4 มกราคม 2566 เป็นวันครบรอบ 19 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่ที่ถูกระบุว่าเป็น “ปฐมบทไฟใต้รอบใหม่” ที่เกิดความรุนแรงรายวันยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เกิดเหตุคนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ “ค่ายปิเหล็ง” ตั้งอยู่ที่บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ได้ปืนไปล็อตมโหฬาร มากถึง 413 กระบอก มีทหารที่เฝ้าเวรยามรักษาค่ายถูกยิงเสียชีวิตด้วย
อาวุธปืนเหล่านั้นถูกนำมาใช้เป็นยุทโธปกรณ์หลักในกิจกรรมก่อความไม่สงบนับแต่นั้นมา ผสมกับเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ ทั้งลอบวางระเบิดแสวงเครื่อง วางเพลิงเผาสถานที่ราชการ โรงเรียน ธุรกิจเอกชน และบ้านเรือนประชาชน หรือแม้แต่การชุมนุมประท้วง ซึ่งเกิดขึ้นแทบจะรายวันตลอด 19 ปีที่ผ่านมา
แม้ในห้วงปีหลังๆ เหตุรุนแรงจะลดน้อยลงในแง่ของจำนวน และเว้นระยะห่างมากขึ้น โดยเหตุการณ์ความไม่สงบส่วนใหญ่มาในรูปของการก่อกวนมากกว่าเดิม แต่เหตุรุนแรงขนาดใหญ่ก็ยังเกิดอยู่เป็นระยะ ถึงขั้นวางระเบิดปั๊มน้ำมันก็มีมาแล้วในปี 2565 ที่ผ่านมา
ฉะนั้นจึงไม่มีใครกล้าการันตีว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ได้เข้าสู่ภาวะสงบสุขแล้วอย่างสมบูรณ์
เพราะฝ่ายความมั่นคงเองก็ยังไม่ยอมยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ ทั้ง “กฎอัยการศึก” ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ไฟใต้ปะทุใหม่ๆ รวมถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ที่เริ่มใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยต่ออายุขยายเวลาทุกๆ 3 เดือนมาแล้วถึง 70 ครั้ง
แน่นอนว่าการแก้ปัญหา ย่อมต้องใช้เงินงบประมาณ ปรากฏว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา รวมทั้งสิ้น 9 รัฐบาล 7 นายกรัฐมนตรี ใช้งบไปแล้วทั้งสิ้น 4.9 แสนล้านบาท เรียกว่า “จ่อครึ่งล้านล้าน” เข้าไปแล้ว แต่เมื่อพลิกดูสถิติไฟใต้ปีล่าสุด กลับพบว่ายังคงมีเหตุรุนแรง ท่ามกลางบรรยากาศของความพยายามพูดคุยเจรจาหาทางออกด้วยสันติวิธี แต่ “โต๊ะพูดคุย” กลับยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม
@@ ตลอดปี 65 ป่วนใต้ 228 เหตุการณ์
สถิติเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบปี 2565 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป มีเหตุรุนแรงทุกประเภทเกิดขึ้นจำนวน 228 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย (ทหาร ตำรวจ ปกครอง) สืบสวนสอบสวนร่วมกันแล้วลงความเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ความมั่นคง ซึ่งกระทำการโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน จำนวน 93 เหตุการณ์ ที่เหลือเป็นเหตุอาชญากรรมที่มาจากความขัดแย้งส่วนตัว 130 เหตุการณ์ และอีก 5 เหตุการณ์ยังไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อแยกแยะรูปแบบของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น พบว่า เป็นเหตุโจมตีที่ตั้ง 3 เหตุการณ์, เหตุซุ่มโจมตี 2 เหตุการณ์, ลอบยิง 138 เหตุการณ์ แต่เป็นเหตุความมั่นคงเพียง 19 เหตุการณ์เท่านั้น ที่เหลืออีก 114 เหตุการณ์ เป็นอาชญากรรมที่มาจากความขัดแย้งส่วนตัว และอีก 5 เหตุการณ์ยังไม่ทราบสาเหตุ
นอกจากนั้นยังมีเหตุลอบวางระเบิดถึง 70 เหตุการณ์ แต่ในจำนวนนี้มี 2 เหตุการณ์ที่เป็นอาชญากรรมส่วนตัว
เหตุระเบิดทั้งหมด 70 เหตุการณ์ แยกเป็นรูปแบบการวางระเบิดดักสังหาร 53 ครั้ง และระเบิดขว้าง 16 ครั้ง
เหตุวางเพลิง เกิดขึ้นทั้งหมด 4 เหตุการณ์ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นเหตุความมั่นคงเพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้น ที่เหลือเป็นเหตุก่อกวน 2 เหตุการณ์
และยังมีเหตุทำร้าย (ไม่ถึงตาย) 11 เหตุการณ์ แต่เหตุทำร้ายทั้งหมด ไม่มีเหตุความมั่นคง
สำหรับเหตุรุนแรงทุกประเภท เมื่อแยกรายจังหวัด (นับรวมทั้งเหตุความมั่นคงและเหตุอาชญากรรมส่วนตัว) จะพบว่าในปี 2565 จ.นราธิวาส มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากที่สุด 106 เหตุการณ์ ตามด้วย จ.ยะลา 61 เหตุการณ์ จ.ปัตตานี 45 เหตุการณ์ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 16 เหตุการณ์ (รวมทุกพื้นที่ 228 เหตุการณ์)
@@ 19 ปีไฟใต้ รุนแรง 1 หมื่นเหตุการณ์ สังเวยกว่า 4 พันศพ
ส่วนสถิติเหตุรุนแรงทุกประเภทที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน หรือ “สถิติ 19 ปีไฟใต้” มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหมด 16,489 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้เป็นเหตุความมั่นคง 10,376 เหตุการณ์ ที่เหลือเป็นอาชญากรรมทั่วไป และยังไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อแยกแยะรูปแบบการก่อเหตุ จะพบว่า ตลอด 19 ปีไฟใต้มีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นดังนี้
โจมตีที่ตั้ง 51 เหตุการณ์
ซุ่มโจมตี 197 เหตุการณ์
ลอบยิง 9,797 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 4,440 เหตุการณ์)
ลอบวางระเบิด 3,805 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 3,739 เหตุการณ์)
ลอบวางเพลิง 1,759 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 1,530 เหตุการณ์)
ฆ่าด้วยวิธีทารุณ 108 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคง 92 เหตุการณ์)
ประสงค์ต่ออาวุธ 180 เหตุการณ์
ทำร้าย 491 เหตุการณ์ (เป็นเหตุความมั่นคงเพียง 49 เหตุการณ์)
อื่นๆ 36 เหตุการณ์
@@ ก่อกวนเกือบ 4 พันเหตุการณ์ ปะทะ 359 ครั้ง
สำหรับเหตุก่อกวน ซึ่งมีการนับสถิติแยกจากเหตุรุนแรงทั่วไป มีทั้งสิ้น 3,690 เหตุการณ์ ประกอบด้วย
ยิงรบกวน 377 เหตุการณ์
ขว้างระเบิดเพลิง 81 เหตุการณ์
เผายางรถยนต์ 472 เหตุการณ์
โปรยตะปูเรือใบ 230 เหตุการณ์
ตัดต้นไม้ 143 เหตุการณ์
ถอดหมุดรางรถไฟ 45 เหตุการณ์
วางวัตถุต้องสงสัย 438 เหตุการณ์
อื่นๆ 1,904 เหตุการณ์
และยังมีการนับสถิติการยิงปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กับกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัย รวมถึงกลุ่มก่อความไม่สงบด้วย นับรวมได้ 359 เหตุการณ์
@@ ปี 65 ยังมีเหยื่อสังเวยไฟใต้ 23 ศพ
อีกด้านหนึ่งเป็นสถิติความสูญเสียชีวิตและร่างกาย จากสถานการณ์ไฟใต้ในรอบปี 2565 ปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 23 ราย บาดเจ็บ 144 ราย (นับเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบที่เป็นเหตุความมั่นคง)
ในจำนวนนี้ แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
ตำรวจ เสียชีวิต 6 นาย บาดเจ็บ 58 นาย
ทหาร เสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บ 33 นาย
ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 2 ราย
ประชาชนทั่วไป เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 53 ราย
ปี 2565 ยังเป็นปีที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์สูญเสียมากกว่าหรือใกล้เคียงกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ แต่เป็นปีที่ไม่มีครู “แม่พิมพ์ของชาติ” สูญเสียเลย
@@ 19 ปีไฟใต้ สูญเสียกว่า 4 พันชีวิต บาดเจ็บกว่าหมื่น
สำหรับสถิติความสูญเสียตลอด 19 ปีไฟใต้ นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบทุกรูปแบบ จำนวนทั้งสิ้น 4,160 ราย บาดเจ็บ 11,169 ราย แยกตามกลุ่มอาชีพได้ดังนี้
ตำรวจ เสียชีวิต 410 นาย บาดเจ็บ 1,740 นาย
ทหาร เสียชีวิต 611 นาย บาดเจ็บ 2,894 นาย
ครู เสียชีวิต 109 ราย บาดเจ็บ 130 ราย
เจ้าหน้าที่รถไฟ เสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 44 ราย (ยังไม่นับรวมเหตุการณ์ระเบิดรางรถไฟที่ จ.สงขลา เมื่อต้นเดือน ธ.ค.65)
ผู้นำท้องถิ่น เสียชีวิต 250 ราย บาดเจ็บ 172 ราย
ผู้นำศาสนา เสียชีวิต 24 ราย บาดเจ็บ 27 ราย
ประชาชน เสียชีวิต 2,695 ราย บาดเจ็บ 6,155 ราย
คนร้าย เสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บ 7 ราย
@@ ผ่างบดับไฟใต้ 20 ปีงบประมาณ จ่อ “ครึ่งล้านล้าน”
ในแง่ของการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “งบดับไฟใต้” ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2566 รวม 20 ปีงบประมาณนั้น ใช้เม็ดเงินที่กำหนดอยู่ใน “แผนงานดับไฟใต้” เป็นการเฉพาะ และแผนงานอื่นที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน รวมทั้งสิ้น 492,451.43 ล้านบาท หรือตัวเลขกลมๆ 4.9 แสนล้านบาท หรือเกือบ “ครึ่งล้านล้าน” นั่นเอง
สำหรับงบประมาณที่กำหนดอยู่ใน “แผนงานดับไฟใต้” เป็นการเฉพาะ มี 2 ชื่อด้วยกัน คือ
- แผนงานแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 ถึงปีงบประมาณ 2559
- แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือที่เรียกว่า “งบบูรณาการ” ถูกนำมาใช้ในรัฐบาล คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 จนถึงปัจจุบัน คือปีงบประมาณ 2566
เมื่อแยกแยะงบประมาณที่ใช้จ่ายรายปีงบประมาณ จะมีตัวเลขดังนี้
ปีงบประมาณ 2547-2559 แผนงานแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปี 2547 จำนวน 13,451 ล้านบาท
ปี 2548 จำนวน 13,675 ล้านบาท
ปี 2549 จำนวน 14,208 ล้านบาท
ปี 2550 จำนวน 17,527 ล้านบาท
ปี 2551 จำนวน 22,898 ล้านบาท
ปี 2552 จำนวน 20,991.60 ล้านบาท
ปี 2553 จำนวน 15,902 ล้านบาท
ปี 2554 จำนวน 19,387.80 ล้านบาท
ปี 2555 จำนวน 16,487.80 ล้านบาท
ปี 2556 จำนวน 21,124.90 ล้านบาท
ปี 2557 จำนวน 24,152.40 ล้านบาท
ปี 2558 จำนวน 25,686.50 ล้านบาท
ปี 2559 จำนวน 30,512.80 ล้านบาท
ปีงบประมาณ 2560-2566 แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปี 2560 จำนวน 12,510.11 ล้านบาท
ปี 2561 จำนวน 13,255.74 ล้านบาท
ปี 2562 จำนวน 11,924.27 ล้านบาท
ปี 2563 จำนวน 10,641.91 ล้านบาท
ปี 2564 จำนวน 9,563.34 ล้านบาท
ปี 2565 จำนวน 6,912.07 ล้านบาท
ปี 2566 จำนวน 6,208.92 ล้านบาท
@@ งบดับไฟใต้ไม่ลดลง แต่ซุกในแผนงานอื่น
จากตัวเลขงบประมาณดับไฟใต้ตาม “แผนงานบูรณาการฯ” ในยุค คสช. ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา จะเห็นได้ว่า ตัวเลขงบประมาณแต่ละปีลดต่ำลงอย่างมาก เรียกว่าลดลงหลายเท่าตัว
แต่เมื่อไปเจาะหาตัวเลขงบประมาณที่ซ่อนอยู่ในแผนงานอื่น ทว่าอ้างอิงถึงการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน กลับพบว่าในแต่ละปียังมีงบซุกซ่อนอยู่ในหน่วยงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก แยกรายปีได้ดังนี้
ปี 2560 งบประมาณแผนงานอื่นฯ 25,284 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบแผนบูรณาการฯ ยอดรวมอยู่ที่ 37,794.11 ล้านบาท
ปี 2561 งบประมาณแผนงานอื่นฯ 27,368 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบแผนบูรณาการฯ ยอดรวมอยู่ที่ 40,623.74 ล้านบาท
ปี 2562 งบประมาณแผนงานอื่นฯ 25,666 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบแผนบูรณาการฯ ยอดรวมอยู่ที่ 37,590.27 ล้านบาท
ปี 2563 งบประมาณแผนงานอื่นฯ 28,011 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบแผนบูรณาการฯ ยอดรวมอยู่ที่ 38,652.91 ล้านบาท
ปี 2564 งบประมาณแผนงานอื่นฯ 26,323 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบแผนบูรณาการฯ ยอดรวมอยู่ที่ 35,886.34 ล้านบาท
ปี 2565 งบประมาณแผนงานอื่นฯ 24,355 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบแผนบูรณาการฯ ยอดรวมอยู่ที่ 31,267.07 ล้านบาท
ปี 2566 งบประมาณแผนงานอื่นฯ 8,423 ล้านบาท เมื่อรวมกับงบแผนบูรณาการฯ ยอดรวมอยู่ที่ 14,632.19 ล้านบาท
สรุปภาพรวมงบประมาณการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2547-2566 ยอดรวมทุกแผนงานอยู่ที่ 492,451.43 ล้านบาท
แยกเป็น งบประมาณตามแผนงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ / แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 327,021.16 ล้านบาท และงบประมาณแผนงานอื่นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 165,430.27 ล้านบาท