มีประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งจากสถาบันพระปกเกล้า คือ จำนวนผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตที่เป็นผู้หญิง ในการเลือกตั้งหนนี้ มีมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คือปี 2562
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า โพสต์เฟซบุ๊กเปิดข้อมูลจำนวนผู้สมัคร ส.ส.หญิง เอาไว้อย่างน่าสนใจ ในยุคที่ทุกคนทุกฝ่ายเรียกร้องความเท่าเทียม คนเท่ากัน และความเสมอภาคระหว่างหญิง-ชาย
อาจารย์ถวิลวดี สรุปเอาไว้แบบนี้
- ปัจจุบันมีความพยายามเสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศในทางการเมือง เพราะถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การส่งเสริมให้ผู้หญิงได้มีโอกาสทำงานในระดับตัดสินใจทางการเมือง ถือเป็นเรื่องสำคัญ
- การสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต 3-7 เม.ย.66 พบว่า
จำนวนผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตทั้งหมด 4,781 คน จาก 70 พรรคการเมือง
เป็นชาย 3,903 คน คิดเป็นร้อยละ 81.64
เป็นผู้หญิง 878 คน คิดเป็นร้อยละ 18.36
กทม.เป็นพื้นที่ที่มีผู้สมัครเพศหญิงมากที่สุด คือ 132 คน คิดเป็นร้อยละ 26.5 ผู้สมัครชาย 366 คน คิดเป็นร้อยละ 73.5
เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครรวมทั้งสิ้น 150 คน เป็นหญิง 40 คน เป็นชาย 110 คน อัตราส่วนของผู้หญิงคือร้อยละ 26.7 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่า กทม.เล็กน้อย
จังหวัดที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่เป็น เพศหญิงเลย
จ.ตราด มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 8 คน เป็นชายล้วน
จ.ระนอง มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 10 คน เป็นชายล้วน
จังหวัดที่มีผู้สมัครเป็นเพศหญิงเพียงคนเดียว เช่น
จ.นราธิวาส มีผู้หญิง 1 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 47 คน
จ.น่าน มีผู้หญิงสมัครหญิง 1 คน จากผู้สมัครทั้งสิ้น 29 คน
จ.ชัยนาท มีผู้สมัครหญิง 1 คน จากผู้สมัครทั้งสิ้น 21 คน
จ.สิงห์บุรี มีผู้หญิง 1 คน จากผู้สมัครทั้งหมด 10 คน
- เปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ปี 2562 มีผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตรวมทั้งสิ้น 11,181 คน
เป็นชาย 8,702 คน หรือร้อยละ 77.83
เป็นหญิง 2,479 คน หรือร้อยละ 22.17
การเลือกตั้งปี 66 ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ระบบเขตมีจำนวนน้อยลงกว่าครั้งก่อนมาก และมีอัตราส่วนของผู้สมัครหญิงน้อยกว่าเดิมเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน กล่าวคือปีนี้มีผู้สมัคร ส.ส. หญิงเพียง 878 คน ลดลงถึง 1,601 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ลดลงจากร้อยละ 22.17 เหลือเพียงร้อยละ 18.36
จากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา โอกาสที่ผู้หญิงจะได้รับเลือกในระบบเขต คิดเป็นร้อยละ 2.2 กล่าวคือสมัคร 100 คน ผู้หญิงมีโอกาสได้รับเลือก 2 คน ขณะที่ผู้ชายมีโอกาสได้รับเลือกร้อยละ 3.4
คิดในภาพรวม ประเทศไทยมีจำนวน ส.ส.หญิงในสภา ร้อยละ 16 เท่านั้น
อาจารย์ถวิลวดี วิเคราะห์ปิดท้ายว่า ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าโอกาสของผู้หญิงในการเลือกตั้งจะมีมากขึ้นหรือไม่ เพราะตัวเลือกมีจำนวนน้อยลงมาก สาเหตุของการสมัครน้อยลงน่าจะมาจาก
- ระบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไป
- ความตื่นตัวทางการเมืองที่ดูเหมือนจะไม่คึกคักเหมือนการเลือกตั้ง 4 ปีที่แล้ว
- การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว คะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ทำให้มีความคาดหวังเข้าไปทำงานการเมืองมากกว่า
- การเลือกตั้งปีนี้มีข่าวและข้อมูลการใช้เงินอย่างมหาศาล
- ผู้หญิงคิดว่าการลงแข่งขันในครั้งนี้ โอกาสที่จะได้รับเลือกน่าจะมีน้อยลง
- ความสนใจของประชาชนมุ่งไปที่เรื่องอื่นมากกว่าการที่จะให้โอกาสผู้หญิงเข้าไปทำงานทางการเมือง
- การแข่งขันทางการเมืองเป็นแบบ “แบ่งขั้ว”
- ผู้หญิงที่สามารถลงสมัครและมีโอกาสได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขตในครั้งนี้ ต้องเป็นผู้มีชื่อเสียง ได้รับการสนับสนุน จากฐานอำนาจเดิม หรือมาจากครอบครัวนักการเมือง