การเมืองระหว่างประเทศตึงเครียดขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 2023 ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับกุมผู้ต้องหาระดับโลก
ในข้อกล่าวหาระบุว่า ประธานาธิบดีรัสเซีย Vladimir Putin และเจ้าหน้าที่ชั้นสูงผู้บริหารการอุปถัมภ์เด็ก Maria Lvova-Belova-Belova มีความผิด ฐานวางแผนและเนรเทศเด็กออกจากยูเครนไปอยู่รัสเซีย
ศาลฯระบุว่า จากการสืบสวนโดยเจ้าหน้าที่ของศาลไม่ต่ำกว่า 42 คน โดยลงพื้นที่เก็บข้อมูลในยูเครน มีหลักฐานชัดเจนว่า ผู้ต้องหาทั้งสองคนนี้เป็นผู้นำในการวางแผนและสั่งการ รวมทั้งละเว้นหน้าที่ในการควบคุมฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ
การดำเนินคดีครั้งนี้เป็นคดีแรกของศาลฯตั้งแต่สงครามในยูเครนเริ่มต้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2022
ทางการรัสเซียออกมาประณามการดำเนินคดีและหมายจับนี้ว่า เป็นการกระทำสุดโต่งและไร้ความรับผิดชอบ และย้ำว่ารัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลนี้ และไม่ยอมรับอำนาจของศาล
โอกาสที่จะมีการจับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องหานั้นเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากในทางปฏิบัติแล้วยังไม่มีมาตรการที่ทำได้ รัสเซีย สหรัฐ ยูเครนและจีน เป็นตัวอย่างของประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลฯนี้
กฏข้อบังคับของศาลระบุไว้ชัดเจนว่า การว่าความในศาลจะต้องมีจำเลยมาปรากฏตัวด้วย ซึ่งในกรณีนี้ก็คงไม่หวังที่จะให้รัสเซียส่งตัวผู้ต้องหามา ยกเว้นจะมีการจับกุมและส่งตัวจากประเทศที่มีกฎหมายเรื่องนี้ชัดเจน
เด็กและเยาวชนจากยูเครนซึ่งถูกจับตัวและส่งไปรัสเซียเพื่อให้สถาบันหรือครอบครัวรับไปอุปถัมภ์นั้น จากรายงานของทางการรัสเซียเป็นจำนวนประมาณอย่างน้อย 1,847 คน กระจายไปหลายเมืองใน 19 ภูมิภาคในรัสเซีย บางคนถูกส่งไปไกลหลายพันไมล์จากชายแดนยูเครน ส่วนรายละเอียดนั้นศาลจะเปิดเผยเป็นแต่ละคดี
ด้านรัฐบาลรัสเซียก็ไม่ปฏิเสธในเรื่องนี้ และอ้างว่าการนำเด็กจากยูเครนไปเลี้ยงดูและฝึกสอนวัฒนธรรมในรัสเซียนั้นเพื่อความปลอดภัย เพราะจะทิ้งเด็กและเยาวชนไว้ในแดนสงครามที่มีอันตรายไม่ได้ และขณะเดียวกันได้ใช้เรื่องนี้รณรงค์ให้ชาวรัสเซียเห็นว่า การอุปถัมภ์คือเมตตาและจะส่งผลถึงความเป็นปึกแผ่นของวัฒนธรรมรัสเซียในอนาคต
ศาลอาญาระหว่างประเทศ International Criminal Court; ICC เป็นศาลระหว่างประเทศซึ่งมีที่ทำการอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเขตอำนาจดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ 4 ฐาน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, อาชญากรรมสงคราม, และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ก่อตั้งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นส่วนเสริมของระบบยุติธรรมที่แต่ละประเทศมีอยู่ จึงมีเขตอำนาจเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น เช่น เมื่อศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแล้ว หรือเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือรัฐหนึ่ง ๆ เสนอคดีมาให้พิจารณา ศาลนี้เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 อันเป็นวันที่ธรรมนูญกรุงโรมเริ่มใช้บังคับ ธรรมนูญดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีซึ่งวางรากฐานและกำหนดการบริหารจัดการของศาล รัฐที่เข้าเป็นภาคีแห่งธรรมนูญจะนับเป็นรัฐสมาชิกของศาล ปัจจุบัน มีรัฐภาคี 123 รัฐ
องค์กรหลักของศาลมี 4 องค์กร คือ คณะประธาน, แผนกตุลาการ, สำนักงานอัยการ, และสำนักงานทะเบียน ประธานศาลเป็นตุลาการที่ได้รับเลือกมาจากตุลาการคนอื่นในแผนกตุลาการ สำนักงานอัยการมีอัยการเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่สืบสวนคดีและส่งฟ้องต่อแผนกตุลาการ ส่วนสำนักงานทะเบียนมีนายทะเบียนเป็นหัวหน้า รับผิดชอบงานธุรการทั้งปวงของศาล ซึ่งรวมถึง การบริหารกองบัญชาการของศาล หน่วยขัง และสำนักงานทนายจำเลย
ปัจจุบัน สำนักงานอัยการได้เปิดการสืบสวนแล้ว 10 คดี และกำลังไต่สวนเบื้องต้นอีก 11 คดี มีบุคคล 44 คน ถูกฟ้องต่อศาล ซึ่งรวมถึง โจเซฟ โคนี หัวหน้ากบฏยูกันดา, อุมัร อัลบะชีร ประธานาธิบดีซูดาน, อูฮูรู เกนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา, มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย, โลร็อง บากโบ ประธานาธิบดีโกตดิวัวร์, และ Jean-Pierre Bemba รองประธานาธิบดีคองโก
ศาลอาญาระหว่างประเทศแม้ทำงานหนักแต่หลายครั้งก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร มีสิ่งท้าทายอีกหลายอย่างเพราะการเมืองและความหลากหลายของกฎหมายและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศสมาชิกทั้ง 123 ประเทศ และที่ไม่ได้เป็นสมาชิก หลายครั้งก็ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยลำเอียงไปทางความคิดและกฎหมายของชาวยุโรป
ไทยเป็นรัฐภาคี(ประเทศสมาชิก)ของศาลฯนี้ ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และเรื่องนี้เป็นความอ่อนไหวซับซ้อน วิจารณ์กันในประเทศไทยหลายรอบแล้ว
------------------------------
กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษในสหรัฐอเมริกา