ถูกวิจารณ์อย่างหนักตั้งแต่มีข่าวรัฐบาลเตรียมเลื่อนเวลาบังคับใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ “พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ทรมาน”
หน่วยงานหลักที่เสนอให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอ้างเหตุผลว่า ไม่สามารถจัดซื้อกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ได้ทันเวลา เพราะกฎหมายบัญญัติเอาไว้เคร่งครัดมาก โดยเฉพาะการต้องบันทึกภาพระหว่างการควบคุมตัว และสอบสวน ทุกขั้นตอน
ส่งผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดนทัวร์ลงไปด้วย
แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์ 14 ก.พ.66 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เห็นชอบให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายจริงๆ แต่ใช้วิธีเลื่อนการบังคับใช้เพียง 4 มาตรา เพื่อลดแรงกดดัน
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบ ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ทรมาน เพื่อขยายกำหนดเวลาการมีผลใช้บังคับ เฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.66 เป็นต้นไป จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.66
@@ เปิดเนื้อหา 4 มาตราเลื่อนบังคับใช้
สำหรับมาตราที่ได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน
รองโฆษกรัฐบาล อธิบายว่า ความจำเป็นที่ต้องขยายเวลาบังใช้มาตรา 22-25 เนื่องจากจะต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติ อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ยังมีข้อขัดข้องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ
1.การจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม 1.71 แสนตัว กล้องติตรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6 พันกว่าตัว รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำ ระบบ Cloud โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา
2.การเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อ และวิธีการใช้งานแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการใช้งาน และสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบการขยายเวลาการบังคับใช้ในมาตราดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินคดีในชั้นศาลได้
@@ นักสิทธิฯเชื่อจงใจขัดขวางการบังคับใช้
น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ แกนนำกลุ่มด้วยใจ องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า มาตราที่ยังไม่บังคับใช้เป็นมาตราสำคัญในการสร้างความโปร่งใสให้กับการทำงานของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่หน่วยอื่น ๆ เพื่อปกป้องการทรมานและอุ้มหาย การเลื่อนบังคับใช้มาตราเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ต้องการกฎหมายฉบับนี้ ทั้งที่ทราบมาโดยตลอดตั้งแต่กระบวนการออกกฎหมาย และรู้ว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายนี้อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงมองว่าเป็นการขัดขวางเพื่อไม่ให้กฎหมายบังคับใช้อย่างสมบูรณ์
@@ ญาติ “อับดุลเลาะ อีซอมูซอ” ชี้รัฐกลัวกฎหมาย
ด้าน นายโมฮำมัดรอฮมัด มามุ ญาติของครอบครัว นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งหมดสติอย่างเป็นปริศนาในค่ายทหารหลังถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าสู่กระบวนการซักถาม และสุดท้ายต้องเสียชีวิต กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ทรมาน เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐกลัว จึงไม่แปลกที่จะต้องเลื่อนการบังคับใช้ออกไปให้นานที่สุด
“ผมเชื่อว่าฝ่ายรัฐทำทุกวิธีการเพื่อให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ล่าช้าที่สุด” ญาติของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งเชื่อว่าการตายของอับดุลเลาะมีเงื่อนงำ กล่าว
ขณะที่ นายอุสมัน (สงวนนามสกุล) ชาวนราธิวาส อายุ 31 ปี กล่าวว่า ถ้าเจ้าหน้าที่บริสุทธิ์จริง ไม่เคยกระทำการซ้อมทรมานคนสามจังหวัด จะกลัวการมีกฎหมายทำไม การทำแบบนี้ทำให้เห็นชัดถึงความกลัวการมีกฎหมาย ยิ่งทำให้คนพื้นที่รู้สึกว่ารัฐเหมือนจะยอมรับโดยนัยว่าเคยกระทำผิด
“อยากให้มีการประกาศใช้กฎหมายเร็วๆ รัฐเองก็จะได้เป็นผู้บริสุทธิ์ในสายตาชาวบ้านบ้าง เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด และจบความสงสัยทุกอย่าง” นายอุสมัน กล่าว
@@ “วิรุตม์” ชี้นายกฯถูกหลอก - กฎหมายใหม่ปิดช่องอุ้มรีดทรัพย์
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ทรมาน กล่าวว่า เหตุผลของตำรวจชั้นผู้ใหญ่คือการหลอกนายกรัฐมนตรี ที่ให้เลื่อนบังคับใช้กฎหมายออกไปโดยอ้างว่าอุปกรณ์กล้องไม่พร้อม
เพราะเหตุผลที่แท้จริงอยู่ที่มาตรา 22 วรรคสอง "การจับบุคคลทุกครั้ง ต้องรายงานให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที" กฎหมายมาตรานี้จะทำให้การจับตัวบุคคลมาต่อรอง สร้างอิทธิพล รีดทรัพย์ แล้วปล่อยตัวไป จากนั้นก็ส่งส่วยตำรวจผู้ใหญ่ เพื่อหวังตำแหน่งหน้าที่เหมือนที่ทำกันทุกวันนี้ ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศกว่าร้อยละ 90 ของการจับ จะทำไม่ได้อีกต่อไป
“สำนักงานตำรวจแห่งชาติอ้างว่าต้องตั้งงบประมาณจัดซื้อกล้องจำนวน 170,000 ชุด รวมเป็นเงินกว่า 3,500 ล้านบาท ถือเป็นความเข้าใจผิด และเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องต่อนายกรัฐมนตรี นำไปสู่ความหลงผิด และออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป ถือเป็นการออกพระราชกำหนดโดยมิชอบ เพราะข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องซื้อกล้องจำนวนมากขนาดนั้น เพียงซื้อไว้เป็นอุปกรณ์ประจำหน่วย ให้ตำรวจผู้มีหน้าที่จับกุม ไม่ว่าจะเป็นสายตรวจ หรือตำรวจฝ่ายสืบสวนหมุนเวียนเบิกไปใช้เมื่อเวลาเข้าเวรเท่านั้น จะซื้อไปทำไมมากมายโดยไม่จำเป็น สิ้นเปลืองเงินภาษีของประชาชนอย่างมาก ก็ซื้อเพิ่มจากที่มีอยู่แล้ว 90% ไม่เกิน 30,000 ชุด ใช้เงินแค่ระดับร้อยล้านเท่านั้น"
"เป้าหมายแท้จริงของตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลทั้งในและนอกราชการที่อยู่เบื้องหลังการเสนอเลื่อนการใช้บางมาตราของกฎหมายป้องกันการอุ้มหาย-ทรมาน ก็คือไม่ต้องการให้ใช้มาตรา 22 วรรคสอง เป็นสำคัญ เพราะวรรคสองของมาตรา 22 ได้บัญญัติให้ผู้รับผิดชอบการจับ ต้องรายงานการจับให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที มีข้อมูลรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายนี้ที่จะมีผลในการป้องกันการทำร้ายและการละเมิดบุคคลหลังถูกจับมากที่สุด ถ้ากฎหมายใช้บังคับทุกมาตราอย่างสมบูรณ์ การนำตัวผู้ถูกจับไปควบคุมไว้ในที่ลึกลับเพื่อเค้นข้อมูล หรือต่อรองแลกเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ต่างๆ แล้วปล่อยตัวไป โดยนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ไปส่งส่วยให้ตำรวจ ผู้ใหญ่เช่นที่เป็นอยู่ปัจจุบัน จะไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป นี่คือเป้าหมายสำคัญเบื้องหลังการเสนอต่อนายกฯ ให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 เนื่องจากไม่ใช่กรณีที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" พ.ต.อ.วิรุตม์ ระบุ
@@ กอ.รมน.จัดเสวนาให้ความรู้กำลังพลทหาร ตร. ปกครอง
อีกด้านหนึ่ง หน่วยงานความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกเพ่งเล็งมากที่สุดเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้มีการจัดเสวนาเพื่อให้ความรู้กำลังพลเกี่ยวกับกฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน
งานเสวนาจัดขึ้นที่สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดการเสวนาสร้างความตระหนักรู้ต่อ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย-ทรมาน โดยมี พล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย พ.อ.เฉลิมชัย สุทธินวล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)
เวทีเสวนามีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ร่วมรับฟังกว่า 200 คน และมีการรับฟังทางระบบทางไกลผ่านจอภาพอีก 150 หน่วยงาน รวม 1,063 คน
@@ มั่นใจ จนท.ทำงานสะดวกขึ้น ประชาชนได้รับการคุ้มครอง
พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า กอ.รมน.ภาค 4 สน. ตื่นตัวกับกฎหมายฉบับนี้ ที่ผ่านมามีการกำหนดให้สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชนฯ จัดกิจกรรมบรรยายให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 22 หน่วยงาน จำนวน 3,883 นาย และร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดอบรมออนไลน์ให้กับเจ้าหน้าที่อีก 151 หน่วยงาน และในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับอยู่แล้ว ซึ่งมีเนื้อหาสอดคล้องกับพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมในระดับหนึ่ง
“ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จะอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากยิ่งขึ้น และพี่น้องประชาชนก็จะได้รับความคุ้มครองตามหลักสิทธิและข้อกฎหมายต่างๆ อย่างเป็นธรรม” พล.ต.ปราโมทย์ ระบุ
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนออกมา กฎหมายใหม่จะทำให้ประเทศไทยก้าวหน้าในเรื่องสิทธิมนุษยชน และเชื่อการปฏิบัติงานที่สุจริตจะเป็นเกราะคุ้มกันให้ได้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี