1 ก.พ.66 เป็นวาระครบ 2 ปีของการรัฐประหารรอบล่าสุดในเมียนมา เพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทย
สิ่งที่ประชาคมโลกเฝ้ามองก็คือ สถานการณ์ในเมียนมาที่กลายเป็น “สงครามกลางเมือง” จะจบลงเมื่อใด และทิศทางการเมืองจะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้จริงหรือไม่ เพราะกำหนดการเลือกตั้งมีแนวโน้มถูกเลื่อนออกไปเรื่อยๆ หรือถ้าไม่ถูกเลื่อน จัดสามารถจัดการเลือกตั้งได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศหรือไม่ เนื่องจากบรรยากาศการสู้รบก็ไม่ได้ผ่อนลง
รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์ประจำสำนักวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางของสถานการณ์ในเมียนมาเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะหลังฉากของ 3 กลุ่มพันธมิตรกองกำลังชาติพันธุ์ ที่กำลังทำให้ปัญหาซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้นไปอีก
@@ 2 ปีรัฐประหารเมียนมา : พันธมิตรและสงครามกลางเมือง
ความขัดแย้งตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาของเมียนมา แม้ว่ามูลเหตุมักจะถูกทำความเข้าใจว่าเป็นผลมาจากการต่อต้านการรัฐประหาร แต่โดยเนื้อแท้แล้วจะพบว่าเป็นความขัดแย้งของสงครามคู่ขนานกัน โดยเฉพาะ “สงครามเพื่อการปฏิวัติและสงครามความขัดแย้งทางด้านชาติติพันธุ์”
สถานการณ์ลักษณะนี้จะปรากฏออกมาในรูปแบบของ “สงครามกลางเมือง” ที่เกิดขึ้นแบบซ้อนทับกัน ฉะนั้นความรุนแรงของสงครามจึงไม่สามารถถูกหยุดอยู่เฉพาะการพยายามสร้างการเจรจาแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่การจะเกิดการเจรจาได้ในอนาคต มักจะถูกตั้งต้นจากสิ่งที่เรียกได้ว่าความเหนื่อยล้าและเกมสงครามว่าจะมีฝ่ายใดเสียเปรียบ และแน่นอนว่าหากฝ่ายรัฐเสียเปรียบ การเจรจามักจะถูกหยิบยกมาพูดคุย ทั้งเพื่อการประวิง และรอช่วงเวลาให้สามารถฟื้นกำลังกลับมาสู้รบใหม่ได้อีกครั้ง
เมื่อพิจารณาโดยหลักคิดนี้แล้วจะพบว่า การต่อต้านกองทัพเมียนมาตลอดทั่วทั้งประเทศนั้น การก่อร่างสร้างพันธมิตรของ “กองกำลังปกป้องประชาชน” (PDF) นั้น มิได้กระทำอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นการผนึกร่วมกับพันธมิตรของ “กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์” โดยเฉพาะกลุ่มกองกำลัง เช่น กลุ่มชิน (CNF) กลุ่มคะฉิ่น (KIA) กลุ่มคะยาห์ (KNPP) และ กลุ่มกะเหรี่ยง (KNLA) ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งในเชิงอุดมการณ์และสามารถดำเนินกลยุทธ์ได้อย่างมีความก้าวหน้าและก้าวกระโดด โดยเฉพาะการควบคุมการเคลื่อนย้ายพื้นที่ของกองทัพ รวมทั้งการปิดล้อมทั่วทั้งประเทศ
แม้ว่าจะประสบความสูญเสีย แต่อาจจะเรียกได้ว่านี่คือการฟื้นคืนของกองกำลังในรอบ 20 ปี สิ่งที่ต้องแลกมาด้วยเช่นเดียวกันนั่นก็คือตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมานั้น กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์แบกรับความสูญเสียไปเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้เสียชีวิต จำนวนของผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ
ในอีกด้านหนึ่ง การก่อร่างสร้างพันธมิตรจาก “ข้อตกลงหยุดยิงทั้งประเทศ” จากการรัฐประหารตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา การเข้าไปเจรจาของกลุ่มไทใหญ่ใต้ (RCSS/SSA) กับกองทัพเมียนมาอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการใช้เหตุผลเรื่องการยุติความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองภายในประเทศที่ดำเนินต่อมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน การเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาของไทใหญ่ในครั้งนี้จะพบว่ามีลักษณะ “แตกต่าง” ตามความต้องการของแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั้งประเทศ (NCA) อันได้แก่ กลุ่มมอญ (NMSP) กลุ่มละหู่ (LDU) กลุ่มกะเหรี่ยง (DKBA) กลุ่มปะโอ (PNLO) และกลุ่มกะเหรี่ยง (KNLA-PC)
การเดินทางเข้าไปสู่การเจรจาของกลุ่มพันธมิตรดังกล่าวนี้ เป็นการเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาเพื่อทำให้ “ข้อตกลงหยุดยิงทั้งประเทศ” ไม่หยุดชะงักลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเจรจาของทั้ง 5 กลุ่มนี้จะสามารถทำให้ข้อตกลงหยุดยิงทั้งประเทศหรือกระบวนการสันติภาพเป็นประโยชน์ต่อทุกกลุ่มได้ หรืออาจจะเรียกได้ว่า เจรจาภายใต้กรอบ NCA ทั้งประเทศ ทว่าแต่ละกลุ่มก็มีธงในการรักษาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มอยู่เช่นเดิม
กลุ่มพันธมิตรที่ 3 ที่อาจจะเรียกได้ว่ามีความแข็งแกร่งมากที่สุด หรืออาจจะเรียกได้ว่ามากกว่า 2 กลุ่มในข้างต้นนี้ นั่นก็คือ “กลุ่มอดีตพันธมิตรภาคเหนือ” ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเป็นทางการว่า FPNCC อันได้แก่ กลุ่มว้า (UWSA) กลุ่มเมืองลา (NDAA) กลุ่มไทใหญ่เหนือ (SSPP/SSA) กลุ่มโกกั้ง (MNDAA) กลุ่มอาระกัน (AA) และกลุ่มตะอ้าง(TNLA) อาจจะเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มพันธมิตรทางด้านการเมืองและการทหารที่มีความเข้มแข็ง สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับกองทัพเมียนมาได้
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ภายหลังการรัฐประหารเป็นต้นมานั้น จะพบว่ากลุ่มพันธมิตรเหล่านี้ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาและพบปะกับผู้นำระดับสูงของกองทัพเมียนมาเป็นระยะ พร้อมทั้งการยื่นข้อเสนอเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเอง โดยเฉพาะ “เขตการปกครองตนเอง” เป็นการเฉพาะ อาทิ กลุ่มว้า (UWSA) ต้องการสร้างรัฐว้า หรือแม้แต่กระทั่งการเจรจาต่อรองว่าการให้ความร่วมมือในการเจรจากับกองทัพในครั้งนี้ เป็นการรักษาไว้ซึ่งความสงบภายในประเทศ และไม่แทรกแซงกิจการภายในที่เป็นของคนพม่าแท้
ความน่าสนใจของการแตกแยกออกเป็นกลุ่มพันธมิตรทั้ง 3 กลุ่มของกลุ่มชาติพันธุ์นี้ จะพบว่าสิ่งที่น่าสนใจคือภายหลังจากการรัฐประหารดำเนินมา 2 ปี บางกลุ่มที่ไม่เคยให้ความร่วมมือหรือแสดงท่าทีในการสนับสนับสนุน “รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ” หรือ “กองกำลังป้องกันปกป้องประชาชน” นั้น เริ่มแสดงท่าทีสนับสนุนโดยทางอ้อมหรือ “สนับสนุนทางยุทธศาสตร์” โดยการไม่แสดงออก เช่น กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ หรือแม้แต่กระทั่งกลุ่มว้าเอง ไม่ยินยอมตอบตามข้อตกลงกับกองทัพเมียนมาครั้งล่าสุดว่าจะไม่ให้การสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ
นอกจากนั้นแล้ว จะพบว่ากลุ่มโกกั้ง (MNDAA) หรือแม้แต่กระทั่ง กลุ่มกองกำลังตะอ้าง (TNLA) ยังมีกำลังพลเพิ่มเติมอันเนื่องมาจากการหลบหนีปราบปรามกองทัพเมียนมา จนทำให้คนหนุ่มสาวเข้ามาร่วมกองกำลังอยู่ ซึ่งในช่วงปีแรกไม่เคยถูกเปิดเผยมากมายนัก แต่เมื่อเข้าใกล้ช่วงครบรอบการรัฐประหาร 2 ปี จำนวนกำลังคนใหม่ที่ปรากฏขึ้นกลับกลายเป็นคนรุ่นใหม่ที่เคยถูกปราบปรามจากกองทัพเมียนมา
การสลับสับเปลี่ยนพันธมิตรได้อย่างน่าสนใจดังกล่าวอาจจะเรียกได้ว่า จุดหมายปลายทางในการเลือกตั้งของเมียนมาที่เคยถูกตั้งไว้ในเดือนสิงหาคมในปีนี้ จะสามารถเกิดขึ้นได้ แต่จะไม่สามารถยุติสงครามกลางเมือง และชนะในเชิงการเมืองในประเทศของตนเองได้อย่างเบ็ดเสร็จ การเลือกตั้งจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้ในบางพื้นที่ และจะถูกตราหน้าอย่างชัดเจนว่าคือการสืบทอดอำนาจของกองทัพ
ในท้ายที่สุดแล้วการสลับสับเปลี่ยนพันธมิตรที่เกิดขึ้นในข้างต้นนี้คือเงื่อนไขในการต่อรองกับกองทัพเมียนมาโดยทางอ้อม เพราะไม่ได้มีอะไรพิสูจน์ได้เลยว่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยพูดคุยกับกองทัพเมียนมาจะไม่หันมาสู้รบกับกองทัพเมียนมา และในอีกด้านหนึ่งกองกำลังที่เคยร่วมสนับสนุนกองทัพเมียนมาอย่างใกล้ชิด ในช่วงขณะที่กลุ่มอื่นต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย อาจจะสุ่มเสี่ยง “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
ปี พ.ศ.2566 นี้ จึงเป็นปีแห่งการพิสูจน์การสร้างพันธมิตรอันแนบแน่นภายใต้เบื้องหลังสงครามคู่ขนาน ทั้งสงครามปฏิวัติ และความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ว่า “การสร้างพันธมิตรทั้งเบื้องลึกและเปิดเผยคือหัวใจของสงครามรอบใหม่” ซึ่งในท้ายสุดแล้วกลุ่มที่สร้างพันธมิตรได้มากกว่า และมีความเข้มแข็งมากกว่า คือ “ผู้ที่กุมความได้เปรียบในสงคราม”
-----------------------------
ภาพประกอบจาก Facebook : Kachin News Group