จากกรณีที่ น.ส.นูรไอนี สุหลง อายุ 21 ปี พ่อถูกยิงจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จ.ปัตตานี ได้โทรร้องขอความช่วยเหลือจากศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ หลังน้าสาว น.ส.ปาตีเมาะ มีเด็ง อายุ 34 ปี น้าสาว ป่วยโรคหัวใจ ลิ่นหัวใจรั่ว แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ทำการผ่าตัดและพบมีอาการแทรกซ้อน น้ำท่วม ปอด จึงทำการผ่าตัดอีกครั้ง รวมทั้งหมด 2 รอบ ซึ่งแพทย์แจ้งญาติผู้ป่วยอาการยังโคม่า ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทำให้การรักษาต้องมีค่าใช้จ่ายนอกระบบ ที่เบิกไม่ได้ตามสิทธิ์บัตรทอง เกือบหนึ่งแสนบาท
นอกจากนี้หากมีการผ่าตัดเพิ่มเติมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแจ้งว่า จะมีค่าห้องผ่าตัดและค่ายานอกระบบ ซึ่งไม่สามารถระบุค่าใช้จ่ายได้ ทำให้ น.ส.นูรไอนีฯ เครียดไม่รู้จะทำยังไง ขณะเดียวกันไม่ค่อยมีความรู้ จึงขอให้ทางศูนย์พัฒนาอาชีพฯ ช่วยคุยกับแพทย์
เนชั่นทีวีรายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้ออกมาอธิบายเรื่องนี้แล้ว โดยบอกว่า จากที่ได้รับรายงานมีเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วยที่ญาติไปผ่าตัดหัวใจและต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนเกินจากโรงพยาบาลเกือบ 1 แสนบาทนั้น ได้ตรวจสอบกับทางโรงพยาบาลผู้ให้บริการแล้วพบว่า ได้มีการแจ้งกับผู้ป่วยว่าต้องใช้เครื่องมือพิเศษ คือ “เครื่องพยุงปอดและหัวใจ” หรือ “เอคโม่”
โดยการใช้เครื่องเอคโม่นี้ ทาง สปสช.ได้มีการจ่ายค่าบริการนี้อยู่แล้วตั้งแต่ปี 2565 จ่ายครั้งละ 75,000 บาท จะเป็นค่าอุปกรณ์ตัวกรองชุดเกี่ยวกับสายที่จะต่อกับร่างกายผู้ป่วย โดยตั้งแต่อนุมัติเครื่องนี้เมื่อปี 2565 มีผู้ป่วยใช้เครื่องเอคโม่และเบิกค่าใช้จ่ายมาทาง สปสช. 216 ราย แต่ในจำนวน 216 รายไม่มีโรงพยาบาลศูนย์ยะลาที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ แต่อาจจะมีปัญหาด้านการสื่อสารกับผู้ป่วยก็เป็นได้
“ทางโรงพยาบาลบอกว่าเป็นการแจ้งกับญาติผู้ป่วยว่า อุปกรณ์ชิ้นนี้มีค่าใช้จ่าย แต่ไม่ได้เป็นการเรียกเก็บจากตัวผู้ป่วย แต่จะมาเรียกเก็บกับ สปสช.” นพ.จเด็จ กล่าว และว่า สปสช.ได้โทรคุยกับผู้ป่วยแล้วว่า การรักษาโรคและการผ่าตัดหัวใจไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม กรณีดังกล่าวเป็นการผ่าตัดหัวใจอยู่ในสิทธิ 30บาท เพราะฉะนั้นอุปกรณ์ใดๆ ที่ใช้ผ่าตัดหัวใจก็อยู่ในสิทธิประโยชน์ทั้งหมด
ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในหลักประกันสุขภาพที่กำหนดมาสูงสุดที่จะจ่ายคือ 30 บาท ถ้าค่าใช้จ่ายเกิน 30 บาทจะไม่ถูกต้อง จึงขอให้ประชาชนที่ถูกเรียกเก็บเงินเกิน 30 บาท ให้โทรหาสายด่วน 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแอดไลน์ สปสช.ก็ได้ เพราะว่าส่วนหนึ่งอาจจะมีบางโรงพยาบาลที่ยังไม่ทราบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด
@@ 3 กรณีอยู่นอกเหนือ 30 บาท
เลขาธิการ สปสช. ยังอธิบายด้วยว่า สิทธิที่ไม่อยู่ในระบบ 30 บาท มี 3 กรณีคือ
1.การเสริมสวยที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
2.การดำเนินใดๆ ทางการแพทย์ที่ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดลอง
3.การปลูกถ่ายอวัยวะที่ สปสช.ไม่ได้กำหนด
นพ.จเด็จ ย้ำว่า สิ่งที่ประชาชนต้องรู้คือ ประชาชนต้องจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการเข้ารับบริการสูงสุดไม่เกิน 30 บาทเท่านั้น แต่หากอยู่ในกลุ่มยกเว้นไม่ต้องจ่าย เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี, ผู้สูงอายุ, ผู้อยู่ในสิทธิการรักษาพยาบาลรายได้น้อย หรือว่าเป็นผู้พิการต่างๆ เหล่านี้ไม่ต้องจ่าย แต่หากผู้ป่วยต้องจ่ายเกิน 30 บาท ให้โทรหา สปสช. ที่สายด่วน 1330 ได้ตลอด24 ชั่วโมง เพราะสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงค่ายาในการรักษาผู้ป่วย จะต้องจ่ายไม่เกิน 30 บาท
“ส่วนใหญ่พบมีปัญหาการสื่อสารเยอะขึ้น จึงอยากให้โรงพยาบาลค่อยๆ ชี้แจงกับผู้ป่วยให้ชัดเจนมากกว่าเดิม” นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้าย