ผ่านไปแล้วสำหรับการเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ นายอันวาร์ อิบราฮิม
บรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น โดย นายกฯอันวาร์ ได้เข้าพบทั้ง “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” สองผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลปัจจุบัน
โดยในฟากของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั้น เคยรู้จักและสนิทสนมกับนายกฯอันวาร์มาก่อนด้วย
ไฮไลต์ที่ทุกคนเงี่ยหูฟัง นอกเหนือจากความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ก็คือความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
เพราะต้องยอมรับว่าปัญหานี้จะจบลงไม่ได้เลย หากมาเลเซียซึ่งมีดินแดนติดต่อกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ให้ความร่วมมือ
และยาหอมที่ถูกโปรยจากนายกฯอันวาร์ ก็คือ ปฏิเสธความรุนแรง และพร้อมจะจบปัญหาชายแดนใต้ของไทยให้เร็วที่สุดซึ่งปัจจุบันมาเลเซียเองก็มีบทบาทเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีตัวแทนรัฐบาลไทย นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พูดคุยหาทางยุติความขัดแย้งกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐกลุ่มใหญ่ที่สุด และมีบทบาทสูงสุดในสถานการณ์ความไม่สงบตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
แต่นักวิชาการที่เกาะติดสถานการณ์ชายแดนใต้ และเชี่ยวชาญประเทศมาเลเซีย มองว่า ท่าทีของนายกฯอันวาร์ น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง และสะท้อนว่าผู้นำมาเลย์ ต้องการมีบทบาทในการจัดการปัญหานี้ โดยแสดงตัวเป็น “คนกลาง” ที่ไม่ได้ยืนข้างทั้งรัฐบาลไทยและกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
@@ พูดกำกวม รักษาดุล “รัฐไทย-ผู้เห็นต่างฯ”
ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีสันฐาน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขีดเส้นใต้คำพูดของ นายกฯอันวาร์ ที่เน้นย้ำเรื่องปฏิเสธความรุนแรง และพร้อมร่วมพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยไปพร้อมๆ กับมาเลเซีย
“อันวาร์เองมองเกมค่อนข้างจะขาด เพราะความร่วมมือตรงนี้ เป็นคำพูดที่ถ้าเราตีความหมายกันจริงๆ ก็กำกวมพอสมควร เพราะความรุนแรงไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นความรุนแรงมาจากฝ่ายใด จากฝ่ายผู้ก่อเหตุเอง หรือความรุนแรงที่มาจากรัฐไทย”
“การพูดแบบนี้ ผมมองว่า อันวาร์ ต้องการมีพื้นที่ ไม่ใช่แต่เฉพาะฝั่งรัฐไทยเท่านั้น แต่ต้องการจะให้ความร่วมมือหรือพยายามที่จะขยับขึ้นไปมีบทบาทในมุมของกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐด้วยเช่นกัน เพราะถ้าไม่พูดอย่างนี้ หรือว่าถ้าเราตีความหมายของ อันวาร์ ว่าช่วยรัฐอย่างเดียว หรือจะสนับสนุนรัฐไทย นั่นหมายความว่าอันวาร์จะอยู่ตรงข้ามกับผู้ก่อเหตุทันที หรือถ้าบอกอยู่ฝั่งผู้ก่อเหตุ ยิ่งไม่ได้ใหญ่เลย ก็จะอยู่ตรงข้ามกับรัฐไทย “
“คำพูดของอันวาร์ เป็นคำพูดที่ทำให้เขามีพื้นที่ที่จะไปเจรจากับสองฝ่าย ไม่ปฏิเสธฝั่งไทยเช่นเดียวกันไม่ปฏิเสธผู้ก่อเหตุที่อาศัยอยู่ในมาเลเซียด้วยเช่นกัน เพราะว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่ อันวาร์ จะแก้ปัญหาโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากคนกลุ่มนั้น และการพูดเช่นนี้เป็นการรักษาพื้นที่กับผู้ก่อเหตุด้วย เพราะความรุนแรงไม่ได้มีความรุนแรงจากฝั่งนั้นอย่างเดียว เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐเราเองที่ใช้ในการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน”
@@ มอง “อันวาร์” ผู้นำที่เข้าใจบริบทไฟใต้
จากท่าทีและคำพูดของนายกฯอันวาร์ อาจารย์ชัยวัฒน์ มองเป็นภาพสะท้อนของความเข้าใจต่อบริบทปัญหาไฟใต้ไม่น้อยทีเดียว
“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าอันวาร์มีความเข้าใจบริบทการแก้ปัญหา แต่เราไม่สามารถที่จะหันมาทางอันวาร์ได้โดยตรงทั้งหมด เราต้องไม่ลืมว่าอันวาร์เองยังมีปัญหาภายในประเทศที่ยังต้องแก้ไข”
“ผมมองว่าความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญมาก ต่อให้อันวาร์ร่วมมือเท่าไหร่ แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุ ไม่ได้มีแค่กลุ่มเดียว ไม่ได้มีแค่บีอาร์เอ็นอย่างเดียว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก การที่จะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับข้อตกลง จึงต้องใช้เวลา”
@@ แนะอย่ามองปัญหาเฉพาะมุมความมั่นคง
อ.ชัยวัฒน์ ยังเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการแยกเรื่องความขัดแย้งออกจากผลประโยชน์ในมิติอื่นๆ เพื่อไม่ให้ปัญหาถูกขีดกรอบเป็นประเด็นความมั่นคงแต่เพียงด้านเดียว
“เราต้องเอาเรื่องผลประโยชน์มิติอื่นๆ ออกจากความขัดแย้งในเรื่องปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วไม่มองว่าปัญหาเป็นมิติความมั่นคงอย่างเดียว เพราะว่ามันมีความซับซ้อนของปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเสพติด การค้ามนุษย์ ของเถื่อน ปัญหาน้ำมันเถื่อน เต็มไปหมดเลย ถ้าแยกปัญหาพวกนั้นออกจากความมั่นคงไม่ได้ เราก็จะแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยแนวคิดความมั่นคง”
“ปัญหาบางอย่างแก้มิติความมั่นคงไม่ได้ มันต้องแก้ด้วยความเข้าใจในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาวัฒนธรรม ความขัดแย้งประวัติศาตร์บาดแผล ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ก่อเหตุเองใช้สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันในการสร้างพลังในการต่อสู้กับรัฐไทยด้วย”
@@ ทำนายไฟใต้ไม่ดับยุค “อันวาร์ อิบราฮิม”
แม้ผู้นำมาเลเซียรายนี้จะเข้าใจปัญหาไฟใต้มากที่สุดคนหนึ่ง แต่ อ.ชัยวัฒน์ ก็เชื่อว่าปัญหาจะไม่จบลงในยุคของนายกฯอันวาร์
“ผมเชื่อว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในยุค นายกฯอันวาร์ แน่ๆ เนื่องจากปัญหาสั่งสมมาเป็นร้อยสองร้อยปี มันยาวนานมาก มีขึ้นมีลง สิ่งจำเป็นมากๆ คือการรักษาความต่อเนื่องของการเจรจา แม้รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงก็ตาม นายกฯอันวาร์เป็นความหวัง บนพื้นฐานของการเริ่มต้นบนความเข้าใจฝั่งมาเลเซียด้วยส่วนหนึ่ง”
“ผมคิดว่าต้องตกลงกันให้ได้ก่อนที่จะกลับมาดูว่า วิธีการไหนที่เป็นวิธีการที่ประชาชนต้องการ ที่สำคัญต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ ไม่ใช่กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการ ถ้าเราทำให้ประชาชนแล้วไม่ถูกใจกลุ่มที่สั่งการอยู่ คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้น เรามองปัญหาพวกนี้แบบหยาบๆ เอาอันนั้นมาใส่แล้วจะทำได้ หรือไม่ได้ มีส่วนเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม มันยาก ต้องแก้ที่ละอย่าง ดึงปัญหาที่ไม่เกี่ยวข้องออก ดูว่าเนื้อของปัญหาคืออะไร แล้วตกลงกันให้ได้ ถึงจะมาพูดเรื่องการปกครอง เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราเปลี่ยนการปกครองขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าเราไม่สามารถเจรจากับผู้ก่อเหตุได้ เหตุการณ์ก็เกิดขึ้นอยู่ดี” ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ
@@ “บิ๊กป้อม” ถก “อันวาร์” ชื่นมื่น จับมือดับไฟใต้
สำหรับบรรยากาศการพบปะกันระหว่างนายกฯอันวาร์ กับผู้นำไทย และผู้ใหญ่ในรัฐบาลกันก่อน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้การต้อนรับและหารือร่วมกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม ที่โรงแรมเชอราตัน
ทั้งคู่มีความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนที่แนบแน่นกันมาก่อน ส่งผลให้บรรยากาศการพูดคุยดำเนินไปอย่างเป็นกันเอง และมีความจริงใจต่อกัน โดยเฉพาะประเด็นด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่างเห็นพ้องร่วมกันว่าต้องทำให้เกิดความสงบ ไม่มีความรุนแรงและเปิดพื้นที่พัฒนาร่วมกัน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งสองประเทศ
วิธีการคือจะให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน โดยมุ่งมิติทางสังคม วัฒนธรรม และชุมชน ควบคู่ไปกับความมั่นคง ซึ่งจะมีการประสานการทำงานร่วมกันอย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น ทั้งหน่วยงานความมั่นคงและหน่วยงานด้านการข่าว
โดยทางมาเลเซียถือว่าปัญหานี้เป็นปัญหาภายในของไทย แต่พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และถือเป็นสัญญาณที่ดี หลังมีการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติสุข (facilitator) ของมาเลเซียแล้ว ซึ่ง นายอันวาร์ เชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร จะสามารถการแก้ปัญหาความไม่สงบ และความรุนแรงที่มีอยู่ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ในที่สุด
@@ “บิ๊กตู่” จัดพิธีต้อนรับนายกฯ มาเลย์ สมเกียรติ
ก่อนหน้านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา ให้การต้อนรับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และภริยา ในการเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ระหว่างวันที่ 9-10 ก.พ.66 ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีพิธีต้อนรับตรวจแถวกองทหารเกียรติยศด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะลงนามในสมุดเยี่ยม และ เดินชมของที่ระลึกภายในห้องสีงาช้าง
จากนั้นผู้นำไทยและมาเลเซียได้หารือทวิภาคี ที่ตึกภักดีบดินทร์ เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะ 5 จังหวัดภาคใต้ของไทย กับ 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และด้านคมนาคมขนส่ง รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพระหว่างกัน เช่น อุตสาหกรรมยางพารา อาหารฮาลาล พลังงาน และในมิติใหม่ ๆ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว
@@ ลงนามความร่วมมือแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่
1.บันทึกความเข้าใจในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย
2. บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย
3. บันทึกความตกลงเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC )และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa และ แถลงข่าวร่วมกัน ณ ตึกสันติไมตรี
@@ ผู้นำมาเลย์เชิญ “บิ๊กตู่” ไปเยือน - นายกฯบอกต้องรอเป็นปี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันมากที่สุด ดินแดนเราใกล้กัน หากเราแข็งแรงทั้งคู่ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การอยู่ร่วมกันก็สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการ ขณะที่สถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด หวังว่าการพบปะกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในวันนี้ จะเป็นการเริ่มต้นและกรุยทางให้มีการพบปะหารือระหว่างไทยกับมาเลเซียในทุกระดับให้มากยิ่งขึ้นอย่างใกล้ชิด ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แก้ไขในสิ่งที่เป็นอุปสรรค และทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองฝ่ายให้ก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ด้านนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้กล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนมาเลเซีย แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบกลับว่า “ต้องรอเป็นปีถึงจะได้ไปเยือน” ทำให้นายอันวาร์ ตอบกลับว่า ไม่ต้องรอ มันไกลเกินไป เป็นเดือนเป็นปี ถ้ามีโอกาสมาได้ เพราะผมก็มาทุกปีอยู่แล้ว แม้แต่ช่วงโควิดก็เดินทางเข้ามา”
คำตอบของนายกฯอันวาร์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับยิ้มกว้าง พร้อมกับกล่าวว่า “ไทยกับมาเลเซียเปรียบเป็นแผ่นดินทองและเป็นครอบครัวเดียวกัน”