ป.ป.ช.พบพิรุธเก็บเงินค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวอุทยานภาคใต้ หลังไม่ยอมใช้ระบบ e-ticket แทนเก็บเงินสด เชื่อรายได้จริงสูงกว่าเงินเข้าระบบ สงสัยส่วนหนึ่งอาจถูกจัดสรร โยงขบวนการซื้อ-ขายตำแหน่ง
จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับกองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เข้าจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฐานเรียกรับเงินในการโยกย้ายตำแหน่งจากหัวหน้าหน่วยงานภาคสนาม โดยมีการล่อซื้อและตำรวจตามเข้าไปตรวจค้นพบเงินสดบนโต๊ะทำงานและห้องแต่งตัว 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.65 ซึ่ง นายรัชฎา ยังคงให้การปฏิเสธและอ้างว่า ถูกกลั่นแกล้ง เพราะมีปัญหาขัดแย้งกับนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
หลังการจับกุมนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งให้นำตัวนายรัชฎา เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ให้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวนได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยังถือว่า หลักฐานไม่ชัดเจน และยังคงต้องมีการดำเนินการสอบสวนถึงการกระทำความผิดจากพยานหลักฐานและพยานบุคคลที่กำลังอยู่ระหว่างการเรียกเข้ามาให้ปากคำเพิ่มเติม
@@ ป.ป.ช.พบพิรุธอุทยานฯภาคใต้เมินเก็บค่าธรรมเนียมแบบ e-ticket
จากพฤติกรรมเรียกรับเงินที่เป็นข้อกล่าวหา ที่ทำให้ ป.ป.ช.และ บก.ปปป. ร่วมกันเข้าจับกุมนายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนั้น
ล่าสุดได้มีข้อมูลหนึ่งที่อาจยืนยันได้ว่า มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบที่อาจเชื่อมโยงการซื้อขายตำแหน่งในกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็คือการที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำลังเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ จากปัญหาความไม่โปร่งใสของการเก็บค่าเข้าเที่ยวชมอุทยานฯ จากนักท่องเที่ยว
ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมท่องเที่ยวในอุทยานฯ โดยเฉพาะกลุ่มอันดามัน ในรูปแบบ e-ticket เท่านั้น เพื่อความโปร่งใส และง่ายต่อการตรวจสอบ
แต่ในความเป็นจริงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา อุทยานฯหลายแห่งก็ยังไม่ยอมดำเนินการให้มีการเก็บค่าเข้าอุทยานฯในรูปแบบ e-ticket ทั้งที่ ป.ป.ช.ทำหนังสือทวงถามไปถึง 3 ครั้ง ก็ยังไม่ยอมดำเนินการ
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงส่งเจ้าหน้าที่ลงไปติดตามตรวจสอบในทางลับ และสังเกตการณ์พบว่าอุทยานแห่งชาติในภาคใต้บางแห่งเก็บค่าธรรมเนียมเป็นเงินสด มีรายได้ปีละกว่า 500 ล้านบาทโดยจะเก็บเงินสดเท่านั้น แต่นี่เป็นตัวเลขเฉพาะเงินที่นำเข้าระบบ ส่วนรายได้จริงๆ สูงกว่านั้นมาก และรั่วไหลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติทางทะเล
@@ สงสัยผ่องถ่ายเงินโยงขบวนการซื้อ-ขายตำแหน่ง
ข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ระบุอีกว่า เงินส่วนเกินเหล่านี้ถูกนำไปจัดสรรผลประโยชน์ และส่วนหนึ่งเก็บไว้เพื่อซื้อชายตำแหน่ง จ่ายให้ผู้บังคับบัญชา เช่น ขออยู่ที่เดิมต่อ ก็ต้องจ่าย 1 ล้านบาทขึ้นไป ถ้าจะย้ายเข้าไปดำรงตำแหน่ง ก็ราคาสูงกว่านั้น และอาจตัองมีส่วนแบ่งรายเดือนด้วย
แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.ระบุว่า กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อแจ้งข้อหาหัวหน้าหรือผู้บริหารอุทยานแห่งชาติบางรายที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ไม่ปฏิบัติตามมติ ป.ป.ช. และอาจเกี่ยวพันกับกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย
@@ เปิดรูปแบบซื้อขายตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ
สำหรับปัญหาการซื้อขายตำแหน่งที่มีผลประโยชน์แฝงจากการปฏิบัติหน้าที่ พบว่าเกิดขึ้นในหลายส่วนราชการ โดยมีจุดประสงค์และเป้าหมายหลายประการ เช่น
1.ขึ้นตำแหน่งที่ต้องการ
2.ขออยู่ตำแหน่งเดิมต่อ ไม่ขอย้าย (ตำแหน่งเดิมดีมากอยู่แล้ว อำนาจล้น ผลประโยชน์อื้อ)
3.ขอกลับบ้าน กลับพื้นที่ที่ตัวเองต้องการ
รูปแบบการจ่าย กรณีขึ้นตำแหน่งดี มีผลประโยชน์
-จ่ายเงินสดก้อนแรก
-หารผลประโยชน์รายเดือนที่เก็บได้ (แบ่งจ่ายกับผู้มีอำนาจโยกย้าย ระหว่างดำรงตำแหน่ง)
-แบ่งโครงการจัดซื้อจัดจ้าง
-เอื้อฝากเด็กแลกกัน (ในหน่วยงานนั้นๆ เด็กนายบ้าง เด็กเราบ้าง)
ราคาเก้าอี้ ขึ้นกับความสำคัญ จำนวนเก้าอี้ และผลประโยชน์หรือทำเลทองที่หาได้