ข่าวคราวสร้างความสับสน และอาจเรียกว่าเป็นปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO รูปแบบหนึ่ง ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องดาษดื่นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจผิดเพื่อปลุกกระแสให้คนในพื้นที่เกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมุ่งเน้นไปที่ทหาร ซึ่งมีบทบาทสูงในภารกิจดับไฟใต้ที่ปลายด้ามขวาน
เป้าหมายของการเผยแพร่ข่าวลบ แต่เป็น “ข่าวเท็จ” คือกลุ่มเยาวชน เพื่อสร้างความโกรธแค้น และคนทั่วไป เพื่อสร้างความชิงชัง
“ข่าวเท็จ” ลักษณะนี้ เมื่อไม่มีการแก้ไขให้ทันท่วงที ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อ และแชร์ต่อ แม้ภายหลังจะมีความพยายามแก้ข่าว ชี้แจง แต่ความรู้สึกลบได้สร้างภาพจำในมโนสำนึกของคนจำนวนหนึ่งเสียแล้ว วิธีการแบบนี้จะยิ่งเพิ่มกระแสต้านเจ้าหน้าที่รัฐ ในยามที่กระทำการผิดพลาด เกินสมควรแก่เหตุ เพราะจะถูกเหมารวมกับข่าวเท็จที่แพร่อยู่เป็นระยะไปด้วย
ล่าสุดมีการแชร์คลิปวีดีโอในโซเซียลมีเดียของคนชายแดนใต้ ความยาวประมาณ 1 นาที เป็นภาพชายฉกรรจ์แต่งชุดลายพรางคล้ายทหารจำนวนนับสิบคน กำลังรุมทำร้ายร่างกายเยาวชนคนหนึ่ง ทั้งตบ ต่อย เตะ แบบไม่เพลามือ ขณะที่เยาวชนชายที่ตกเป็นเหยื่อได้แต่ปัดป้อง ไม่สามารถตอบโต้อะไรได้ เพราะฝ่ายชายฉกรรจ์แต่งชุดลายพรางมีมากกว่า และสะพายอาวุธสงครามแทบทุกคน บางคนใส่เสื้อยืด แต่กางเกงลายพราง
เยาวชนใส่เสื้อสีขาว-ดำ และนุ่งผ้าโสร่งสีบานเย็น ทำให้อนุมานได้ว่าเป็นเด็กมุสลิม
แม้ในคลิปจะไม่มีเสียงพูดจาใดๆ และไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน แต่ผู้จัดทำคลิปได้เปิดเพลงเป็นภาษามลายูที่ใช้กันในพื้นที่ปัตตานี เนื้อเพลงกล่าวถึงการทำร้ายร่างกายเด็กวัยรุ่นในพื้นที่ ซึ่งถูกรัฐบาลจับมา โดยเป็นการทำร้ายร่างกายโดยไม่มีทางสู้ เพราะเป็นชาวบ้านธรรมดา และอีกฝ่ายเป็นรัฐบาล
การเปิดเพลงที่มีเนื้อหาเช่นนี้ ผู้จัดทำคลิปจึงจงใจให้คนชมคลิปเชื่อว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเหยื่อน่าจะเป็นเยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ชายฉกรรจ์ในชุดลายพรางเกือบทุกคนในคลิป สวมรองเท้าผ้าใบสีขาว ไม่ใช่รองเท้าคอมแบ็ต และบางคนสวมเสื้อเกราะอ่อน ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นทหารไทย จะไม่สวมรองเท้าผ้าใบ และที่เสื้อเกราะก่อนจะมีสัญลักษณ์หรือข้อความบอกต้นสังกัด เช่น ทภ.4 ซึ่งหมายถึงกองทัพภาคที่ 4 แต่เครื่องแต่งกายของชายฉกรรจ์ในภาพไม่ปรากฏตัวอักษรที่สื่อถึงทหารไทยเลย
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ตอบคำถามเกี่ยวกับที่มาของคลิปนี้ว่า “ขอตรวจสอบก่อน แต่ดูจากลักษณะการแต่งกายไม่เหมือนทหารไทย”
ขณะที่ พ.อ.เกียรติศักดิ์ ณีวงษ์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ชี้แจงว่า ดูจากการแต่งกายไม่ใช่เครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ไทย ทรงผมก็ยาวเกินไป เจ้าหน้าที่ไทยไม่สามารถไว้ผมทรงนี้ได้ หากมีใครไว้ ต้องถูกทำโทษแล้ว รวมถึงสำเนียงที่ใช้ในการพุดคุย แม้จะมีความพยายามใส่เพลงลงไปเพื่อกลบเสียงพูด แต่ก็ยังฟังเสียงสำเนียงในคลิปได้ว่า ไม่ใช่สำเนียงไทย
“อยากให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการเสพสื่อ จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มที่พยายามทำลายภาพลักษณ์และสร้างความขัดแย้งในพื้นที่” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. ระบุ
@@ เพจแชร์คลิปหลงเชื่อสนิทใจทหารไทยแน่นอน!
“ทีมข่าวอิศรา” ยังได้สอบถามไปยังเพจเฟซบุ๊กที่มีการแชร์คลิปนี้ ได้รับคำชี้แจงว่า “เห็นมีการแชร์อยู่ในโซเชียลฯ เราคนแก่ ดูแล้วสะเทือนใจ เราฟังเพลงได้อย่างเดียว ไม่รู้หรอกว่าคลิปนั้นเกิดขึ้นที่ไหน ฟังเพลงดูภาพ ก็เข้าใจว่ายังมีการทำร้ายร่างกายเยาวชนในพื้นที่ เห็นลงเสียงภาษาบ้านเรา ก็แชร์ต่อ ไม่ได้คิดอะไรมาก ปกติทุกวันก็ดูเฟซบุ๊ก ดูไลน์ ช่วงว่างๆ จากการดูแลหลาน ก็ดูเพื่อฆ่าเวลาตามประสาคนแก่ เห็นอะไรก็แชร์ ก็แค่นั้น”
“ถ้าคลิปไม่ได้เกิดเหตุในบ้านเรา ก็ไม่ควรเอามาแชร์และลงเสียง ทำคนแก่อย่างพวกเราพลอยเชื่อตามคลิป โชคดีที่มีนักข่าวมาถาม ไม่อย่างนั้นก็ยังเข้าใจว่าเหตุเกิดในบ้านเรา”