การลงพื้นที่แถลงข่าวคลี่คลาย 2 คดีใหญ่ที่ชายแดนใต้ซึ่งเกิดขึ้นช่วงปลายปีของ ผบ.ตร.ในโอกาสวันดีขึ้นปีใหม่...ถือว่าน่าสนใจ และเป็นผลงานชิ้นโบแดงเลยก็ว่าได้
แต่การแถลง จับกุม และออกหมายจับทั้ง 2 คดีนี้ ก็มีข้อสังเกตอีกด้านหนึ่งด้วยเหมือนกัน
ข้อสังเกตมี 2 ส่วนหลักๆ คือ
ส่วนแรก ภาพรวมการคลี่คลายคดีสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังคงเป็นรูปแบบเดิม และผู้เกี่ยวข้องยังเป็นคนกลุ่มเดิมๆ กล่าวคือ
- วิธีการทำงานของตำรวจ เน้นทำในทางลับ ไม่ค่อยมีแถลงข่าวความคืบหน้าให้สังคมได้รับรู้ แม้จะพอเข้าใจได้ว่า การทำสำนวนเป็นความลับ แต่การทำคดีแบบจู่ๆ ก็จับได้เลย หรือแถลงทีเดียวเลยว่าจับคนร้ายได้แล้ว ถ้าเป็นพื้นที่อื่นทั่วไปที่ไม่มีความซับซ้อน อาจจะไม่ส่งผลอะไร แต่ในพื้นที่ชายแดนใต้ที่เต็มไปด้วยข่าวลือ และขบวนการไอโอ ถือว่าสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความเข้าใจผิด และฝ่ายเจ้าหน้าที่เองอาจถูกดิสเครดิตได้ตลอดเวลา
โดยเฉพาะคดีคาร์บอมบ์ถล่มแฟลตำรวจนราธิวาส มีทั้งข่าวลือ และข่าววงในของตำรวจเองในช่วงแรก ยืนยันว่าเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ายาเสพติด เพราะก่อนหน้านี้ปัญหายาเสพติดในนราธิวาสอยู่ในขั้นหนักหน่วง ผู้การตำรวจภูธรจังหวัดก็โดนย้ายด้วยข้อกล่าวหาที่โยงถึงขบวนการค้ายา
อดีตนายอำเภอสุไหงโก-ลก ก็โดนเปิดโปงประวัติในเรื่องใกล้เคียงกัน ก่อนจะถูกดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับพนันออนไลน์ จนถูกเด้งพ้นตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ต้องกลับไปเป็นนายอำเภอตำแหน่งเดียว ตำแหน่งล่าสุดอยู่ที่บึงกาฬ
เหตุนี้เอง การที่จู่ๆ เมื่อทำคดีมาเดือนเศษ ก็มาสรุปว่าเป็นฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยอ้างอิงบุคคลเป้าหมายกลุ่มเดิมๆ ที่บางคน บางนามสกุลมีชื่อติดอยู่ในสารบบคดีความมั่นคง ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่ง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่เองไม่ค่อยให้น้ำหนักเท่าที่ควร
- กลุ่มผู้ก่อเหตุยังคงเป็นคนกลุ่มเดิมที่ฝ่ายความมั่นคงขึ้นบัญชีเอาไว้ และการหาเบาะแส ตลอดจนการจับกุม ก็ใช้วิธีการเดิม คือ หาข่าว ปิดล้อม-ตรวจค้น ก่อนจะคุมตัวเข้ากระบวนการซักถาม เพื่อเค้นข้อมูลให้ซัดทอด ซึ่งหลายคดีอาจจะประสบความสำเร็จ ทำสำนวนให้ศาลพิพากษาเอาผิดได้ แต่ก็มีหลายคดีที่ศาลยกฟ้อง
- กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ยังเป็นคนหน้าเดิมที่มีหมายจับ มีประวัติเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง เป็นกลุ่มที่ยังไม่ถูกจับ และไม่ถูกวิสามัญฆาตกรรม ทำให้เห็นว่า ที่ผ่านมารัฐประสบความล้มเหลวในกระบวนการ “เปลี่ยนความคิดความเชื่อ” ของคนที่ใช้ความรุนแรงต่อสู้กับรัฐหรือไม่ เพราะกลุ่มคนเหล่านั้นยังเป็นคนหน้าเดิม และไม่ลดจำนวนลง แม้จะมีบางคนเสียชีวิต หรือถูกจับกุม แต่ก็ยังมีการสร้างแนวร่วมหรือนับรบรุ่นใหม่ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับในคดีวางระเบิดรถไฟสายปาดังเบซาร์ แม้เพื่อนจะยอมมอบตัวหลังถูกปิดล้อม ตรวจค้น ยิงปะทะ และให้การซัดทอด แต่เจ้าตัวก็ยังหาโอกาสก่อเหตุ ไม่ได้เลิกล้มความตั้งใจ สะท้อนปัญหาเรื่องกระบวนการ “เปลี่ยนความคิดความเชื่อ” ให้หันมาต่อสู้แนวทางสันติวิธีแทนการใช้อาวุธ ว่ายังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมเลย
@@ ผ่าพิรุธแก๊งคาร์บอมบ์
ข้อสังเกตส่วนที่ 2 เป็นข้อสังเกตเฉพาะคดี “คาร์บอมบ์” แฟลตตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส เหตุเกิดเมื่อ 22 พ.ย.65
ความน่าแปลกของคดีนี้มีหลายเรื่องด้วยกัน กล่าวคือ
1.ตำรวจเหมือนตัดตอนแถลง โดยอ้างอิงเฉพาะผลการควบคุมตัว และออกหมายจับขบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 9 คนเท่านั้น โดยไม่ได้อธิบายถึง “ที่มา” ของรถที่ถูกนำไปติดตั้งระเบิด เพื่อเป็น “คาร์บอมบ์”
รถคันนี้ ซื้อขายเปลี่ยนมือมาหลายครั้งจริง แต่บางมือ บางช่วงเวลา รถถูกใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมายบางอย่าง โดยเฉพาะการบรรทุกสิ่งของผิดกฎหมาย เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงไม่ขยายผลไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกลุ่มนี้ว่ามีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกับเหตุระเบิดด้วยหรือไม่
2.หลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์ไม่นาน เจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ยืนยันตรงกันแทบทุกหน่วยว่า เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับแก๊งค้ายาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่ และมีบางส่วนหลบไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผ่านมามีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บางหน่วยกระทบกับผลประโยชน์ของกลุ่มผู้ค้ายา ซึ่งมีเจ้าหน้าที่บางกลุ่ม บางสี เกี่ยวพัน ทำให้มีการแก้แค้นเอาคืน
หากตำรวจสรุปคดีเท่าที่แถลงมา แสดงว่าข้อมูลที่ออกมาช่วงหลังเกิดเหตุ ซึ่งตรงกันหมดแทบทุกหน่วย รวมถึงเสียงร่ำลือจากชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งรู้ประวัติของรถกระบะคันนี้เป็นอย่างดีว่าเคยใช้บรรทุกอะไร ขนส่งอะไร ในพื้นที่อำเภอหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ทั้งหมดนี้กลายเป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีสาระ ไม่มีมูลความจริง...อย่างนั้นหรือ
3.เหตุการณ์คาร์บอมบ์ครั้งนี้ หากเป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ต้องถือว่าเป็นครั้งแรกๆ ที่ “ซื้อรถมาทำระเบิด” เพราะที่ผ่านมาใช้วิธีการโจรกรรม หรือปล้นชิงรถ แล้วนำไปติดตั้งระเบิด ก่อนนำไปก่อเหตุ
รูปแบบการทำ “คาร์บอมบ์” รวมทั้ง “มอเตอร์ไซค์บอมบ์” ตลอด 19 ปีไฟใต้ มี 2 รูปแบบด้วยกัน คือ
หนึ่ง โจรกรรมรถ มีทั้งรถกระบะ รถเก๋ง (เพื่อทำคาร์บอมบ์) และจักรยานยนต์ (เพื่อทำมอเตอร์ไซค์บอมบ์) ก่อนส่งไปดัดแปลง เปลี่ยนสี เปลี่ยนป้ายทะเบียน หรือติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เพื่อให้สภาพของรถเปลี่ยนไป โดยมีอู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือพื้นที่นอกเขตรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ รับหน้าที่ดัดแปลงรถ
เมื่อดัดแปลงรถเรียบร้อยแล้ว ยังมีกระบวนการให้แนวร่วมนำรถไปทดลองขับผ่านด่านเจ้าหน้าที่ เพื่อทดสอบว่าเจ้าหน้าที่จำรถได้หรือไม่ หากเจ้าหน้าที่จำไม่ได้ ก็จะนำไปติดตั้งระเบิด และนำไปจอดตรงจุดที่วางแผนก่อวินาศกรรม
ในอดีต...ยังไม่มีการบูรณาการข้อมูลรถถูกโจรกรรม กลุ่มก่อความไม่สงบจึงทำงานง่าย แต่ภายหลังมีการบูรณาการข้อมูล และติดภาพถ่ายรถถูกโจรกรรมเอาไว้ทุกด่านตรวจ ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุทำงานยากขึ้น ซับซ้อนขึ้น
สอง จากปัญหาข้อ 1 ที่ฝ่ายความมั่นคงมีการบูรณาการข้อมูล ช่วงปีหลังๆ จึงมีรูปแบบการทำคาร์บอมบ์ หรือ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ แบบที่ 2 คือ ชิงรถ ปล้นรถ แล้วนำไปก่อเหตุทันที โดยประกอบระเบิดรอไว้แล้ว
วิธีการเช่นนี้เกิดบ่อยครั้งในระยะหลัง เช่น ชิงรถกลางเมืองปัตตานี นำไปใส่ระเบิด แล้วนำไปจอดหน้าฐานของเจ้าหน้าที่ทันที เพื่อไม่ให้สกัดจับได้
บางกรณีเมื่อชิงรถไปแล้ว ก็นำตัวเจ้าของรถไปสังหารเพื่อปิดปาก ก่อนจะนำไปรถไปทำคาร์บอมบ์ในวันเดียวกัน วิธีการก่อเหตุรูปแบบนี้ก็เช่น เหตุลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์ที่ห้างบิ๊กซี ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2560
จากรูปแบบแผนประทุษกรรมการก่อเหตุคาร์บอมบ์ตามที่เล่ามา ทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อที่ผ่านมาขบวนการก่อความไม่สงบมีวิธีการดัดแปลงรถ และตัดตอนป้องกันการสอบสวนสาวถึงตัวทุกขั้นตอน (คัตเอาท์) แล้วเหตุใดกรณีคาร์บอมบ์แฟลตำรวจนราธิวาส จึงใช้วิธีง่ายๆ ด้วยการไปซื้อรถจากนายหน้าขายรถชื่อ “ไซนะ” แล้วก็นำรถไปก่อเหตุ จนถูกสืบสวนจับกุมได้ในที่สุด
เนื่องจากการพบปะรับรถ ย่อมต้องมีคนเห็น มีคนจำหน้าได้ แถมหลังจากซื้อรถแล้ว (ซื้อก่อนก่อเหตุหลายวัน) ยังนำรถไปไว้ที่ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งห่างออกไปจากตัวเมืองนราธิวาสอีกหลายสิบกิโลเมตร ก่อนจะขับกลับมา โดยไม่ได้ดัดแปลงรถอะไรเลย จากนั้นก็ก่อเหตุแบบดิบๆ ตรงๆ กลายเป็นช่องทางให้ตำรวจหาเบาะแส และติดตามจับกุมได้โดยง่าย
วิธีการแบบนี้เป็นวิธีการของกลุ่มก่อความไม่สงบจริงหรือ แต่เรื่องนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย เพราะในคำแถลงของ ผบ.ตร. ก็ยังไม่ได้สรุปฟันธงว่าเป็นเหตุความมั่นคง ต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือโยงขบวนการค้ายาเสพติดด้วย
4.หากคาร์บอมบ์ครั้งนี้เป็นฝีมือขบวนการแบ่งแยกดินแดนจริง แสดงว่าการก่อเหตุระเบิด 1 ครั้ง ต้องใช้เงินหลักแสนบาท เป็นค่าจัดหารถยนต์ ยังไม่นับรวมอุปกรณ์ประกอบระเบิด และการปฏิบัติการของผู้ร่วมขบวนการอีกนับสิบคน
ด้วยเหตุนี้ ตำรวจจึงน่าจะขุดค้นต่อไปว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน กับกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายด้วยหรือไม่ โดยไม่ควรปล่อยให้แถลงแล้วจบไปห้วนๆ แบบนี้
เพราะไฟใต้เกิดมาแล้วเกือบ 20 ปี กำลังจะครบวาระ 19 ปีไฟใต้ ในวันที่ 4 ม.ค.ที่จะถึงนี้ ฉะนั้นแต่จะเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ น่าจะสามารถถอดบทเรียน สรุปข้อเท็จจริงที่ชัดเจนได้ว่า เกิดจากอะไรกันแน่ เพื่อหาทางป้องกันเหตุร้ายไม่ให้เกิดซ้ำซ้อนอีกต่อไป