"เขาไม่ได้ขายแรง เขาขายใจให้เราทุกคน ทำอย่างไรให้ทุกคนต้องอยู่รอด เศรษฐกิจตอนนี้ทำร้านอาหารให้รอด ถือว่ายาก เพราะวัตถุดิบแพง ค่าเช่า ค่าแรงลูกน้อง มีต้นทุนอุปกรณ์และวัตถุดิบ ต้องมีงานอื่นด้วยจึงจะรอด"
เป็นคำบอกเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังของ สุนันท์ บุนนาค เจ้าของ “ร้านอัยยะ ยำ 20” ย่านถนนโรงเหล้าสาย ข. ในตัวเมืองปัตตานี ที่แจกแจงถึงความยากลำบากของการทำร้านอาหารในยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดหลังโควิด กับภารกิจของเจ้าของร้านที่ต้องการนำพาทุกชีวิตในร้านให้อยู่รอด
สุนันท์ไม่เคยเปิดร้านอาหารมาก่อน จากคนนครศรีธรรมราชมาอาศัยกับน้าชายที่เป็นเถ้าแก่แพปลาตั้งแต่เรียนจบชั้นประถม จนแต่งงานกับคนปัตตานี น้าชายก็ลงทุนทำแพปลาให้เป็นของเธอเอง ประกอบกับเป็นคนขยัน ทำให้เธอและครอบครัวมีริสกีเพิ่มพูน ตลอดมา และมีใจแบ่งปันให้กับคนอื่นเสมอ
“ริสกี” ในความหมายที่แท้ของอิสลาม คือทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่จำกัดเฉพาะเงินหรือกำไรจากการค้าขายเท่านั้น แบ่งได้อย่างน้อย 3 อย่าง คือ ริสกีทางวัตถุ ริสกีทางอารมณ์ และริสกีทางจิตวิญญาณ
สุนันท์ชอบทำอาหาร ช่วงก่อนโควิดมีญาติๆ 2-3 ครอบครัวรวมถึงครอบครัวพี่สาวตกงาน มาอยู่กันที่บ้านด้านหลังร้านอาหารในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดินของตัวเธอเอง เธอช่วยให้พี่สาวขายข้าวไข่เจียวที่ตลาดกรีนมาร์เก็ต หน้า ม.อ.ปัตตานี จึงคิดทำร้านอาหารเพื่อพี่สาว เมื่อทำร้านเสร็จ เกิดสถานการณ์โควิดพอดี จึงยังไม่ได้เปิดร้าน แต่ได้ทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแทน
"ช่วงนั้นมีคนลำบากกันเยอะมาก ทั้งตกงานและติดโควิด มีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ก็เริ่มแจกข้าวเปล่าวันละ 700 กล่อง และข้าวสารวันละ 2 กระสอบ บางครอบครัวมากับรถโชเล่ย์ (รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง) ทุกคนได้รับแจก ทั้งพี่น้องพุทธและมุสลิม ข้าวกล่องหนึ่งมีพี่น้องมุสลิมบอกว่า เขาได้เอาไปกินทั้งตอนแก้บวชและกินตอนซูโฮร (ก่อนละหมาดตอนย่ำรุ่ง) เพื่อจะเริ่มถือศีลอด เราชื่นใจหายเหนื่อย แจกกัน 16-17 นาทีก็หมดทุกวัน ทำมาจนปีนี้เป็นปีที่ 4 ไม่รู้ว่าความสุขอยู่ที่ไหน แต่อิ่มในความรู้สึก" สุนันท์เล่า
ด้วยความเป็นคนชอบทำกับข้าว ทำอาหาร เมื่อมีสถานที่เอง มีวัตถุดิบเอง (จากแพปลา) ทำให้ลดต้นทุนไปได้มาก สุนันท์บอกว่า ทุกคนที่เปิดร้านอาหารทำอาหารอร่อยกันทุกคนแต่จะให้อร่อยเพิ่มขึ้นคือ “ความใส่ใจ” นั่นคือความพิเศษ
"การเปิดร้านไม่ได้ต้องการกำไร ทำด้วยความชอบ และได้แบ่งปันทุกวัน มีโปรทุกวันทุกโต๊ะ จะได้ทานฟรีหนึ่งอย่าง เมนูหมุนเวียนทุกวัน เมื่อเด็กๆ มาทาน พวกเขาคือชาวสวรรค์ให้เป็นฮาดียะ (ของขวัญ) ให้ได้ทานก่อน ได้เลี้ยงอาหารเด็กเรียนตาดีกาเป็นประจำ และเชิญเด็กๆ มาทานที่ร้านเพื่อให้เขาได้ทานในบรรยากาศของร้าน ได้เห็นเด็กๆ สนุกกัน ทำอาหารแจกเดือนละครั้งที่สะพานปลาด้วย ได้เห็นคนรับจ้างเข็นของและคนใช้แรงงานอื่นๆ มารับอาหาร เป็นความหายเหนื่อยของเรา"
ร้านของสุนันท์เปิดตั้งแต่ 10 โมงถึง 5 ทุ่ม มีพนักงานประจำ 17 คน พนักงานพาร์ทไทม์ 5 คน ซึ่งเป็นนักศึกษามาทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเองและเรียนหนังสือ
"ตอนรับสมัครงานมีคนตกงานมาสมัครกันเยอะมาก เมื่อถูกเลือกแล้ว ร้านก็คือของทุกคน บอกพวกเขาว่า ถ้ามีเพื่อนมาทานที่ร้านไม่ต้องอาย บอกว่าเป็นร้านของเรา เราเป็นหุ้นส่วน"
นิติกร แวสามะ อายุ 30 ปี ผู้จัดการร้านที่มาสมัครงานเนื่องจากตกงานและทำงานมาจนถึงทุกวันนี้ บอกว่า งานบริการทุกอย่าง หัวใจหลักคือการเอาใจใส่ลูกค้า จะพูดคุยปรึกษากับลูกค้าตลอด ที่สำคัญคือรับฟังปัญหาว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร ก็จะประชุม พูดคุยปรึกษากัน
ขณะที่ อิบรอเฮง มะลี อายุ 29 ปี พนักงานเสิร์ฟ บอกว่า จากที่เจอเจ้าของร้านมาหลายที่ มะ (สรรพนามเรียกหญิงมุสลิม) ใจดีมาก ให้ทุกอย่างที่เราขอ เปิดกว้างยอมรับความคิดเห็นเรา พูดคุยกันเหมือนเป็นคนในครอบครัว ทำให้สบายใจ ตั้งใจทำงานทุกอย่าง เต็มที่กับทุกเรื่อง อยากให้เจ้าของร้านทุกร้านใส่ใจและพูดจาด้วยความเข้าใจกับลูกน้องแบบนี้
"ร้านเป็นของคุณ เป็นเรือลำใหญ่ คนเป็นผู้จัดการต้องดูแลทุกอย่างในร้าน คนที่ออกไปทำธุรกิจมีครอบครัวก็จะกลับมาตลอด หรือใครจะกลับมาทำงานเมื่อไหร่ก็ได้" อิบรอเฮง ถ่ายทอดแนวคิดของสุนันท์
จากความคิดเห็นของลูกค้าทั่วไปในพื้นที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า พนักงานบริการที่เป็นคนในพื้นที่สามจังหวัด มักไม่ค่อยมีใจบริการ รวมทั้งการพูดจาที่ต้องปรับปรุงอีกมาก แต่ร้านของสุนันท์เป็นข้อยกเว้น
คำถามที่ใครหลายคนอยากรู้ก็คือ ทำไมถึงชื่อร้าน “อัยยะยำ 20”
สุนันท์บอกว่า ความหมายอัยยะ เหมือนลูกล้อแม่ว่าซื้อที่ทางไปเยอะ ลงทุนไปเยอะ ทำไปได้อย่างไร ส่วนยำคือรวมทุกอย่างที่นี่ รวมทุกความรู้สึก รวมทั้งมีเมนูทุกอย่าง ทั้งชาบู ติ่มซำ โรตี อาหารเซ็ต และยำ เริ่มต้นที่ 20 บาท
"บอกลูกๆ ว่าให้มี้ (แม่) ทำเหอะ เหนื่อยเมื่อไหร่ก็จะหยุดเอง ทำให้เขาเห็น ให้เขาสัมผัสได้เองว่าเราไม่ได้ทำเฉพาะเพื่อกำไร ต้องมีการแบ่งปันให้ผู้อื่นด้วย กำไรที่แท้จริงของการเปิดร้านอาหารคือกำไรความรู้สึก รอยยิ้มของลูกค้า ลูกค้ามาทานแล้วมาซ้ำ ให้ลูกน้องอยู่รอด ได้ทานเหมือนอยู่ที่บ้าน เหมือนลูกของเราทุกคน"
เป็นร่องรอยความคิดที่หลั่งไหลจากหัวใจที่ผ่องแผ้วของ สุนันท์ บุนนาค แห่งร้าน อัยยะ ยำ 20