ครม.อนุมัติเพิ่มวงเงินก่อสร้างอาคารผ่าตัด ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลปัตตานี จาก 153.8 ล้านบาทเป็น 356.6 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและกฎหมาย สามารถรองรับผู้ป่วยจาก 546 เตียง เป็น 700 เตียง เพิ่มศักยภาพการบริการด้านรักษาพยาบาล
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 7 ก.พ.66 ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบรายการ เพิ่มวงเงิน และขยายระยะเวลาการก่อสร้างอาคารผ่าตัด ผู้ป่วยนอกและอุบัติเหตุ โรงพยาบาลปัตตานี ต.สะบารัง อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี จำนวน 1 หลัง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
โดยสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดงานก่อสร้างครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) 7 ชั้น จากเดิมแบบแปลนเลขที่ 8135 พื้นที่ใช้สอยประมาณ 13,576 ตารางเมตร ระยะเวลาสิ้นสุดโครงการ 930 วัน เป็นแบบแปลนเลขที่ 8135 เอกสารเลขที่ ก.25/ก.พ./65 และรายการประกอบแบบก่อสร้างเอกสารเลขที่ ข.55/พ.ค./65 พื้นที่ใช้สอยประมาณ 14,703 ตารางเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 1,395 วัน วงเงินค่าก่อสร้างเพิ่มจาก 153.8 ล้านบาท เป็น 356.6 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2566 จำนวน 32.5 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 324.1 ล้านบาท ให้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567-2569
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เรื่องเดิมก่อนที่จะนำมาสู่การขออนุมัติจาก ครม. เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงการนั้น มาจากการที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายปี 2565 งบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างให้คนมีสุขภาวะที่ดี โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ กิจกรรมพัฒนาระบบบริการสุขภาพทุกระดับ ตาม Service Plan รายการอาคารผ่าตัดผู้ป่วยนอกฯ โรงพยาบาลปัตตานี 1 หลัง พื้นที่ใช้สอย 13,576 ตารางเมตร งบประมาณ 153.8 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณปี 2565-67 ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่จะมาเสริมศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาลปัตตานี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งเดียวในจังหวัด มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 1,600 คน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่คับแคบแออัด จำนวนเตียงไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย ทำให้ไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งโครงการก่อสร้างนี้จะทำให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยได้จากเดิม 546 เตียง เป็น 700 เตียง เพิ่มศักยภาพการบริการด้านรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในพื้นที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลปัตตานี และคณะกรรมการจัดทำแบบรูปรายการก่อสร้างและกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ได้พิจารณาแบบแปลนเลขที่ 8135 แล้ว พบว่าเป็นแบบแปลนเมื่อปี พ.ศ.2534 ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรฐานป้องกันอัคคีภัยตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ และมาตรฐานห้องให้บริการทางการแพทย์ ซึ่งครอบคลุมถึงห้องผ่าตัด ห้องผู้ป่วยหนัก และห้องฉุกเฉิน รวมทั้งรายละเอียดรายการวัสดุก่อสร้างและครุภัณฑ์บางรายการตามแบบแปลนดังกล่าวไม่มีจำหน่ายในท้องตลาดปัจจุบันแล้ว จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแบบรูปรายการอาคารให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง