ใกล้ถึงวันประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้ามาทุกที การเตรียมความพร้อมของฝ่ายต่างๆ ก็มีความคืบหน้าเป็นลำดับ
โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้กับผู้นำ มาตรการด้านการจราจร และการรักษาความปลอดภัย มีการซ้อมแผนเสมือนจริงกันเป็นระยะ ทั้งแบบเปิดให้สื่อมวลชนสังเกตการณ์ และแบบปิดลับ
แต่ความอ่อนไหวของสถานการณ์ก็คือ เรามีปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่ได้ก่อเหตุเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับอีก 4 อำเภอของสงขลาเท่านั้น แต่เคยข้ามออกมาก่อเหตุนอกขายแดนใต้แล้วหลายครั้ง รวมทั้งกรุงเทพฯ (ดูกราฟฟิกประกอบ)
ในจำนวนระเบิดนอกพื้นที่ชายแดนใต้ทั้งหมดนั้น มีอยู่ 2 ครั้งที่เป็นการก่อเหตุช่วงเดียวกับการประชุมระดับนานาชาติที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
@@ ย้อนเหตุการณ์บึ้มป่วนช่วงประชุมนานาชาติ
หนึ่ง คือ เหตุลอบวางระเบิดป่วนย่านเศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวของ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน (ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สุราษฎร์ธานี, พังงา, นครศรีธรรมราช และ ประจวบคีรีขันธ์) เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10-12 ส.ค.59 ในพื้นที่ 7 จังหวัดรวมทั้งหมด 17 จุด มีผู้เสียชีวิตรวม 4 ราย และบาดเจ็บ 36 ราย
เหตุลอบวางระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เกิดขึ้นก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD summit 2016 ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.59 ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นการลดความน่าเชื่อถือในมาตรการรักษาความปลอดภัยของประเทศไทย แต่ไม่ได้กระทบหรือมีการยกเลิกการประชุมแต่อย่างใด
ในช่วงหลังการประชุม ACD ฝ่ายความมั่นคงยังได้ข่าวกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแผนวางระเบิดตามห้างสรรพสินค้าและย่านธุรกิจกลางกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรอง ผบ.ตร. นำกำลังปูพรมเข้าตรวจค้นในวันที่ 11 ต.ค.59 ทั้งอพาร์ทเม้นท์ย่านรามคำแหง 9 แห่ง และขยายผลไปตรวจค้นห้องพักย่าน ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ในวันเดียวกัน และวันที่ 17 ต.ค.ไปตรวจค้นห้องพักในชุมชนเคหะบางพลี ย่านบางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเจ้าหน้าที่พบสารเคมีประกอบระเบิดและอุปกรณ์ประกอบระเบิด และจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้อง 14 คน ดำเนินคดี ปัจจุบันบางคดีศาลพิพากษาแล้ว
สอง เหตุลอบวางระเบิดป่วนในพื้นที่กรุงเทพฯ ช่วงวันที่ 1- 2 ส.ค.62 รวมหลายจุดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 7 ราย
เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกับหุ้นส่วนต่างๆ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ก.ค.–3 ส.ค.62 ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ความมั่นคงเชื่อว่า เป็นฝีมือของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่เคลื่อนไหวก่อเหตุเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติ
ทั้งยังเป็นการลดความน่าเชื่อถือในมาตรการรักษาความปลอดภัยของไทยระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit ) ครั้งที่ 35 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นพื้นที่กรุงเทพฯ และนนทบุรี ในระหว่างวันที่ 31 ต.ค.62 ถึง 4 พ.ย.62 อีกด้วย
โดยมีการวางระเบิดที่หน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ริมถนนพระรามที่ 1, หน้าอาคารศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ, ป้ายหน้ากองบัญชาการกองทัพไทย, สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถนนศรีสมาน และวางระเบิดเพลิงจนเกิดเพลิงไหม้ในห้างสรรพสินค้าย่านปทุมวันและย่านการค้าประตูน้ำ ซึ่งตรวจพบเป็นระเบิดทั้งหมด 17 ลูก แยกเป็นระเบิดแสวงเครื่อง 9 ลูก และระเบิดเพลิงแสวงเครื่อง 8 ลูก
หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ทันที 2 ราย จนนำไปสู่การขยายผลออกหมายจับผู้ที่ร่วมก่อเหตุรวม 21 ราย โดยทั้งหมดเป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันจับกุมได้ 4 ราย ถูกวิสามัญฆาตกรรมไป 3 ราย และอยู่ระหว่างการหลบหนีอีก 14 ราย
@@ เปิดแผนแม่ทัพ 4 คุมเข้มสกัดกลุ่มป่วน
นี่คือสถานการณ์ในอดีตที่เราประมาทไม่ได้ และแน่นอนว่าฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ได้ประมาท ได้มีการแจ้งเตือน และวางมาตรการรองรับอย่างเข้มงวด เน้นการสกัดกั้นกลุ่มผู้ไม่หวังดีไม่ให้แฝงตัวเขัามาก่อเหตุในพื้นที่ส่วนกลาง และป้องกันไม่ให้ก่อเหตุในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า “ได้จัดตั้งศูนย์ติดตามความเคลื่อนไหว และวางกำลังเฝ้าระวังเต็มพื้นที่ ตั้งแต่แนวชายแดน ไปจนถึงการจัดตั้งจุดตรวจและสังเกตการณ์ตามสถานนีรถไฟ รถโดยสาร สนามบิน พร้อมส่งชุดหาข่าวเกาะติดบุคคลเป้าหมายทุกพื้นที่ รวมถึงประสานการปฏิบัติกับทุกภาคส่วน ดูแลในเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยวทั่วภาคใต้ ไม่ใช่แค่ 3 จังหวัด”
@@ จับตา “ผกร.หน้าขาว” - ล็อกเป้ามือระเบิด
การทำงานของ พล.ท.ศานติ ประสานงานกับ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) หรือ “อดีตแม่ทัพเกรียง” ที่เพิ่งขยับจากแม่ทัพภาค 4 ขึ้นมาส่วนกลาง โดยได้เน้นย้ำมาตรการตรวจเข้มการเดินทาง ทั้งบก เรือ อากาศ เฝ้าระวังทั้งกลุ่มที่มีหมายจับและไม่มีหมายจับ รวมไปถึงกลุ่มที่ไม่มีประวัติทางคดี หรือที่เรียกว่า “ผกร.หน้าขาว” ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และจะเพิ่มความเข้มมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ “ทีมข่าวอิศรา” ได้มาก็คือ การล็อกเป้ามือระเบิดหรือมือก่อเหตุระดับแกนนำ ซึ่งที่ผ่านมาถูกจับกุมไปหลายราย ยังเหลือบุคคลหลักๆ ที่ 3 ราย คือ นายเสรี แวมามุ, นายมะนาเซ ไซร์ดี และนายอุสมาน เปาะเลาะ
ข่าวดีก็คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ที่น่าวิตก และคาดว่าตั้งแต่สัปดาห์หน้าจะมีปฏิบัติการปูพรมตรวจค้น และจับกุมเป้าหมาย เพื่อสกัดการก่อเหตุอีกชั้นหนึ่ง
@@ 3 กลุ่มเฝ้าระวัง “มีหมาย-ไม่มีหมาย-ทำงานในกรุง”
ด้านข้อมูลจากหน่วยข่าวความมั่นคง ระบุว่า มาตรการเฝ้าระวังมีการวางระบบเอาไว้ทั้งหมด และถือปฏิบัติมานานแล้ว โดยจะเพิ่มความเข้มเต็มที่ช่วงที่มีสถานการณ์สำคัญ ดังนี้
1.จัดทำบัญชีบุคคลอันตราย (กลุ่มมีประวัติก่อเหตุรุนแรง มีหมายจับ โดยเก็บข้อมูลอย่างละเอียด) มีการอัพเดตข้อมูลตัวเลขให้เป็นปัจจุบัน
2.เฝ้าระวังกลุ่มที่เดินทางออกนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยขึ้นมาประกอบอาชีพในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล เน้นชุมชนมุสลิม เช่น ย่านรามคำแหง นนทบุรี ปทุมธานี ซึ่งฝ่ายความมั่นคงมีรายชื่ออยู่ระดับหนึ่ง
3.พวกที่ไม่มีประวัติ (พวกหน้าขาว) จะมีการตรวจสอบบุคคลที่เดินทางออกนอกพื้นที่แบบน่าสงสัย เช่น ว่าจ้างรถตู้เดินทางมายังกรุงเทพฯ แล้วกลับ โดยไม่ได้ท่องเที่ยว หรือพวกที่ทำตัวคล้ายนักท่องเที่ยว การตรวจสอบในส่วนนี้ค่อนข้างทำได้ยาก
สำหรับกลุ่มบุคคลที่อาจเป็นภัยคุกคามกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากมีผู้นำต่างประเทศที่มีความสำคัญเดินทางมาเยือนหลายประเทศ อีกทั้งมีความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ จึงอาจมีบางประเทศส่งมือปฏิบัติการเข้ามาก่อเหตุต่อเป้าหมายผู้นำเป็นการเฉพาะ เรื่องนี้หน่วยข่าวจะต้องเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย ซึ่งเป็นเรื่องยากและซับซ้อน ต้องประสานข้อมูลกับหน่วยข่าวของมิตรประเทศ