“โต๊ะพูดคุยดับไฟใต้” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเดินหน้าต่อไปแน่นอนแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลของมาเลเซีย และประเทศไทยเองก็กำลังจะมีการเลือกตั้งใหญ่ในอีกไม่นานนี้
ฟากฝั่งมาเลเซียให้ความสำคัญกับโต๊ะพูดคุยฯ เพราะเมื่อตั้งรัฐบาลเรียบร้อย นายกรัฐมนตรีคนใหม่ตั้งหลักได้ ก็มีการตั้ง “ผู้อำนวยความสะดวก” กระบวนการพูดคุย (Facilitator) คนใหม่ทันที เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดของมาเลเซีย
ขณะที่ฝ่ายไทย คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงที่ผ่านมาการนัดหมายเพื่อพูดคุยพบปะจะหยุดชะงักไปบ้าง ขณะที่ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐในนามบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นผู้ร่วมโต๊ะพูดคุย ที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบสนิท
วันพุธที่ 25 ม.ค.66 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ฝ่ายรัฐบาลไทย ได้นัดประชุมหารือร่วมกับ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4, พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 และคณะทำงานระดับพื้นที่ ที่เรียกว่า “สล.3” พร้อมเจ้าหน้าที่ ภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา จำนวนกว่า 200 คน เพื่อติดตามความคืบหน้าและวางแนวทางของกระบวนการพูดคุยฯ
พล.อ.วัลลภ ซึ่งเป็นอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์กับ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงอนาคตของโต๊ะพูดคุยฯ และแนวโน้มของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของทั้งไทยและมาเลเซีย
ประเด็นแรกที่ พล.อ.วัลลภ แสดงความกังวลก็คือ ผู้ที่ร่วมอยู่บนโต๊ะพูดคุยฯ เป็นฝ่ายกองกำลังที่มีศักยภาพจริงของบีอาร์เอ็นหรือไม่ หรือคณะพูดคุยฯ กับฝ่ายกองกำลังแยกส่วนกัน เพราะที่ผ่านมายังคงมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นต่อเนื่อง และทวีความถี่มากขึ้นในระยะหลัง
“เราก็ไม่มั่นใจว่าฝ่ายที่ขึ้นโต๊ะพูดคุย กับฝ่ายที่เป็นกองกำลังทหารของเขา มีการพูดคุยก่อนที่จะขึ้นโต๊ะพูดคุยหรือเปล่า หรือฝ่ายพูดคุยขึ้นโต๊ะพูดคุยก่อนแล้วค่อยไปบอกฝ่ายทหาร ถ้าฝ่ายทหารเห็นด้วยก็จะหยุดยิง ถ้าฝ่ายทหารไม่เห็นด้วยก็ ไม่หยุดยิง คุยก็คุยไป ทหารก็ว่าไป”
แต่สำหรับฝ่ายไทย พล.อ.วัลลภ บอกว่า เป็นตัวจริงทั้งคณะ
“ผมยืนยันว่าคนขึ้นโต๊ะพูดคุยฯ ของเราเป็นของจริงทุกคน แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี คงไม่มีใครเป็นตัวปลอม ส่วนฝ่ายเขาเราไม่รู้ อยากให้ทุกคนช่วยพิสูจน์ว่าคนที่ขึ้นโต๊ะมาคุยเป็นตัวจริงหรือเปล่า เขาอาจเป็นตัวจริงในระดับหนึ่งที่อาจจะไม่ใช่ตัวใหญ่ ดูจากการพูดคุย บางครั้งถ้าความเห็นตรงกัน เขาก็สามารถควบคุมได้ เช่น ในเรื่องของรอมฎอนสันติสุข”
ปัญหาสำคัญของโต๊ะพูดคุยฯ ซึ่งฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐเปลี่ยนตัวเปลี่ยนกลุ่มมาแล้ว 3 คณะ นับตั้งแต่ปี 2556 หรือในรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้นมา เริ่มจากบีอาร์เอ็นภายใต้การนำของ นายฮัสซัน ตอยิบ มาสู่ “กลุ่มมารา ปาตานี” ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม และล่าสุดกลับมาเป็นบีอาร์เอ็นอีกครั้ง ภายใต้การนำของ นายอนัส อับดุลเราะมาน หรือ อุสตาซฮีฟนี หรือ อุสตาซหีพนี มะเร็ะ ซึ่งเริ่มต้นกระบวนการพูดคุยมาตั้งแต่เดือน ม.ค.63 ทำให้เกิดคำถามของฝ่ายรัฐบาลไทยว่า คุยแล้วจบหรือไม่ เพราะแท้ที่จริงแล้วกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมีหลายกลุ่มหลายพวก
“กลุ่มต่างๆ ของขบวนการเองอยากให้เข้ามามีส่วนร่วม มาราฯ หรือกลุ่มอื่นๆ ก็ต้องการ ปัญหาที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือเขาร่วมกันไม่ได้ เราก็พยายามให้เขา พูดคุยทุกกลุ่ม คือสิ่งที่เราพยายามผลักดันและดำเนินการอยู่” พล.อ.วัลลภ บอก
แม้การรวมทุกกลุ่มของผู้เห็นต่างจากรัฐมาขึ้นโต๊ะพูดคุยพร้อมกันยังเป็นไปได้ยาก แต่การพูดคุยในกระบวนการปัจจุบันก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะบีอาร์เอ็นเองก็เป็นขบวนการต่อสู้ที่มีบทบาทสูงที่สุดต่อสถานการณ์ไฟใต้ในห้วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
“เราจะมีการพูดคุยวงใหญ่ ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปลายเดือน ก.พ. แต่ก่อนหน้านั้น คณะผู้อำนวยความสะดวกฯ จะเดินทางมา กทม.ก่อน ในวันที่ 3 ก.พ. หลังจากการพูดคุยวงใหญ่ครั้งที่ 5 เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา (ปี 65) การดำเนินการอาจจะชะลอล่าช้า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมาเลเซีย การเปลี่ยนแปลงผู้อำนวยความสะดวก การพูดคุยอาจล่าช้าไป” พล.อ.วัลลภ ระบุ
พร้อมเผยถึงแนวทางการพูดคุยที่เตรียมเอาไว้ “เราคงขยายผลต่อหลังจากได้ข้อตกลงทั้ง 3 ประการ หลังจากนั้นก็จะลงรายระเอียดแต่ละข้อ เพื่อให้ไปสู่การทำข้อตกลงที่จะทำให้เกิดความสงบสุข”
3 ประเด็นที่ พล.อ.วัลลภ พูดถึง ประกอบด้วย การลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่, การมีส่วนร่วมทางการเมือง และกลไกการปรึกษาหารือในพื้นที่
โดยในการพูดคุยฯเพื่อเดือน ส.ค.65 ได้มีการเสนอแนวทางการลดหรือยุติความรุนแรงจากทั้งสองฝ่าย รวมทั้งแนวคิดการจัดเวทีปรึกษาหารือกับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะต้องมีการจัดกลไกที่เหมาะสมร่วมกัน
พล.อ.วัลลภ เน้นว่า กระบวนการพูดคุยฯต้องเดินหน้าต่อไป แม้ประเทศไทยจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอนาคตอันใกล้ก็ตาม
“เรื่องของกระบวนการพูดคุยฯ เป็นนโยบายรัฐบาล อยู่ในแผนงานเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าใครจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กระบวนการพูดคุยฯยังคงอยู่ แผนงานต่างๆ ที่ได้วางไว้ ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระยะข้างหน้าก็ตาม โดยในระยะเวลาที่เหลืออยู่เราจะดำเนินการอย่างเต็มที่ตามที่เราได้วางแผนเอาไว้ ก็แล้วแต่นโยบายของพรรคการเมืองหรือว่าความต้องการของประชาชนในพื้นที่อาจมีความแตกต่างหลากหลาย เช่น เรื่องเขตปกครองพิเศษ เรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่เราต้องมาปรึกษาหารือกัน หรือถกแถลงร่วมกัน เพื่อสร้างการยอมรับทุกภาคส่วน”
จังหวะก้าวของกระบวนการพูดคุยฯที่ พล.อ.วัลลภ วางเอาไว้ในใจ นั่นก็คือ การจัดทำโรดแมปสันติภาพร่วมกันจากความเห็นพ้องของทั้งสองฝ่าย แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็จากการมีส่วนร่วมของประชชนอย่างแท้จริงเท่านั้น
“การมีส่วนร่วมของประชาชนถือว่ามีความสำคัญมาก ทุกคนจะต้องเป็นเจ้าของการพูดคุย คิดว่าปี 2566 ตั้งใจจะทำโรดแมปสำเร็จ ที่เราจะทำร่วมกัน” พล.อ.วัลลภ ระบุ
และนี่คือทิศทางของกระบวนการสันติภาพ สันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงเป็นความคาดหวังของทุกคน ทุกฝ่ายเสมอมา...