รัฐบาลเตรียมขยายเวลาการบังคับใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไปอีก 3 เดือน นับเป็นการต่ออายุครั้งที่ 71 นับตั้งแต่เริ่มประกาศครั้งแรกเมื่อเดือน ก.ค.2548
การขยายเวลาการบังคับใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ครั้งที่ 71 เป็นไปตามการเสนอของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยจัดประชุมที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าร่วมประชุมด้วย
โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการปฏิบัติงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในห้วงวันที่ 20 ธ.ค.65 - 23 ก.พ. 66 และแนวโน้มสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากนั้นได้พิจารณาเห็นชอบ ตามที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) เสนอขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือน โดยขอให้ปรับลดพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี ออกจากพื้นที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เนื่องจากผ่านเกณฑ์การประเมินผล และขอให้นำพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) มาบังคับใช้แทน
อ.มายอ จ.ปัตตานี นับเป็นอำเภอที่ 10 ที่มีการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยยกเลิกอำเภอแรกคือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่การยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทีละอำเภอ ถูกตั้งคำถามว่าฝ่ายความมั่นคงได้ลดการบังคับใช้กฎหมาย และอำนาจพิเศษในพื้นที่เหล่านั้นจริงหรือไม่ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 33 อำเภอ ยังคงประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ ซ้ำยังมีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่อ้างอำนาจทั้งกฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่เนืองๆ
การยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คราวละ 1-2 อำเภอ จึงไม่มีนัยสำคัญทางความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ว่าสถานการณ์ชายแดนใต้ดีขึ้น และฝ่ายความมั่นคงได้ลดการใช้อำนาจพิเศษที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้น้อยลงแต่อย่างใด
ที่ประชุม กบฉ.ยังให้ความเห็นชอบขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อไปอีก 3 เดือน
ยกเว้น อ.ศรีสาคร, อ.สุไหงโก-ลก, อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
ยกเว้น อ.ยะหริ่ง, อ.มายอ, อ.ไม้แก่น และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
และยกเว้น อ.เบตง กับ อ.กาบัง จ.ยะลา
โดยการขยายเวลาจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.66 ถึงวันที่ 19 มิ.ย.66 โดยเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 71 โดยให้เหตุผลเรื่องความต่อเนื่องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ป้องกันและระงับยับยั้งสถานการณ์ให้ได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาความสงบ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย
การขยายเวลาการบังคับใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” มาแล้วถึง 71 ครั้ง ทำให้ระยะเวลาในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษนี้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยืดเยื้อมานานเกือบ 18 ปี ทั้งๆ ที่กฎหมายใช้ชื่อว่า “กฎหมายฉุกเฉิน” ซึ่งมีความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจได้ว่า เป็นเรื่องระยะสั้น และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น