ในขณะที่ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี เขต 1 ต่อเนื่อง 4 สมัย เปิดเวทีขอประชามติจากผู้สนับสนุนว่าควรจะย้ายไปอยู่พรรคไหน แต่หลายคนก็เดาทางออกว่าน่าจะลาจากประชาธิปัตย์ ไปซบอกพลังประชารัฐ
ปรากฏว่า ดร.สนิท นาแว อดีตคู่แข่งของอันวาร์ ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 62 ได้เปลี่ยนสีเสื้อจากชาติไทยพัฒนา มาสวมเสื้อประชาธิปัตย์ เตรียมลงสมัครเขตเดิมสู้กับอันวาร์ ในสีเสื้อตัวเก่าของคู่แข่ง
แม้ ดร.สนิท จะไม่ใช่อดีต ส.ส. แต่คะแนนไม่ขี้เหร่ ได้มาอันดับ 3 ทั้งๆ ที่สังกัดพรรคเล็ก ไม่ใช่พรรคหลักในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยพ่ายอันวาร์ จากประชาธิปัตย์ ที่ได้ไป 19,883 คะแนน และ ดร.วรวิทย์ บารู จากประชาชาติ 15,233 คะแนน โดย ดร.สนิท กวาดมาได้ 13,614 คะแนน ถือว่าไม่น้อย
ฐานเสียงของ ดร.สนิท ถือว่าแข็งแกร่ง หนาแน่น เนื่องจากเติบโตมาจากการเมืองท้องถิ่น ผ่านมาหมดแล้วทั้งสมาชิกสภา อบจ.ปัตตานี กำนัน และนายก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล)
“ผมเคยเป็นหัวหน้าหน่วยงานของ บริษัท ไทยประกันชีวิต ตอนอายุ 20 ปี จากนั้นผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการกิจการฮัจย์ หรือที่เรียกแซะฮ์ หจก.เอส.เอ็น.ธุรกิจสัมพันธ์ มีชาวบ้านร่วมเดินทางไปแสวงบุญแต่ละปีหลายร้อยคน และเคยเป็นสมาชิกสภา อบจ.ปัตตานี เคยเป็นกำนันตำบลราตาปันยัง และ เคยเป็นนายก อบต.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี”
“ขณะดำรงตำแหน่งนายก อบต. ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมท้องถิ่น อำเภอยะหริ่ง จ.ปัตตานีด้วย รวมถึงยังเคยเป็นที่ปรึกษา กต.ตร. และประธานกรรมการโรงเรียนบ้านมูหลง อ.ยะหริ่ง และปัจจุบันเป็นกรรมการที่ปรึกษาที่ดินจังหวัดปัตตานี” ดร.สนิท เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เคยทำ ทั้งภาคธุรกิจและถนนสายการเมือง
“ตั้งแต่เด็กผมไม่ได้เรียนเท่าไหร่ เพราะเราคนทำงาน อายุ 11 ปีเริ่มไถนาแล้ว อายุ 13 ปีขึ้นต้นตาลทำโนด (หมายถึงตาลตะโหนด) อายุ 16 ปีเริ่มสร้างสุเหร่าให้ชาวบ้าน เพราะชาวบ้านไม่มีที่ละหมาด จนเป็นมัสยิดในปัจจุบัน ผมก็สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงมาเอง พออายุ 17 ปีทำกุโบร์ (สุสาน) ชาวบ้านไม่มีที่ฝังศพ”
“หลังจากนั้นชาวบ้านเห็นว่าเราทำงานช่วยชาวบ้านมาตลอด ชาวบ้านไม่มีถนน ก็ร่วมกับชาวบ้านเอาจอบมาแบ่งที่ดินเป็นล็อกมาทำถนน เพราะสมัยนั้นย่านที่อยู่ไม่มีถนน พออายุ 20 ปีก็เริ่มคลุกคลีกับผู้ใหญ่ตามอำเภอ ตำรวจ เพื่อจะได้ร่วมกันช่วยชาวบ้าน”
“ต่อมาชาวบ้านอยากได้ไฟฟ้า เปลี่ยนจากใช้น้ำมันก๊าด ก็เริ่มคิดว่าถ้าเราไม่ยุ่งกับการเมือง เราจะพัฒนาหมู่บ้านไม่ได้ จากนั้นไปลงสมัครสมาชิกสภา อบจ. ได้เป็น ส.อบจ. 2 ปีกว่า ก็ลาออกมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน และได้รับเลือกเป็นกำนัน ผมเป็นกำนันปุ๊บ ในหมู่บ้านเราผลิตเลย มีไฟฟ้าใช้ มีถนน มีบ้าน มีมัสยิด หลายๆ ที่ที่เราช่วยดำเนินการให้ ตอนนั้นผมเองบ้านที่จะอยู่ก็ไม่มี เพราะเราเริ่มจากคนไม่มีอะไร ที่เห็นทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าตื่นเช้ามามีบ้านเลย ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าจะมีบ้าน มีรถใช้ จะได้ส่งลูกเรียนให้มีการศึกษา แต่อัลลอฮ์ตอบแทนที่เราช่วยชาวบ้าน”
“ผมได้เป็นนายก อบต. เป็นอะไร ส่วนมากชาวบ้านให้เป็นตลอด เพราะเราอยู่พื้นที่ อยู่กับชาวบ้าน เราเหมือนนักพัฒนา ถนนเราทำเองให้ชาวบ้าน ไม่ได้เอางบจากที่ไหนมา เราทำเอง เอาแบ็คโฮมา เราทำเอง ชาวบ้านเลยยอมรับ ผมไม่ได้ใช้อำนาจอิทธิพลอะไร”
ดร.สนิท เล่าต่อว่า ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว รับเหมาก่อสร้าง เป็นชาวหมู่ 4 ต.ราตาปันยัง อ.ยะหริ่ง เรียนจบ กศน. และจบปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยพิษณุโลก และ ปริญญาเอก (กิตติมศักดิ์) มหาวิทยาลัยนานาชาติแห่งคุณธรรม (International University of Morality : IUM)
ประเด็นที่หลายคนสนใจ ก็คือผลงานการสร้างมัสยิด ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าไม่ได้สร้างแห่งเดียว แต่สร้างมาแล้วถึง 6 แห่ง
“ผมเคยสร้างมัสยิดในพื้นที่ปัตตานีด้วยงบส่วนตัวถึง 6 แห่ง ส่วนการเลือกตั้งสมัยหน้า พรรคประชาธิปัตย์ส่งผมลงแทนคุณอันวาร์ที่เคยครองแชมป์มาตลอดหลายสมัย ผมมั่นใจว่าปัตตานี 4 เขต ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.แน่นอน วัดจากเสียงที่ได้สัมผัส และทำโพลแล้ว ว่าที่ผู้สมัครได้คะแนนสูงเป็นที่น่าพอใจของผู้ใหญ่ในพรรค”
ส่วนปัญหาเลือดไหลออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ดร.สนิท มองแง่ดีว่า คนออกมีจำนวนหนึ่ง แต่คนเข้ามาก็เยอะเหมือนกัน
“คนที่ไหลออกจากพรรคประชาธิปัตย์ บางทีพรรคอาจจะเบื่อก็ได้ ขณะเดียวกันคนที่จะเข้ามาก็เยอะ มาติดต่อกับผมเองว่าจะขอเข้าพรรคประชาธิปัตย์ก็มี จนพรรคต้องทำโพล ผมเองก็ต้องทำโพล คนไหนดีกว่า เสียงใครมาดีกว่า ที่ชาวบ้านตอบรับ ส่วนคนเก่าที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีปัญหา คนที่ออกไปไม่ใช่ศัตรู เราอยู่ด้วยกันได้”
ดร.สนิท กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วยความประทับใจ
“พรรคประชาธิปัตย์เป็นของเราตั้งแต่เดิมแล้ว ตั้งแต่เด็กๆ ในเมื่อ ส.ส.เดิมจะย้ายไปที่อื่น ผมต้องเข้า มาเป็นคนของประชาธิปัตย์ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ยังอยู่กับ มี ส.ส.ของเราแน่ ชาวบ้านอยู่กับเราไม่ไปไหน” เขากล่าวอย่างมั่นใจ