strategy Division