“นายกอ๋า” แจง “พิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลา” ไม่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง เผยกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อทำพิพิธภัณฑ์ต้องใช้เวลาและผู้มีความรู้จริง เพื่อถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง ด้วยความมุ่งหวังให้คนยะลาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่ใช่แค่ซื้อเฟอร์นิเจอร์มาตั้ง สุดท้ายจะทำประชาพิจารณ์สอบถามความเห็นพี่น้องประชาชน ยอมรับโควิดมีส่วนทำล่าช้า ย้ำกำลังเร่งดำเนินการ คาดแล้วเสร็จเปิดบริการปีหน้า
หลังจาก “ทีมข่าวอิศรา” นำเสนอข่าวที่มีการร้องเรียนผ่านศูนย์ป้องกันและป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ เกี่ยวกับอาคาร “พิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลา” ที่ใช้งบประมาณก่อสร้าง 80 ล้านบาท โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.61 จนแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 64 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดใช้งานหรือใช้ประโยชน์ใดๆ จนชาวบ้านเข้าใจว่าเป็น “อนุสาวรีย์โรงยาง” นั้น
เรื่องนี้ นายพงษ์ศักด์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศบาลนครยะลา ในฐานะหน่วยงานที่รับมอบตัวอาคารพิพิธภัณฑ์จากทางจังหวัด เพื่อพัฒนาต่อยอด ได้ชี้แจงถึงข่าวที่ออกมาว่า ที่จริงในพื้นที่ 94 ไร่ที่เทศบาลนครยะลาจัดซื้อมาเพื่อทำพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลานั้น เรามีแนวคิดที่จะสร้างหลายสิ่งหลายอย่างให้กับเมืองยะลา โดยจะสร้างให้คนในยะลาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทัศนศึกษาในพื้นที่เดียวกัน
“พิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลา หรือที่เรียกว่า ซิตี้ มิวเซียม ที่เป็นปัญหาอยู่นี้ ขอเรียนว่าเทศบาลนครยะลาได้รับความกรุณาจากจังหวัดยะลาให้จัดงบประมาณผ่านโยธาธิการจังหวัดยะลา โดยมีข้อตกลงกันว่า ทางจังหวัดยะลาจะสนับสนุนโครงสร้างตัวอาคารให้กับเทศบาลนครยะลา แล้วทางเทศบาลนำมาทำคอนเทนต์เนื้อหาภายในอาคาร”
“เป้าประสงค์ก็เพื่อให้เมืองยะลาเป็นผังที่ดีที่สุดในประเทศไทย เราจะทำอย่างไรให้คนรุ่นหลังตระหนักที่จะรักษา ‘ผังเมือง’ ที่เป็นต้นทุนหลักของเราอยู่แล้ว ในขณะที่เราจะต้องพูดเรื่องผังเมืองสู่การอนุรักษ์ในมิติต่างๆให้มากขึ้น อีกวัตถุประสงค์หนึ่งก็คือ เราจะเอางานพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 แทรกเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ด้วย”
“การทำพิพิธภัณฑ์ ไม่ใช่การเปิดร้านขายของที่สามารถซื้อของแล้วเอามาวางใส่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือต้องมีกระบวนการศึกษาประวัติศาสตร์ต่างๆ และสิ่งเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจสอบให้มีความรอบคอบมากที่สุด จับเนื้อหาต่างๆ มาถอด มาสังเคราะห์ถ่ายทอดสู่คนที่มาศึกษาผ่านรูปแบบต่างๆ ทางเทศบาลนครยะลาหวังว่าพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลาแห่งนี้ เราจะสร้างพิพิธภัณฑ์ให้เหมือนพิพิธภัณฑ์ของเมืองเซียงไฮ้ รูปแบบการนำเสนอสมัยใหม่ ให้เมืองของเราเทียบเท่าเมืองของโลก เพราะเรามีเยาวชนสมัยใหม่ เราจะโชว์แบบเครื่องสังคโลกแบบเก่าๆ มันไม่จุดประกายให้กับคนรุ่นใหม่ได้”
นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาเจอปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทีมงานที่มาสร้างพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลาได้รับผลกระทบไปด้วย และการทำพิพิธภัณฑ์ใม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องใช้มืออาชีพ และผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง
“ทางเทศบาลพยายามดูว่าในประเทศไทยมีใครที่ทำพิพิธภัณฑ์ดูแล้วมีเนื้อหารูปแบบที่น่าสนใจที่สุด มีผลงานดีและดัง เคยศึกษาดูพิพิธภัณฑ์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มิวเซียมสยาม สิ่งเหล่านี้ทางเทศบาลขอมาเปรียบเทียบดูกับพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลา ต้องการคนที่ชำนาญการณืมาทำการศึกษาประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตของคนยะลา เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลในการค้นหากด้วย ทั้งหมดต้องใช้เวลาทั้งสิ้น ฉะนั้นในการทำพิพิธภัณฑ์ผังเมืองไม่ใช่การตกแต่งภายในเหมือนเฟอร์นิเจอร์ จับลากมาตั้ง แต่เป็นเนื้อหาที่เกิดจากความถูกต้องที่จะไม่ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในพื้นที่ สุดท้ายการทำพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลาก็จะกลับมาทำประชาพิจารณ์ ให้ประชาชนได้เสนอความต้องการอีกด้วย”
“สิ่งที่ข่าวนำเสนอหรือผู้ที่ร้องเรียนในเรื่องนี้นั้น มีความเข้าใจผิดอย่างมาก เหมือนกับว่าเมื่อก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลาเสร็จไม่ได้ใช้งานอะไร เอางบประมาณไปเผาหมด มันไม่ใช่แบบนั้นเลย จึงขอชี้แจงตรงนี้ว่าได้ดำเนินการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์และปรับภูมิทัศน์ คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้ประชาชนเข้าใช้บริการเร็วๆ นี้”
นายพงษ์ศักดิ์ หรือ นายกอ๋า กล่าวด้วยว่า เทศบาลนครยะลาได้เร่งงานอยู่ตลอดเวลา แต่ที่ผ่านมานั้นมีอุปสรรคหลายอย่าง ในตัวของธีม (แนวคิดหลัก และระบบปฏิบัติการหลัก) ของตัวผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันที่หลากหลายเพื่อมาศึกษาเติมเต็ม แต่ก็ยังต้องใช้เวลา เพราะต้องอาศัยข้อมูลจำนวนมาก แล้วจากนั้นจะนำเสนอในรูปแบบแอปพลิเคชันให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่พร้อมจะออกแบบพิพิธภัณฑ์นี้ร่วมกัน
“อย่างไรก็ตามเราจะทำให้แล้วเสร็จภายในปีหน้า ตั้งแต่การทำเนื้อหาจนกระทั่งติดตั้งอุปกรณ์ทุกอย่าง เพราะเราเองก็เร่งตลอดอยู่แล้ว และยังมีคนมาร้องเรียนต่างๆ ทางเทศบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เราต้องการทำทุกอย่างให้มีประโยชน์ ให้เด็กยะลามีความภาคภูมิใจ ตระหนักในพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าท่านได้ทรงทุ่มเททรงงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างหนักหนาแค่ไหน สิ่งสำคัญเราต้องการความคิด จะทำอย่างไรให้พิพิธภัณฑ์เกิดการแอคทีฟ ให้คนที่เข้าไปดูจะมีปฏิสัมพันธ์ เพื่อทางเทศบาลจะเก็บข้อมูลนี้ไปพัฒนาพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลาต่อไป” นายกอ๋า กล่าวทิ้งท้าย