ถ้าจะพูดกันอย่างเป็นธรรม ก็ต้องบอกว่ายังไม่มีรัฐบาลชุดไหนแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ทั้งๆ ที่ผ่านมาแล้ว 9 รัฐบาล 7 นายกรัฐมนตรี ก็ยังไม่มีวี่แววว่าไฟใต้จะดับมอดลง
แต่ที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดก็คือเพราะประชาชนทั่วไปคาดหวังกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นรัฐบาล คสช. ต่อด้วยการแปลงร่างเป็นรัฐบาลพลเรือน
เนื่องจากปัญหาภาคใต้นัยหนึ่งถูกมองว่าเป็นปัญหาความมั่นคง ฉะนั้นเมื่อคนจากหน่วยงานความมั่นคง เป็นอดีต ผบ.ทบ. เป็นอดีต ผอ.รมน. มาเป็นนายกฯ น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
ทว่าตั้งแต่ท่านมารับไม้ต่อเมื่อปี 57 จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์รวมๆ มีแต่ทรงกับทรุด
สถิติเหตุรุนแรงลดลงระดับหนึ่ง อาจจะเรียกได้ว่าทรงๆ แต่ก็เกิดคำถามว่าที่ความรุนแรงมันลดลง เพราะเขาเลิกก่อเหตุ แล้วหันมารบด้วยวิธีอื่น หรือ “เปลี่ยนสมรภูมิรบ” ไปแล้วหรือไม่
งานวิจัยจากภาควิชาการซึ่งมีอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฝ่ายความมั่นคงเองเข้าไปร่วมจัดทำด้วย ชี้ชัดว่ากระบวนการบ่มเพาะแนวคิดแบ่งแยกดินแดน ตั้งรัฐใหม่ หรือสถาปนารูปแบบการปกครองใหม่ๆ ยังมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการไป ไม่ได้จับอาวุธเข้าสู้เหมือนช่วงแรกๆ (ก่อนปี 47) แต่เปลี่ยนมาใช้สมรภูมิทางการเมือง การเคลื่อนไหวทางสังคม อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมแทน
ต้องบอกว่าจังหวะก้าวของกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐนั้นไม่ธรรมดา สอดรับกับ “เทรนด์” หรือทิศทางของโลก จากยุคก่อการร้าย สร้างนักรบรุ่นใหม่ในอดีต มาสู่ยุค “ซอฟต์ เพาเวอร์” ในปัจจุบัน
ถามว่าเมื่อ “ฝ่ายเขา” ปรับตัว ปรับทิศทางการเคลื่อนไหวแล้ว “ฝ่ายเรา” ปรับตามหรือไม่ หรือยังมีมุมมอง กรอบคิด และวิธีการรับมือแบบเดิมๆ
อย่างเช่นปรากฏการณ์การรวมตัวของเยาวชนชาย (เปอร์มูดอ) และเยาวชนหญิง (เปอร์มูดี) เมื่อกลางปีที่แล้ว นัดรวมตัวกันหลักหมื่นถึงหลายหมื่นคนโดยที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงแทบจะไม่รู้ระแคะระคายล่วงหน้า
และแม้จะรู้หลังเกิดการรวมตัวครั้งแรกแล้ว แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นได้ในการนัดรวมตัวครั้งที่ 2
นี่คือสัญญาณบอกเหตุอะไรหรือไม่?
ช่วงเวลานั้น หลายคนได้เห็นคลิปการรวมตัวกันของเยาวชนในชุดมลายูแล้วตกใจ ตั้งคำถามว่าฝ่ายความมั่นคงทำอะไรกันอยู่ มีการแปลภาษามลายูจากคำปราศรัย อ้างว่ามีถ้อยคำหมิ่นเหม่ทางความมั่นคง กลายเป็นแรงกดดันในระดับพื้นที่ให้มีการหาตัวแกนนำ และหาช่องดำเนินคดี แต่สุดท้ายก็ทำอะไรไม่ได้
ฝ่ายผู้จัดและเยาวชนที่ไปร่วมกิจกรรมตั้งคำถามกลับว่า พวกเขาแต่งกายด้วยชุดมลายู ชุดประจำถิ่น สะท้อนอัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น...ผิดตรงไหน
กลายเป็นบรรยากาศมึนๆ งงๆ เบลอๆ เหมือนทานอาหารเข้าไปแล้วไม่ย่อย มันอึดอัด ทำอะไรไม่ได้ คล้ายเข้าไปรบในสมรภูมิใหม่ แล้วรบไม่เป็น
ต่อมาช่วงปลายปีมีการผลิต “เกมไพ่” หรือที่เรียกกันว่า “การ์ดเกม” เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บาดแผลของคนปาตานี (จริงๆ คือปัตตานี หมายถึงคนชายแดนใต้ แต่ระยะหลังกลุ่มเคลื่อนไหวที่คิดต่างกับรัฐ พยายามใช้คำว่า “ปาตานี” เพื่อสร้างอัตลักษณ์ใหม่ โดยอ้างประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์เดิม) โดยเฉพาะเรื่องการถูกเกณฑ์ไปเป็นเชลย เจาะเอ็นร้อยหวาย ขุดคลองแสนแสบที่กรุงเทพฯ
เรื่อง “การด์เกม” กับประวัติศาสตร์บาดแผล ถูกโต้กลับด้วยข้อมูลทางวิชาการจากนักประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับหลายคนว่า “เกินจริง” และไม่น่าจะเป็นความจริง
การหยิบเอาเรื่องแบบนี้มาขยายผล ทำเป็นเกมให้เล่นกันในหมู่เยาวชนคนรุ่นใหม่ เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไรเป็นเรื่องที่เดาไม่ยาก แถมยังมี “กลุ่มการเมือง” ที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองให้ทุนสนับสนุน
แต่สิ่งที่เป็นโจทย์ยากคือฝ่ายรัฐจะรับมืออย่างไร เพราะที่ผ่านมามีความพยายามใช้ “กฎหมาย” เข้าไปจัดการ แต่หาช่องทางไม่ได้
มีความพยายามส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสังเกตการณ์ กดดันตามร้านกาแฟที่เปิดให้เล่นการ์ดเกม รวมถึงสถานที่จัดการแข่งขัน ตำรวจบางท้องที่มีการยึดเกมไปเป็นของกลาง แต่ไม่รู้จะดำเนินคดีอะไร ภาพที่ออกมาถูกนำไปขยายผลว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ กำลังรบกับเกมไพ่ เกมกระดาษ
เสียงลือเสียงเล่าอ้างได้ยินกันให้แซ่ดว่า คำสั่งย้ายผู้การปัตตานีนอกฤดูเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวพันกับท่าทีการไม่ยอมดำเนินคดีในเหตุการณ์เหล่านี้ด้วยหรือไม่
ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีคำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ลงนามโดย พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 แต่งตั้ง “คณะทำงานติดตามตรวจสอบกิจกรรมที่มีการบิดเบือนประวัติศาสตร์ของภาคประชาสังคมและด้านการเมือง”
วัตถุประสงค์เขียนชัดใน “อำนาจหน้าที่” คือเพื่อหาข้อมูลประเด็นความผิด และส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
คณะทำงานมี 22 คน เป็นทหารและตำรวจทั้งหมด มีรองแม่ทัพเป็นหัวหน้า
แน่ใจหรือว่านี่คือวิธีการแก้ปัญหาการบิดเบือนประวัติศาสตร์ และการสร้างกระแสใหม่ๆ สร้างแนวร่วมใหม่ๆ โดยใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ กับกิจกรรมทางสังคมเป็นเครื่องมือ
คณะทำงานไม่มีผู้รู้ทางประวัติศาสตร์ ไม่มีผู้รู้ทางกฎหมาย หรือนักการศาสนา หรือกูรูด้านวัฒนธรรมแม้แต่คนเดียว แล้วการทำงานของคณะที่ว่านี้จะได้รับการยอมรับได้อย่างไร โดยเฉพาะหากมีการชี้ผิดชี้ถูก โดยใช้กฎหมายเข้าไปจับ
ซ้ำร้ายการตั้งคณะทำงานแบบนี้ในห้วงเวลาใกล้เลือกตั้ง และเขียนในคำสั่งโจ่งแจ้งว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง จะกลายเป็นตัวเร่งให้เกิดกระแสตีกลับหรือไม่
วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ เป็นกรอบคิดเดิมๆ ที่ไม่เคยเปลี่ยนของผู้มีอำนาจรัฐ และฝ่ายที่ถือกฎหมาย ซึ่งดูจะยิ่งใช้อำนาจอย่างกว้างขวางหลากหลายมากกว่าเดิมในรัฐบาลทหาร และรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากทหาร
ทบทวนเสียเถิดครับ...ก่อนที่อะไรๆ มันจะแย่ไปกว่านี้!
----------------------------------
หมายเหตุ - บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "โหมโรง" หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกหลัง ฉบับวันจันทร์ที่ 30 ม.ค.2566