ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ ได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์จาก นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และเข้าเฝ้า สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโต ณ พระราชวังอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ในช่วงเวลาบ่ายของวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทานอยู่ในตระกูล The Order of the Rising Sun ชั้น Gold and Silver Star ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการเชิดชูเกียรติ สำหรับบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญและได้สร้างคุณูปการอันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ในการส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เนื่องจากเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นมาเป็นเวลายาวนาน มีบทบาทสำคัญที่เป็นคุณูปการและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทั้งในประเทศไทยและในระดับสากล
ในปีนี้มีชาวต่างชาติที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ระดับสูงนี้ และเข้ารับมอบที่พระราชวังอิมพิเรียลจำนวน 7 คน โดยเป็นคนไทย 2 คน คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ และ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตนายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นผู้ส่งเสริมการท่องเที่ยวและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสองมาอย่างยาวนาน
ในโอกาสนี้ กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นได้จัดงานเลี้ยง และมีปาฐกถาพิเศษของศาสตราจารย์ดร. กิตติพงษ์ โดยได้บรรยายในหัวข้อ "Reimagining Justice in Thailand: Towards a Collaborative and People Centered Approach" เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 13.00 - 15.00 น.(เวลาในประเทศไทย) ที่ กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น
@@ กำลังสำคัญขับเคลื่อนปฏิรูปยุติธรรมไทย
อนึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ มีบทบาทอย่างสูงในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง ทั้งยังขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ๆ ในด้านกระบวนการยุติธรรม ทั้งยุติธรรมสมานฉันท์ และยุติธรรมชุมชน
สมัยที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ TIJ เมื่อปี 2559 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ TIJ มีสถานะเป็นหนึ่งในสถาบันเครือข่ายแผนงานสหประชาชาติด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ PNIs (United Nations Crime Prevention and Criminal Justice Programme Network of Institutes หรือ PNIs) สถาบันแรกในภูมิภาคอาเซียน โดยมีพิธีลงนามรับรองสถานะ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 ที่สำนักงานสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
@@ ระบบยุติธรรมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง - เท่าเทียม
เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา TIJ เพิ่งจัดเวทีสาธารณะเรื่อง ”หลักนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ในฐานะที่ปรึกษา TIJ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แนวคิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นพัฒนากระบวนการยุติธรรมของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ อย่างชัดเจน
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ได้มีโอกาสรับฟังแนวคิดนี้ (ระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง) ครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2018 ผ่านเครื่องมือของนักออกแบบมาปรับใช้กับระบบยุติธรรม ในชื่อว่า D School (Institue of Design at Stanford) และยังพบว่าแนวคิดนี้ ถูกนำไปขยายผลต่อใน Law School ของสแตนฟอร์ด มาทำสิ่งที่เรียกว่า Legal Design Lab ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่า เรื่องการปฏิรูประบบยุติธรรม กับวิธีคิดแบบ Design Thinking สามารถที่จะทำไปด้วยกันได้ ซึ่งแม้ว่าในประเทศไทยจะได้นำแนวคิดนี้มาใช้อยู่บ้างแล้ว แต่ก็ยังมีความแตกต่างที่เราต้องนำมาปรับใช้
“จริงๆแล้ว คำว่า ระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่คำใหม่ เพราะในอดีตก็มีความพยายามนำแนวคิดนี้มาปรับใช้เช่นกัน เช่น ความพยายามทำให้ประชาชนมีสิทธิมากขึ้น จนกลายมาเป็นหน่วยงานอย่าง กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ หรือแม้แต่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ก็มีแนวคิดนี้เป็นแกนหลักของแผน เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีที่มาจากความต้องการของประชาชนเช่นกัน”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ย้ำถึงคำว่า Access to Justice โดยระบุว่า ต้องไม่ใช่แค่หมายถึง “การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” เท่านั้น แต่ต้องตีความให้เป็นคำว่า “การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม” เพราะเมื่อตีความเช่นนี้ หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจะมีมุมมองต่อประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนไปเป็น “ผู้เข้ารับบริการ” เพราะในความเป็นจริง แม้แต่ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมต่างๆ ก็อาจไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นเราจึงต้องปรับแนวคิดให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมได้เท่าเทียม
“ไทยมีการนำแนวคิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางมาใช้บ้างแล้วก็จริง แต่สิ่งที่เป็นเรื่องใหม่ในขณะนี้ คือ กระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่มาอย่างรวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งสามารถมองเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่สามารถทำให้เกิดเครื่องมือใหม่ๆ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นจุดพลิกจากสิ่งที่เป็นนามธรรมให้กระบวนการยุติธรรมจะทำให้ประชาชนถูกมองเป็น ‘ผู้เข้ารับบริการได้’ อย่างเป็นรูปธรรม”
ดังนั้นหากต้องการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แนวคิด “ระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง” เกิดขึ้นได้จริง เราก็ต้องอาศัยฐานที่มาจากเครือข่ายของสังคม ซึ่งเราได้นำผู้บริหารระดับสูงจากหลายภาคส่วนมาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกันอยู่แล้ว ผ่านหลักสูตร RoLD และมีบางตัวอย่างที่สามารถนำ “นวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม” มาเริ่มใช้ได้จริง โดยมีตัวอย่างที่สำคัญ คือ MySis Chatbot ที่ได้พัฒนามาเป็นช่องทางรับแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว ให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบปัญหาของผู้ถูกกระทำรุนแรงโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนของผู้แจ้ง เพราะไม่ต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
@@ 4 ความท้าทาย “ระบบยุติธรรมที่ประชาชนเป็นผู้รับบริการ”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ สรุปทิ้งท้าย และทิ้งคำถามเชิงท้าทายว่า ถ้าสามารถค้นหา “ความต้องการความยุติธรรมของประชาชน” ด้วยการทำ “Justice needs survey” ออกมาได้ เราก็จะสามารถคลี่คลายประเด็นออกมาเป็นกระบวนการยุติธรรมที่มอง “ประชาชนเป็นผู้รับบริการ” ได้อย่างแท้จริง
ดังนั้นในการขับเคลื่อนให้เกิดระบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางได้จริงต้องตอบคำถาม 4 ข้อ คือ
1. ต้องทำอะไร ... ซึ่งต้องเรียนรู้จากสิ่งที่ทำไปแล้วแต่ไม่ได้ผลด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ยังมีราคาแพง ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม, การทำงานแบบไม่บูรณาการของหน่วยงานในระบบ ทั้งไม่บูรณาการตัวเอง ไม่บูรณาการกับหน่วยงานอื่น และไม่บูรณาการกับชุมชน หรือแม้แต่การฟื้นฟูกลุ่มผู้ก้าวพลาดก็ยังทำเฉพาะในเรือนจำ จึงต้องมองหา “จุดเปลี่ยน” เช่น การบริการความยุติธรรมในชุมชน สัญญาและเอกสารทางกฎหมายี่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน แพลตฟอร์มการบรรเทาข้อพิพาทแบบเบ็ดเสร็จ หรือ แอปพลิเคชันที่ป้องกันความรุนแรง การลักทรัพย์ หรือฉ้อโกง
2. จะขยายผลสิ่งที่ดีอย่างไร ... เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องคิดว่า เมื่อมีแนวคิดหรือแนวทางที่ดีเกิดขึ้นแล้วจะถูกนำไปใช้อย่างไร ต้องตั้งคำถามไปยังหน่วยงานในระบบยุติธรรมด้วยว่า ทำไมไม่นำแนวคิดที่ถูกค้นพบขึ้นมาไปใช้ต่อยอดอย่างจริงจัง
3. จะติดตามและวัดผลความสำเร็จอย่างไร ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการสำรวจความต้องการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน (Justice needs Survey) โดยต้องคำนึงถึงการเก็บข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม และนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
4. จะสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไรให้เหมาะสม สามารถสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง
ปัจจุบัน ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ ยังเป็น ผู้อำนวยการหลักสูตร RoLD Program (Rule of Law and Development Program) โดยรวบรวมผู้บริหารยุคใหม่จากแวดวงต่างๆ มาร่วมกันระดมสมองขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรม ภายใต้หลักคิดที่ว่า การอำนวยความยุติธรรมไม่ได้เป็นเรื่องของนักกฎหมาย หรือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยทุกภาคส่วนของสังคมด้วย