“พรรคประชาชาติ” แชมป์เก่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงคาดหวังว่าจะรักษาแชมป์และเพิ่มเก้าอี้ ส.ส.ให้ได้ในการเลือกตั้งปี 66
ย้อนกลับไปปี 62 สามจังหวัดใต้มี 11 เขตเลือกตั้ง มี ส.ส.ได้ 11 คน (ยะลา 3 ปัตตานี 4 นราธิวาส 4) พรรคประชาชาติได้ไป 6 ที่นั่ง ถือว่าเกินครึ่ง และได้มากกว่าทุกพรรคที่ส่งผู้สมัคร
แต่ปี 66 ก่อนหน้านี้ กกต.คิดจำนวน “ส.ส.พึงมี” เพิ่มขึ้น 1 คน เป็น 12 คน ทว่าล่าสุดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ให้นับรวม “ราษฎรไม่มีสัญชาติ” ทำให้ปัตตานีได้อานิสงส์ มี ส.ส.เพิ่มอีก 1 เป็น 5 คน รวมสามจังหวัดเป็น 13 ที่นั่ง เป็นชิ้นเค้กใหญ่ไม่น้อยทีเดียว
ผลสำรวจจาก “นิด้าโพล” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ก.พ.66 ยังชัดเจนว่า พรรคประชาชาติยังครองความนิยม พรรคการเมืองที่คนสามจังหวัดมีแนวโน้มจะเลือก ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ราวๆ ร้อยละ 20 แม้จะถูกพรรคเพื่อไทยไล่บี้มาก็ตาม
จุดขายของพรรคประชาชาติ ถูกอกถูกใจคนมุสลิมชายแดนใต้ เพราะมีหัวหน้าพรรคเป็นมุสลิม เป็น ส.ส.ในพื้นที่ เป็นอดีตรัฐมนตรี และอดีตประธานสภา ซึ่งเป็นมุสลิม เป็นประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
นอกจากนั้นยังมีนโยบาย “ไม่เอากัญชา” เป็นพรรคเดียวที่โหวตคว่ำตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เข้าสภาวาระแรก จนถึงวาระ 2 และกฎหมายตกหายไปเพราะพิจารณาไม่ทัน
เหตุนี้เองจึงทำให้นักการเมืองชายแดนใต้ หมายปองเป็นผู้สมัครของพรรคประชาชาติ ส่งผลให้หลายเขต มีผู้สมัครเกินความต้องการ แถมยังขึ้นป้ายแข่งกันอีกด้วย
โดยที่ยะลา เขต 1 นายยู่สิน จินตภากร รองนายกเทศมนตรีนครยะลา ซึ่งเป็นสายของ “นายอ๋า” พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และมีฐานเสียงหนาแน่นในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนในตัวเมือง ขึ้นป้ายชนกับ นายสุไลมาน บือแนปีแน ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดของ นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา เขต 2 น้องชายนายวันนอร์
อีกเขตที่มีปัญหา “ขึ้นป้ายชนกัน” คือ ปัตตานีเขต 1 ระหว่าง นายอรุณ เบ็ญจลักษณ์ รองนายก อบจ.ปัตตานี น้องชายของ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส.ปัตตานี เขต 4 พรรคประชาชาติ กับ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์อิสลาม “อิบนูอัฟฟาน”
อ.วรวิทย์ เป็นอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดูแลวิทยาเขตปัตตานี เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง มีลูกศิษย์ลูกหามาก และเคยเข้าไปทำงานในสภาเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้มาแล้ว ทั้งยังเป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ ในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาเมื่อปี 62 แต่พ่ายแพ้ให้กับ นายอันวาร์ สาและ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปัจจุบันอยู่พลังประชารัฐ) โดยได้คะแนนเป็นอันดับสอง
ทั้งคู่ขึ้นป้ายประกบกันในพื้นที่ ไม่เว้นริมถนนหนทาง ทำให้ชาวบ้านมึนงง สับสนว่าใครกันแน่คือตัวจริง
ปัญหาผู้สมัครขึ้นป้ายชนกัน ถ้าจะมองในแง่ดี ก็มองได้ว่าพรรคประชาชาติมีบุคลากรที่เหมาะสมจะลงสมัครล้นพรรค ล้นเขต เป็นพรรคที่ใครๆ ก็หมายปองเป็นผู้สมัคร แต่หากมองในมุมลบ ก็ถือว่าส่งผลกระทบทางการเมืองพอสมควร เพราะสะท้อนว่าพรรคยังจัดการปัญหาเรื่อง “ตัวผู้สมัคร” ไม่ได้ และยิ่งเปิดตัวช้า มีความชัดเจนช้า ก็จะมีเวลารณรงค์หาเสียงให้ชาวบ้านจำได้ จำแม่น เพื่อลงคะแนนให้...ยากขึ้น
ปัญหาลักษณะนี้ที่พรรคประชาชาติกำลังเผชิญ ทำให้คู่แข่งหลายพรรค เช่น ภูมิใจไทย ประเมินว่าพรรคประชาชาติไม่น่าจะได้ ส.ส.ชายแดนใต้มากกว่าที่เคยได้เมื่อปี 62 คือ 6 คน และการเลือกตั้งหนนี้น่าจะเป็นโอกาสของพรรคการเมืองอื่นที่จะเบียดแย่งชิงพื้นที่ได้มากขึ้นกว่าเดิม