หลังจาก “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอเรื่องราวของ พระสุชาติ อินทันแก้ว พระลูกวัดปุราณประดิษฐ์ ต.บางโกระ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงนานเกือบ 12 ปี เพราะตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ความรุนแรง ถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงขณะออกบิณฑบาต เหตุเกิดเมื่อวันที่ 5 มี.ค.54
จริงๆ แล้วในเหตุการณ์ร้ายครั้งนั้น ยังมี สามเณรสกล เสมสันต์ จากวัดศรีมหาโพธิ์ อ.โคกโพธิ์ ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุเพียง 16 ปี ถูกยิงได้รับบาดเจ็บด้วยอีก 1 รูป
ผ่านมาแล้ว 12 ปี สามเณรสกลในวันนั้น หรือ นายสกล เสมสันต์ วัย 28 ปีในวันนี้ โดยหลังประสบเหตุร้ายก็ไม่ได้ลาสิกขา แต่ได้ตัดสินใจบวชเป็นพระต่อมาเรื่อยๆ เพิ่งสึกจากความเป็นพระเมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้วนี้เอง
ตลอดมา อดีตสามเณรสกล มีบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทั้งยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเขาอยู่
“ในช่วงที่ยังเป็นพระ ได้เรียนในวิทยาลัยสงฆ์จนจบปริญญาตรี เรียนคณะรัฐศาสตร์ แต่ตอนนี้ได้สึกออกมาแล้ว ได้แต่หางานในมือถือ เพราะจะไปก็ไม่มีเงิน ทั้งค่ารถ ค่าอะไรอีก หาในมือถือก็ยังไม่มีงานให้สมัคร ก็ได้แต่รอ ไม่รู้เมื่อไหร่เขาจะเปิดรับสมัคร”
“ผมอยากหางานทำเพื่อที่จะได้แบ่งเบาภาระพ่อแม่ เป็นเรื่องที่กังวลมากตอนนี้ นอกจากเรื่องสุขภาพ ชีวิตแต่ละวันก็ไม่ได้ทำอะไรเลย อยู่แต่ในบ้าน อยากทำงาน อยากได้เงินมาช่วยเหลือครอบครัว ชีวิตเปลี่ยนเลยหลังจากเกิดเหตุ ทั้งร่างกาย ความคิด ความเป็นอยู่ไม่เหมือนเดิม อยากให้หน่วยงานรัฐช่วยหางานให้ด้วยเท่าที่พอทำได้” เป็นเสียงจากอดีตสามเณรที่วันนี้ออกมาเผชิญกับโลกฆราวาส
ขณะที่ นฤมล แว่นแก้ว มารดาของอดีตสามเณรสกล เปิดใจกล่าวทั้งน้ำตาว่า เครียดและทุกข์มาตลอด
“แม้จะท้อกับชีวิตอย่างไรก็ต้องสู้ เพราะเรามีลูก มีหลาน มีทุกคนที่ต้องดูแล เราคนจนไม่มีสมบัติอะไร ไม่มีเส้นไม่มีสาย ลูกคนเล็กที่เคยถูกยิงที่แก้ม (อดีตสามเณรสกล) ตอนนี้เขาก็เรียนจบแล้ว กำลังหางานทำ ส่วนลูกสาวเป็นครูอยู่ต่างจังหวัด กำลังจะทำเรื่องย้ายกลับมาในพื้นที่ อยากให้หน่วยงานภาครัฐ ช่วยพวกเราด้วย”
“ตอนที่ลูกชายได้รับบาดเจ็บใหม่ๆ หลายฝ่ายก็บอกว่า ถ้าลูกชายเรียนจบจะให้ทำงานที่นั่นที่นี่ ตอนนี้เรียนจบแล้ว อยากให้ช่วยเขาด้วย จะได้มาแบ่งเบาภาระ เมื่อก่อนมี 4,500 บาท (โครงการจ้างงานเร่งด่วน) ตอนนี้ไม่มีแล้ว ทำให้ต้องเดือดร้อน มีเพื่อนบ้านสงสารให้ลูกไปช่วยงานที่ร้านเขา เราพอได้มีกินไปวันๆ ส่วนค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ต้องกู้ไปจ่ายเขา ติดหนี้ทุกเดือน ชีวิตลำบากไม่รู้จะไปบ่นกับใคร หากินรายวันก็ติดหนี้ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว รายจ่ายเยอะ รายได้น้อย มันเลยไม่พอ ถ้าลูกชายได้งานทำ ชีวิตจะดีกว่านี้ ลูกสาวได้ย้ายกลับมาในพื้นที่ เราได้มาอยู่จุดเดียวกัน ภาระจะได้ลดลง”
นฤมล เล่าต่ออีกว่า อาการของลูกชายทุกวันนี้ยังไม่ค่อยเต็มร้อย ไม่ปกติ ป่วยตลอด เราก็ไม่ได้ไปหาหมอ และหมอก็ไม่ได้นัด เพราะถ้าพาไปก็ไม่มีเงิน ไหนค่ารถค่าอะไรอีกหลายอย่าง ใจจริงอยากพาเขาไปตรวจ จะได้รู้ว่าเขาเป็นอะไร เพราะบางช่วงมีอาการลิ้นจุกปาก พูดไม่รู้เรื่อง ทำให้เป็นคนเก็บตัว ไม่ไปไหน อยู่แต่ในบ้าน อาจจะเพราะเขากลัวด้วยและไม่มีเงิน จะไปทำอะไรเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ เขา อยากรู้ว่าอาการแบบนั้น เป็นเพราะอะไร ต้องรักษาไหม เลยอยากให้ภาครัฐช่วยตรงนี้ด้วย
“อยากบอกหน่วยภาครัฐว่า มีเคสใหม่แล้ว ก็อย่าลืมคิดเคสเก่าๆ ทุกคน ไม่ใช่เราคนเดียว รัฐทิ้งหายเลย ลอยแพเราเลย โดนใหม่ๆ มาบอกไม่เป็นไร อันนั้นก็ได้ อันโน้นจะช่วย พอนานๆ หายเลย อันนี้ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ไม่มี ทำยังไงได้ เราคนไม่มีเส้นไม่มีสาย เลยกลัวว่าลูกสาวจะไปขอย้ายแล้วจะมีคนอื่นมาเสียบแทน”
@@ “ทีมนางฟ้าชุมชน” ถวายเบาะป้องกันแผลกดทับ “พระสุชาติ”
ด้านความช่วยเหลือที่เริ่มหลั่งไหล หลังจากเรื่องราวของ พระสุชาติ อินทันแก้ว พระลูกวัดปุราณประดิษฐ์ ที่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ถูกนำเสนอออกไปผ่านศูนย์ข่าวอิศรา ทำให้ ผศ.ดร.บุญธรรม นิธิอุทัย อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ทีมพัฒนานวัตกรรม “ที่นอนป้องกันแผลกดทับ” พร้อมกับ อ.นวมน จันทร์กลิ่น ประธานโครงการนางฟ้าชุมชน และ ผศ.สุนิดา อรรถอนุชิต ผู้ริเริ่มโครงการนางฟ้าชุมชน ได้เดินทางเข้านมัสการพระสุชาติ และร่วมกันถวายที่นอนแด่ พระสุชาติ ให้ได้บรรเทาอาการแผลกดทับและมีสุขภาพดีขึ้น
โอกาสนี้ พระสุชาติ และมารดาที่เฝ้าดูแลอยู่ที่วัด ได้กล่าวขอบคุณคณะนางฟ้าชุมชน
"ขอบคุณน้ำใจในครั้งนี้มากๆ ขอบคุณทุกคนที่มีน้ำใจให้ผมและแม่ ได้ลองนั่งดูแล้ว รู้สึกสบายตัวขึ้น หวังให้แผลกดทับค่อยๆ หาย แม่จะได้ไม่ลำบากไปมากกว่านี้" พระสุชาติ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.บุญธรรม กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวขณะที่ อ.สุนิดา ไปทำอุมเราะห์ที่ซาอุดิอาระเบีย เหมือนมีผลบุญร่วมกัน เป็นเรื่องที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ตั้งใจทำและมอบให้เพื่อป้องกันแผลกดทับและให้สุขภาพผู้ป่วยดีขึ้น ที่นอนนี้สามารถกระจายแรงกดทับ ช่วยให้แผลกดทับหายดีขึ้น ลดภาระของผู้ดูแล จากเดิมที่ต้องพลิกตะแคงตัวทุก 2 ชั่วโมง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย