สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กลายเป็นพื้นที่ “แข่งเดือด” ของหลายพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2566
เก้าอี้ ส.ส.ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ในการเลือกตั้งปี 2562 รวมกัน 11 ที่นั่ง จะเพิ่มเป็น 12 ที่นั่งในการเลือกตั้งใหม่ที่จะถึงนี้
บรรดา “บ้านใหญ่” ในพื้นที่สามจังหวัด มีทั้งเปลี่ยนขั้ว เปลี่ยนพรรค และยังคงมั่นกับพรรคเดิม
“ตระกูลมะทา” บ้านใหญ่ยะลา นำโดย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ทั้งยังเคยได้รับตำแหน่ง “คนดีศรียะลา” ยังคงปักหลักอยู่ที่เดิม และดึงอดีตแกนนำกลุ่มวาดะห์คนสำคัญในอดีตให้มีบทบาทเพิ่มขึ้น คือ อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ อดีต ส.ส.นราธิวาสหลายสมัย และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
โดยพรรคประชาชาติคือแชมป์เก่าชายแดนใต้ กวาดไป 6 ส.ส.จาก 11 ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 62
เลือกตั้งใหญ่หนนี้ “บ้านใหญ่ปัตตานี” เศรษฐ์ อัลยุฟรี นายก อบจ.ปัตตานี ทำกิจกรรมร่วมกับพรรคประชาชาติถี่ยิบ มีข่าวว่าทางพรรคตกลงจะให้ “นายกเศรษฐ์” รับผิดชอบคัดเลือกตัวผู้สมัครทั้งจังหวัด
โดยเฉพาะเขต 1 พื้นที่สัญลักษณ์ของดินแดน “ปัตตานี” อาณาจักรโบราณที่เคยรุ่งเรืองในอดีต ซึ่งเจ้าของพื้นที่นี้คืออดีตบ้านใหญ่อย่าง เด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส. อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลูกชายของ หะยีสุหลง ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนมลายูมุสลิม
แต่ปัจจุบัน เด่น โต๊ะมีนา อยู่ในวัยชรา จึงเป็นยุคของลูกสาว พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ที่คราวนี้เตรียมลงสมัครเพื่อชิงพื้นที่เขต 1 ในสีเสื้อพรรคเดิม
แต่การจะคว้าชัยก็ไม่ใช่ง่าย เพราะ อันวาร์ สาและ ส.ส.เขต 1 ปัตตานี 4 สมัย ก็ยังลงสมัครรักษาที่นั่งในเขตเดิมของตนอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนพรรคสังกัดจากประชาธิปัตย์ เป็นพลังประชารัฐ ทำให้บรรดากองเชียร์ของคู่แข่งมองว่า งานนี้มีลุ้นเปลี่ยนแปลง
ส่วนนราธิวาส บ้านใหญ่ “ยาวอหะซัน” นำโดย นายก อบจ. กูเซ็ง ยาวอหะซัน เปิดตัวกับพรรคสร้างอนาคตไทยที่นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรค อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค
แต่ นายก กูเซ็ง อาจเล่นบทถ่วงดุลที่ตนเองถนัด เพราะเปิดชื่อลูกชายลงสมัครพรรคสร้างอนาคตไทยเพียงคนเดียว คือ วัชระ ยาวอหะซัน ที่เตรียมย้ายจากพลังประชารัฐเข้าสังกัดสร้างอนาคตไทย ส่วนอีกคนคือ กูเฮง ยาวอหะซัน ยังเหนียวแน่นอยู่กับพรรคประชาชาติ และอาจลงรักษาเก้าอี้ในเขตเดิมต่อไป
นราธิวาสปัจจุบันไม่ได้มี “บ้านใหญ่” แค่ “ยาวอหะซัน” หนำซ้ำยังเพิ่มเขตจากเดิม 4 เป็น 5 เขต
ในรัฐบาลลุงตู่ “ส.ส.บีลา” สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ แห่งพลังประชารัฐ ก็ผงาดขึ้นมา มีบทบาทอย่างสูงในสภา โดยเฉพาะในกรรมาธิการงบประมาณ สนิทแนบแน่นกับ วิรัช รัตนเศรษฐ อดีตประธานวิปรัฐบาล และมือขวา “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รวมถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ “ผู้กอง” คนดัง
“ส.ส.บีลา” มีฐานเสียงหนาแน่นในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก นราธิวาส ใครก็ยากจะคว่ำได้ แต่ตัวสอดแทรกก็ใช่ว่าจะไม่มี เพราะเสียงของ เมธี อรุณ หรือ “เมธี ลาบานูน” นักร้องเพลงป๊อปร็อกชื่อดังเลือดชายแดนใต้ก็มาแรงไม่แพ้ใคร และมีโอกาสเบียดคว้าชัย ปักธงให้ประชาธิปัตย์ได้อีกด้วย
@@ เบียดชิงคะแนนเครือข่ายต้มยำ
ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์เฉพาะในพื้นที่สามจังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เท่านั้น แต่เมืองชายแดนแห่งนี้ยังมีฐานเสียงขนาดใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง คือ เครือข่ายต้มยำกุ้งมาเลเซีย ซึ่งหมายถึงร้านอาหารไทยในมาเลย์ ประเทศเพื่อนบ้านชายแดนติดกับไทย
ที่มาเลเซีย คนมาเลย์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน และร้านอาหารไทย โดยเฉพาะ “ต้มยำกุ้ง” เป็นเมนูยอดฮิต มีคนจากชายแดนใต้และภาคใต้ตอนกลาง เช่น นครศรีธรรมราช พัทลุง ไปเปิดร้านจำนวนมาก นับเฉพาะในกรุงกัวลาลัมเปอร์และพื้นที่ใกล้เคียงน่าจะมีราวๆ 2,000-5,000 ร้าน ทั่วทุกรัฐของประเทศน่าจะกว่า 50,000 ร้าน มีแรงงานในเครือข่ายร้านต้มยำ ทั้งเชฟ เด็กเสิร์ฟ เด็กล้างจาน หมุนเวียนในธุรกิจนี้ประมาณการณ์ว่าไม่ต่ำกว่า 200,000 คน
คนกลุ่มนี้เคยถูกมองแง่ลบจากฝ่ายความมั่นคง เพราะเชื่อว่าเป็นแหล่งแฝงตัวของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ก่อเหตุฝั่งไทย แล้วข้ามไปกบดาน ทำงานในฝั่งมาเลย์ ประกอบกับมีเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจร้านต้มยำจำนวนมหาศาล ถูกมองว่ามีบางส่วนผ่องถ่ายมาใช้ในกิจกรรมความไม่สงบที่ปลายด้ามขวาน
แต่ปัจจุบันเรื่องราวเหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายไป เพราะความเป็นจริงก็คือ เศรษฐกิจ ชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนชายแดนใต้ ขับเคลื่อนมาได้ส่วนหนึ่งจากแรงงานร้านต้มยำ ช่วงที่มาเลเซียปิดประเทศ ปิดชายแดนเพราะโรคระบาดโควิด ช่วงนั้นเศรษฐกิจชายแดนใต้แทบขาดใจ แรงงานจำนวนไม่น้อยเดินทางกลับบ้าน แล้วก็ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ทำได้เพียงรอวันฟ้าเปิดที่มาเลย์ ส่วนแรงงานอีกจำนวนไม่น้อย ไม่ยอมกลับบ้านเกิด เพราะกลับมาก็ไม่มีอะไรทำ สู้ยอมตายเอาดาบหน้าดีกว่า
ความรู้สึกของคนชายแดนใต้ที่ผูกพันกันฉันท์พี่น้องด้วยสายสัมพันธ์อิสลาม ทำให้แรงงานร้านต้มยำไม่ต่างอะไรกับฮีโร่ผู้เสียสละของครอบครัว ยอมห่างบ้าน ห่างเมือง ไปลำบากทำงานไกลจากบ้านเกิด เพื่อส่งเงินกลับมาดูแลครอบครัว
แรงงานนับแสนกลุ่มนี้คือฐานเสียงสำคัญของคนชายแดนใต้ที่หากเทให้พรรคการเมืองใด ฝ่ายไหน ย่อมมีโอกาสพลิกชนะได้ทันที เพราะไม่เพียงแรงงานจำนวนหลักแสนเท่านั้นที่ลงคะแนนให้ แต่คนที่บ้าน คนในครอบครัวที่รอเงินจากคนเหล่านี้ ก็จะเลือกตามๆ กัน
@@ ประชาชาติแชมป์เก่าถูก ปชป.ท้าทาย
ปี 2562 พรรคประชาชาติได้คะแนนจากแรงงานต้มยำอย่างเป็นกอบเป็นกำ ทำให้ฝ่าด่านพรรคใหญ่ เอาชนะมาได้ถึง 6 ที่นั่งจาก 11 ที่นั่ง ทั้งๆ ที่ประชาชาติเป็นพรรคใหม่ และตั้งขึ้นก่อนหน้านั้นไม่นาน ซ้ำยังไม่ได้รวมแกนนำกลุ่มวาดะห์ กลุ่มการเมืองของคนมลายูมุสลิมในอดีตมาเข้าสังกัดครบทุกจังหวัดด้วยซ้ำ
ผลงานดึงคะแนนแรงงานร้านต้มยำ มาจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ซึ่งเคยดูแลผู้ประกอบการและแรงงานกลุ่มนี้มาตั้งแต่สมัยทำหน้าที่เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. แม้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ไม่เคยทอดทิ้ง
ปัญหาใหญ่ของแรงงานต้มยำ คือ ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ต้องเดินทางเข้ามาเลเซียด้วยวีซ่าท่องเที่ยว จากนั้นก็ต้องเดินกลับมาที่ชายแดนเพื่อ “จ๊อบพาสปอร์ต” เป็นระยะ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องการถูกกวาดจับ ปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตขับขี่ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงปัญหาด้านคุณภาพชีวิตอื่นๆ อีกมาก
พ.ต.อ.ทวี ใช้กลไก ศอ.บต.ช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง เคยเดินทางไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจและรับฟังปัญหาหลายครั้ง ทำให้ได้ใจจากทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและแรงงานร้านต้มยำทั่วมาเลเซีย การเลือกตั้งปี 62 จึงเกิดปรากฏการณ์แรงงานร้านต้มยำแห่กลับไทย ไปสถานทูต เพื่อลงไปลงคะแนน ข่าวว่าส่วนใหญ่เลือกพรรคประชาชาติ
เมื่อ พ.ต.อ.ทวี เข้ามาทำหน้าที่ ส.ส. ก็ยังเดินทางไปรับฟังปัญหาเครือข่ายต้มยำกุ้งอีกหลายครั้ง ล่าสุดคือเมื่อต้นเดือน พ.ย.65 ไปร่วมสังเกตการณ์การอบรมการยกระดับและพัฒนาร้านอาหารต้มยำในประเทศมาเลเซีย โดยกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำ ร่วมกับ นายทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟ ประเทศไทย และ นางเบญจวรรณ ปกป้อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร พร้อมใจกันจัดขึ้น
เป้าหมายใหญ่กว่าเก่า คือเพื่อสร้างอาชีพ ยกระดับครัวไทย-มาเลเซียสู่ “ครัวโลก” พร้อมสอนเทคนิคการทำอาหารไทยเพื่อให้ถูกใจคนมาเลเซีย โดยรักษาอัตลักษณ์และจุดเด่นของเมนูอาหารไทยเอาไว้อย่างครบถ้วน กิจกรรมนี้มีจัดทั้งในประเทศไทยและในมาเลเซีย
แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาชาติมีคู่แข่ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ส่ง “ขุนพลภาคใต้” อย่าง นิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และยังรั้งเก้าอี้ผู้อำนวยการเลือกตั้งของพรรค เดินทางไปมาเลเซีย เพื่อพบเครือข่ายต้มยำกุ้ง ทั้งรับฟังปัญหา และนำปัญหากลับมาหาทางช่วยเหลือเช่นกัน
พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายดับไฟใต้ โดยใช้ “ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร” และเตรียมเดินหน้าใช้กลไกกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทางพรรคดูแล จับคู่ธุรกิจ ส่งออกวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารไทยจากฝั่งไทยไปยังร้านต้มยำมาเลย์ เพราะต้องใช้วัตถุดิบจำนวนมาก เป็นการสร้างงานเพิ่มรายได้ให้กับคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปพร้อมกันด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อกลับถึงไทย นิพนธ์ยังลุยแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม ด้วยการเข้าร่วมประชุมในวงรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนแผนงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต.) ที่หอประชุมภายใน ม.อ.ปัตตานี เมื่อครั้งลงพื้นที่ปัตตานี เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ธ.ค.65 ที่ผ่านมานี้เอง เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้แรงงานต้มยำ
นิพนธ์ได้นำเสนอเรื่องการเพิ่มจำนวนแรงงานไทย (ต้มยำกุ้ง) ที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้มากขึ้นกว่าปัจจุบัน และขอให้อำนวยความสะดวกเรื่องงานทางทะเบียน การแจ้งเกิด-แจ้งตาย (ใบมรณบัตร) รวมถึงการจัดสอนภาษาไทยให้ลูกของแรงงานไทยที่เกิดในมาเลเซีย เพื่อให้อ่าน เขียนภาษาไทยได้อีกด้วย
@@ ประชาชาติแก้เกม จัดงานใหญ่ที่ กทม.
ล่าสุด 23 ธ.ค.65 สมาคมเดอะเชฟ ประเทศไทย และวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร เชิญตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหารต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย จำนวน 15 คน เยี่ยมชมการสาธิตทำอาหารไทย ทั้งคาวหวาน และเครื่องดื่ม พร้อมร่วมพูดคุยกับนักธุรกิจผู้ผลิตวัตถุดิบของไทย โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เข้าร่วมสังเกตการณ์
สำสูดิง วาซูเลาะ รองประธานสมาคมต้มยำกุ้งในประเทศมาเลเซีย บอกว่า ตัวแทนผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจากสมาคมฯ เดินทางมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการประกอบอาหารไทย เพื่อนำไปต่อยอดกับธุรกิจของตัวเองในประเทศมาเลเซีย ซึ่งที่ผ่านมาทางวิทยาลัยสารพัดช่างพระนครเคยเดินทางไปสอนหลักสูตรการทำอาหาร รวมถึงการปรุงอาหารไทยถึงที่ประเทศมาเลเซียแล้วครั้งหนึ่ง
สำหรับตัวเลขผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย มีอยู่ทั้งหมดราว 50,000 ร้าน พนักงานรวมอีกกว่า 200,000 คน มีปัญหาที่ต้องเผชิญแบ่งออกเป็น 4 เรื่องหลักคือ
1.เรื่องใบอนุญาตการทำงานอย่างถูกต้อง (Work Permit) ที่มีราคาสูง พนักงานบางคนแบกรับไม่ไหว
2.วัตถุดิบที่ใช้ประกอบธุรกิจขาดแคลนและมีราคาสูง
3.การดูแลเรื่องสวัสดิการของพนักงานที่ไม่ทั่วถึง โดยผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระเกือบทั้งหมด
4.ขาดพนักงาน จนบางร้านต้องปิดกิจการลงโดยปัญหาทั้งหมดนี้อยากเรียกร้องให้ทางรัฐบาลนั้นเข้ามาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
“ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด เพื่อยื่นขอความช่วยเหลือกับผู้เกี่ยวข้อง และยอมรับว่าเริ่มมีฝ่ายรัฐบาล ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคประชาชาติ เข้ามายื่นมือช่วยเหลือบ้างแล้ว” สำสูดิง กล่าว
@@ บุกนานา ต่อยอดสร้าง “ไทย สตรีท” ในมาเลย์
ต่อมาวันที่ 24 ธ.ค. พ.ต.อ.ทวี ยังได้พา โยฮารี อะห์มัด ประธานสมาคมร้านอาหารไทยในมาเลเซีย (ร้านต้มยำกุ้ง) พร้อมคณะที่เดินทางมาจากมาเลเซีย ไปตะลุยย่านการค้านานา กลางกรุงเทพฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใหญ่ พร้อมชูธุรกิจร้านอาหาร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างการผสมผสานทางภาษาและวัฒนธรรม
แนวคิดที่สำคัญก็คือ ในย่านนานา และย่านการค้าอื่นๆ ของกรุงเทพฯ มักมีพื้นที่ค้าขายที่เป็นแหล่งรวมของร้านที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละชาติ เช่น อินเดีย สตรีท ที่เป็นย่านของร้านอาหารอินเดีย, หรือย่านเกาหลี ซึ่งเป็นศูนย์รวมของร้านอาหารเกาหลีหลากหลายประเภท ทำให้ผู้ประกอบการร้านต้มยำในมาเลเซีย มีไอเดียที่จะผลักดันให้เกิด “ย่านไทยทาวน์” หรือ “ไทยสตรีท” ในมาเลเซียด้วยเช่นกัน
นี่คือความสวยงามของการเมืองและการเลือกตั้งที่บรรดาพรรคการเมืองพยายามเสนอแนวทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้คนกลุ่มต่างๆ ส่วนใคร พรรคไหนจะได้คะแนนเสียงไป เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม!