ความคืบหน้ากรณี “ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา” นำเสนอข่าวเกี่ยวกับคลิปวิดีโอที่ถูกแชร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ความยาวประมาณ 1 นาที เป็นภาพชายฉกรรจ์แต่งชุดลายพรางคล้ายทหารจำนวนนับสิบคน สะพายอาวุธสงครามแทบทุกคน บางคนใส่เสื้อยืด แต่กางเกงลายพราง โดยมีชาย 3 คนรุมทำร้ายร่างกายเยาวชนที่คาดว่า น่าจะเป็นเยาวชนมุสลิม เนื่องจากนุ่งโสร่งสีบานเย็น สวมเสื้อสีขาว-ดำ ทั้งตบ ต่อย เตะ แบบไม่เพลามือ โดยเยาวชนชายที่ตกเป็นเหยื่อได้แต่ปัดป้อง ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้
ในคลิปวีดีโอที่เผยแพร่กันช่วงแรก มีการเปิดเพลงมลายูปัตตานีทับเสียงจริงในภาพเหตุการณ์ ทำให้ไม่ได้ยินว่าคนในคลิปพูดอะไรกันบ้าง ทางฝ่ายทหาร และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงชี้แจงว่าน่าจะเป็นคลิปเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย
ทว่าต่อมีการค้นพบคลิปต้นฉบับที่ไม่ได้ใส่เพลงมลายูปัตตานีทับลงไป ทำให้ได้ยินเสียงพูดของชายฉกรรจ์แต่งชุดลายพราง พูดภาษาไทย เนื้อหาแสดงความโกรธแค้นเยาวชนที่ถูกทำร้าย เพราะเชื่อว่าอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารและทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐนั้น
@@ รองแม่ทัพ 4 อ้างเกิดนานแล้ว ต้องตรวจสอบก่อน
เมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏเพิ่มขึ้น “ทีมข่าวอิศรา” จึงสอบถามไปยัง พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
พล.ต.ปราโมทย์ ตอบว่า จากลักษณะเหตุการณ์ตามคลิป น่าจะเกิดมานานมากแล้ว ฉะนั้นจะต้องตรวจสอบดูว่าเป็นเหตุการณ์จริงหรือไม่ เกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร และเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานใด
@@ ชาวบ้านเรียกร้อง กอ.รมน.ภาค 4 เร่งตรวจสอบ
“ทีมข่าวอิศรา” สอบถามเรื่องนี้จากชาวบ้านในพื้นที่ นายมูซอ (สงวนนามสกุล) ชาว จ.ปัตตานี แสดงความเห็นว่า ได้ดูคลิปวีดีโอชิ้นนี้แล้ว เชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่ทราบว่าเกิดขึ้นเมื่อใด จึงอยากให้ กอ.รมน.ภาค 4 ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน
“เรื่องแบบนี้ทำให้เสียหาย และสร้างความรู้สึกเจ็บปวดให้กับกลุ่มคนในพื้นที่ ไม่มีใครรับได้หรอกที่ต้องเห็นการกระทำแบบนั้นจากเจ้าหน้าที่ ถ้าเยาวชนที่ถูกกระทำเป็นลูกหลานเรา เราจะทำอย่างไร ก็อยากให้เร่งตรวจสอบแล้วตอบคำถามสังคม ยุคนี้ทหารใหญ่ เขาย่อมทำได้ทุกอย่าง”
@@ “กลุ่มด้วยใจ” หวั่นสร้างกระแสเกลียดชัง จี้รัฐแจงที่มา
นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการนำคลิปเก่ามาใช้เพื่อสร้างความเกลียดชังโกรธแค้น ถ้าเด็กและเยาวชนดูก็อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ฉะนั้นควรจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจต่อสาธารณะว่าที่มาที่ไปของคลิปนี้เป็นอย่างไร และปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ปรับปรุงการทำงานอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก
ขณะเดียวกันหากยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยใดปฏิบัติงานแบบนี้อยู่ ก็ถือเป็นการละเมิด ต้องมาพิจารณาว่า เข้าข่ายการกระทำทรมานหรือไม่ และหากยังมีอยู่ ประชาชนควรแจ้งเบาะแสมายังองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 (พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ทรมานฯ)
“ไม่แน่ใจว่ากฎหมายย้อนหลังได้หรือไม่ถ้าเป็นกรณีทำร้ายหรือซ้อมทรมาน แต่ถ้าเป็นกรณีอุ้มหาย กฎหมายให้ย้อนหลังได้ เพราะความผิดยังมี คนยังหายสาบสูญ” อัญชนา กล่าว
@@ รอด พ.ร.บ.อุ้มหาย-ทรมาน แต่ตั้งคดีอาญาได้เลย
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ทรมานฯ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ในคลิปวีดีโอ ต้องตรวจสอบว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่ ถ้าเกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็ไม่อาจจะดำเนินการอะไรได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหาย-ทรมานฯ แต่ยังคงดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาปกติได้อยู่
“เรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่คณะกรรมการตามกฎหมายเพิ่งทราบ ก็สามารถหยิบมาเป็นประเด็นพิจารณาได้ แต่จะนำไปสู่การดำเนินคดีซ้อมทรมานคงไม่ได้ เพราะหลักกฎหมายต้องไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ แต่การกระทำนั้นก็เป็นความผิดอาญาอยู่แล้ว โทษก็ไม่ได้เบา ถ้าเจ้าพนักงานทำร้ายร่างกายประชาชน ถือว่าโทษหนัก”
“ถ้าผู้กระทำซ้อมทรมาน กระทำก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะไปบอกว่าเขาผิดก็ไม่ได้ เพราะขณะกระทำยังไม่มีกฎหมายนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการกระทำนั้นไม่มีความผิด เพราะมันต้องมีความผิดอยู่แล้ว โดยสามัญสำนึก การทำร้ายคน การทรมานคนอะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องไปเปิดดูประมวลกฎหมายอาญา หลายมาตราโทษก็ไม่ใช่เบา เพียงแต่กฎหมายซ้อมทรมานนี้โทษมันสูงมาก จำคุก 25 ปี 30 ปี สูงมากเลย”
พ.ต.อ.วิรุตม์ ในฐานะอดีตรองจเรตำรวจ บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้สามารถเริ่มคดีอาญาได้เลย
“เมื่อมีการกระทำความผิด โดยหลักการก็ต้องเริ่มคดีอาญา สมมติเรื่องเกิดมา 10 ปี 20 ปีก็ต้องเริ่มคดีอาญา แล้วไปสรุปว่ามันขาดอายุความ ทุกการกระทำความผิดก็กล่าวหาไป คนที่เขาเดือดร้อนเขาก็กล่าวหา จะฟ้องอะไรก็แล้วแต่ สมมติสอบสวนแล้วปรากฏว่าเหตุเกิดมา 20 กว่าปี ก็สรุปไปว่าขาดอายุความ แต่เมื่อทราบว่ามีเหตุการณ์กระทำความผิด จะไม่สอบสวนเลยไม่ได้ ต้องสอบก่อน ถ้าขาดอายุความก็สรุปว่าขาดอายุความ แล้วต้องส่งสำนวนให้อัยการสั่ง ไม่ใช่จะบอกว่าขาดอายุความแล้วจบ มันไม่ใช่” เลขาธิการ สป.ยธ.ระบุ