ดราม่ากรณีกลุ่มผู้ประกอบการปลากุเลาตากใบ จ.นราธิวาส เข้าใจว่ามีการนำปลากุเลาจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่พื้นที่ตากใบ เป็นปลากุเลาปลอม ไปเป็นเมนูเสิร์ฟในงานเลี้ยงผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 แต่กลับใช้ชื่อเมนูว่า “ปลากุเลาตากใบ” เนื่องจากมีการสอบถามกันในกลุ่มผู้ประกอบการปลากุเลาในพื้นที่ตากใบหลังจากมีข่าวออกมาจากทางรัฐบาล กลับไม่พบผู้ประกอบการเจ้าใดได้รับออเดอร์สั่งซื้อปลากุเลาไปเป็นเมนูในงานเลี้ยงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคนั้น
ล่าสุดทางเพจเฟซบุ๊ก “ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการจำหน่ายปลากุเลาที่อยู่ในพื้นที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ได้โพสต์ข้อความชี้แจงเรื่องนี้แล้ว
“ก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ได้มาซื้อปลากุเลาเค็มไปจำนวน 1 ตัว เพื่อนำไปชิม กระทั่งมีการสั่งซื้อผ่านออนไลน์ เนื่องจากมีการซื้อวันละหลายหมื่นบาทในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลังจากมีกระแสข่าวเอเปค ทำให้ร้านไม่ได้ทันตรวจสอบ ยืนยันว่าหน่วยงานภาครัฐโดยตัวแทนได้สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ไป จึงเกิดข้อผิดพลาดกันในกลุ่มผู้ค้าปลากุเลา ตากใบ”
สำหรับร้าน “ปลากุเลาเค็มป้าอ้วนตากใบ” เป็นร้านจำหน่ายปลากุเลาเค็มใน อ.ตากใบ ที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดด้านคุณภาพที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่น่าเชื่อถือ หรือ (มผช.) ในระดับ 5 ดาว
@@ โฆษกรัฐบาลย้ำ แค่เข้าใจผิด
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นความเข้าใจผิด โดยข้อเท็จจริงคือ อาหารที่เสิร์ฟในงาน “กาลาดินเนอร์” สำหรับผู้นำประเทศ จะเป็นแบบฟิวชั่น มีเชฟชุมพล แจ้งไพร ออกแบบอย่างพิถีพิถัน ผ่านความหลากหลายของสี กลิ่น และสัมผัส การคัดสรรวัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหารทุกจาน มาจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงและคุณภาพเป็นเลิศ หากจะเป็นสินค้าจากชุมชน ก็ต้องเป็นสินค้าที่ได้รับมาตรฐานด้านคุณภาพ มผช. 5 ดาว
“ส่วนกรณีปลากุเลาตากใบ จะใช้เป็นส่วนประกอบในเซ็ตอาหารจานหลัก เพื่อเพิ่มความโดดเด็ดในเรื่องของกลิ่นในซอสราดมัสมั่นเนื้อน่องโคขุน จากสหกรณ์โพนยางคำ จ.สกลนคร และข้าวกล้อง 9 ชนิด อบตะไคร้หอม สำหรับการจัดซื้อว่ามาจากไหนนั้น ผู้จัดงานได้ซื้อจากร้าน ‘ปลากุเลาเค็มตากใบป้าอ้วน’ ซึ่งเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว ผู้ประกอบการกลุ่มอื่นไม่ได้ทราบข้อมูลตรงนี้ จึงเกิดความเข้าใจผิด” รองโฆษกรัฐบาล ระบุ
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ข่าวปลากุเลาตากใบขึ้นโต๊ะงานเลี้ยงผู้นำเอเปค มีผู้คนให้ความสนใจอย่างมาก เชื่อมั่นว่า “ปลากุเลาตากใบ” ซึ่งผ่านกรรมวิธีการทำที่พิถีพิถัน มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ เมื่อทอดแล้วมีกลิ่นหอม เนื้อฟู สัมผัสกลมกล่อม ละลายในลิ้น และรสชาติเป็นเอกลักษณ์ จะสามารถสร้างชื่อเสียงอย่างกว้างขวาง เพิ่มรายได้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างแน่นอน
@@ ปลากุเลา “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน”
“ทีมข่าวอิศรา” สืบค้นข้อมูล “ปลากุเลาตากใบ” พบว่าเป็นปลาที่ผู้บริโภคทุกคนเมื่อได้ลิ้มลองต่างติดใจในรสชาติ จนได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม”
ปลากุเลา เป็นปลาที่มีเนื้อเยอะ เนื้อหวาน มัน อร่อย มีก้างตรงกลาง สามารถกินได้ทั้งตัวแม้กระทั่งส่วนหัว ซึ่งที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นแหล่งที่มีปลากุเลาชุกชุมมาก จนกลายเป็น “ของดีตากใบ” ซึ่งนักท่องเที่ยวที่แวะเยือนจังหวัดนราธิวาสต้องถามหา เพื่อซื้อติดไม้ติดมือกลับไป จนเกิดเป็นที่มาของชื่อเสียงดังกระฉ่อน
สำหรับ “ปลากุเลาตากใบ” เป็นปลากุเลาเค็มผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้าโอทอประดับ 5 ดาวที่มีตรา อย.และฮาลาล เลื่องชื่อในความอร่อยเหนือกว่าปลาเค็มทั่วๆ ไป เนื่องจาก “ธรรมชาติ” และ “กระบวนการผลิต” ซึ่งเป็นการตกผลึกภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
กระบวนการผลิตเริ่มจากการคัดเลือกปลาที่มีคุณภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ปลาสดใหม่ที่จับได้ใน อ.ตากใบ และในทะเลนราธิวาสเท่านั้น จากนั้นก็จะนำปลามาเข้าสู่กระบวนการที่พิถีพิถันในทุกขั้นตอน ซึ่งแม้แต่ละเจ้าจะมีสูตรเฉพาะของใครของมัน แต่ก็มีกระบวนการหลักก็คล้ายคลึงกัน คือ เมื่อได้ปลาสดใหม่มาก็จะนำมาขอดเกล็ด ควักไส้ เครื่องในทิ้ง ล้างทำความสะอาดให้หมดจด จากนั้นนำไปหมักเกลือ ที่ต้องเป็นเกลือหวานที่เค็มน้อยเท่านั้น เมื่อหมักได้ที่ประมาณ 2 คืน ก็จะนำไปตากแดดประมาณ 2-3สัปดาห์
ในระหว่างนี้จะมีความพิเศษที่ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของปลากุเลาตากใบ นั่นก็คือ จะต้องมีการนวดปลาสลับไปกับการตาก เพื่อให้เนื้อปลาละเอียดนุ่มทั่วถึงกัน ส่วนการตากแดดก็ต้องห้อยหัวปลาลงอย่างเดียว เพื่อว่าเวลาโดนแดดจัดๆ ความร้อนจะทำให้มันปลาไหลเยิ้มออกมา ทำให้ปลามีสีเหลืองทอง และการห่อกระดาษปิดป้องหัวปลาตัวใหญ่ รวมทั้งมีการสร้างมุ้งให้กับปลาเวลาตาก เพื่อป้องกันแมลงวันมาไข่
ปัจจุบันร้านต่างๆ จะมีผลิตภัณฑ์บรรจุลงในกล่องอย่างสวยงาม สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งทอด ยำ และอีกมากมาย เช่น ข้าวผัดปลากุเลา หลนปลากุเลา ไข่ตุ๋นปลากุเลา หรือเมนูอื่นๆ ตามใจชอบ
อย่างที่ ”ร้านปลากุเลาแม่แป้น” ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ ซึ่งทำมานานกว่า 40 ปี ได้มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น “ปลากุเลาหยอง”, “คั่วกลิ้งปลากุเลา” และ “น้ำพริกปลากุเลา” ซึ่งสนนราคาของทั้ง 3 ประเภทที่บรรจุในกระปุกเป็นราคาที่จับต้องได้ เพียงกะปุกละ 100 บาท และหากเป็นซองก็ขายเพียงซองละ 50 บาทเท่านั้น
ขณะที่ปลากุเลาเป็นตัว ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 1,300-1,500 บาท โดยตัวใหญ่สุด 2.7 กิโลกรัม ราคา 4,050 บาท จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนนิยมซื้อหาไปเป็นของฝากผู้หลักผู้ใหญ่ หรือส่งไปให้กับคนที่นับถือ จนเกิดเป็นคำพูดติดปากว่า “คนกินไม่ได้ซื้อ คนซื้อไม่ได้กิน”