กำหนดการพบปะพูดคุยร่วมกันระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น จำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ของมาเลเซีย ซึ่งกำหนดวันเลือกตั้งตรงกับวันที่ 19 พ.ย.65
แม้กำหนดการเดิมจะให้มีการพบกันแบบ “คณะเล็ก” หรือ Technical Team ช่วงเดือน ก.ย. และต้นเดือน ต.ค.65 แต่ก็จำเป็นต้องเลื่อนเช่นกัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศยุบสภาในวันที่ 10 ต.ค. ทำให้การพบกันของ “คณะเล็ก” มีขึ้นเพียงครั้งเดียว ตามแผนที่ต้องมีการพบกัน 2 ครั้ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ต.ค.65 พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกองเลขานุการคณะพูดคุยฯ ลงพื้นที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี เพื่อพบปะหารือกับผู้แทนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) นำโดย พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองผอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งผลการประชุมบางส่วน “ทีมข่าวอิศรา” ได้รายงานให้ทราบไปแล้ว
สำหรับผลการหารือในประเด็นอื่นๆ มีการพบปะกับกองเลขานุการคณะประสานงานระดับพื้นที่ หรือ สล.3 ใน 3 ประเด็นสารัตถะของการพูดคุย คือ
1.การลดความรุนแรง หรือ การหยุดยิง ทำอย่างไรให้มีจุดร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย มี Monitoring Teams ครอบคลุมทุกๆ ฝ่าย (ทีมมอนิเตอร์สถานการณ์ และตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น)
2.กระบวนการ Public consultation หรือการปรึกษาหารือสาธารณะ ว่าจะออกแบบอย่างไรให้ได้ทีมงานคุณภาพ ครอบคลุมทุกมิติผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนการตั้ง Joint Working Groups หรือคณะทำงานร่วม
และ 3.การแสวงหาทางออกทางการเมือง
การหารือกันครั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อคิดเห็นว่า หลังจากพูดคุยและมีมติประการใดแล้ว (หมายถึงการพูดคุยกับผู้แทนบีอาร์เอ็น และการพบปะกันของ “คณะเล็ก”) ควรมีการลงนามในเอกสารด้วยทุกครั้ง เนื่องจากเอกสารต่างๆ มีความสำคัญต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเป็นการแสดงถึงความตั้งใจและความจริงใจต่อกัน ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่ทางออกที่ดีต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย
สำหรับประเด็นของ 3 สารัตถะในกระบวนการพูดคุยฯ มีข้อเสนอโดยย่อประกอบด้วย การลด/ยุติความรุนแรง ควรปลดป้ายผู้ต้องหาทุกจุด ที่บริเวณด่านตรวจ และบริเวณที่ทำการของรัฐ ไม่ควรปิดล้อมหรือตรวจค้นในพื้นที่ชุมชน เว้นแต่ฐานที่มั่นของฝ่ายตรงข้าม ห้ามเจ้าหน้าที่ตรวจดีเอ็นในเด็กโดยเด็ดขาด (เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก) การตรวจดีเอ็นเอผู้ต้องสงสัยและญาติผู้ต้องสงสัย ต้องมีผู้นำชุมชนร่วมอยู่ด้วยทุกครั้ง
@@ กลุ่มไทยพุทธถกผู้แทนบีอาร์เอ็น - กลุ่มเห็นต่างฯในมาเลย์
ความเคลื่อนไหวอีกด้านหนึ่ง นายพงษ์ศักดิ์ พรหมสังข์ ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธจังหวัดชายแดนภาคใต้, นางธิดา วรรณลักษณ์ ประธานชมรมพุทธรักษานราธิวาส และ นางลม้าย มานะการ เลขานุการสมาคมลุ่มน้ำสายบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะประสานงานระดับพื้นที่ หรือ สล.3 ในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ได้เดินทางไปพบปะหารือกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ประเทศมาเลเซีย ระหว่างวันที่ 25–28 ก.ย.65 โดยไปที่รัฐกลันตัน ตรังกานู และกรุงกัวลาลัมเปอร์
มีการพบปะพูดคุยกับ นายอาบูอาฟิส อัลฮากีม หรือ “หมอดิง” จากกลุ่มบีไอพีพี ในฐานะโฆษกกลุ่มมาราปาตานี ที่เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน โดยนายอาบอาอิส เคยร่วมโต๊ะพูดคุยกับรัฐบาลไทยในช่วงต้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นอกจากนั้นยังได้พบปะพูดคุยกับ นายกัตตูรี มะห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล ในเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน และพบปะพูดคุยกับทีมของ อุสตาซอารง ที่รัฐตรังกานู รวมถึงคุยกับ ดร.นิมะ สือรี นักวิชาการและผู้แทนในคณะพูดคุยฯ ของบีอาร์เอ็น ที่รัฐสลังงอ
@@ “คนพุทธ”สื่อสารกับคนในขบวนการ หยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ทุกศาสนิก
นายพงษ์ศักดิ์ พรหมสังข์ ประธานสมาพันธ์ไทยพุทธฯ เล่าถึงบรรยากาศการพบปะพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างในมาเลเซียว่า “เรารู้สึกว่าเราคือคนพุทธในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ความไม่สงบตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เพราะเราคือส่วนหนึ่งของคนในพื้นที่ และวันนี้สิบกว่าปีแล้ว เราไม่เคยได้สื่อสารกับผู้เห็นต่างที่อยู่ในมาเลเซียเลย ณ วันนี้เราคิดว่าสมควรและถึงเวลาแล้วที่คนพุทธจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการพูดคุยกับคนที่มาเลเซีย”
“สิ่งที่เราเรียกร้องและบอกเขา ข้อแรก ทางขบวนการผู้เห็นต่างจะต้องหยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องไทยพุทธ แต่เป็นทุกศาสนิกที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องหยุดโดยทันที จากนั้นเรายังมีการพูดคุยถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างศาสนิกกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯ โดยจะเป็นแกนนำของพี่น้องพุทธเป็นหลักในการทำงานร่วมกัน เพราะเรามองว่าการที่ขบวนการพูดคุยกับรัฐไทยอย่างเดียวมันไม่เพียงพอ คิดว่าพี่น้องในพื้นที่อื่นๆ จำเป็นจะต้องมีส่วนร่วมด้วย”
“เรามองว่าที่ผ่านมากระบวนการการพูดคุยฯ มีระหว่างรัฐกับผู้เห็นต่างเท่านั้น แต่ชนกลุ่มน้อยอย่างคนพุทธในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม เรื่องแรกเราบอกรัฐว่าเราไปคุยกับขบวนการแล้วนะ เพื่อต้องการการมีส่วนร่วม เพราะเราคือผู้ได้รับผลกระทบคนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ สิ่งต่างๆ หลังจากนั้น จะมีการนำข้อมูล ความเห็นที่เราคุยกับกลุ่มขบวนการมานำเสนอต่อรัฐในลำดับต่อไป”
@@ ปกครองพิเศษได้ มีแต่คนตานี พื้นที่ก็ไม่สมบูรณ์
นางธิดา วรรณลักษณ์ ประธานชมรมพุทธรักษานราธิวาส กล่าวคล้ายๆ กันว่า “เรารู้สึกว่าเราถูกทำร้ายมาตลอดตั้งแต่ปี 2547 ทำให้เราต้องไป เราไม่เคยมีการสื่อสารกับกลุ่มขบวนการเลย เราเชื่อว่าไม่มีวิธีไหนดีที่สุดเท่ากับการพูดคุย บางครั้งคนเราทะเลาะกัน แต่เราไม่เคยได้คุยกันเลย ที่นี้การคุยผ่านคนอื่น ผ่านการเล่าต่อ ผ่านการบอกต่อ มันไม่เหมือนกับเราไปเอง พอเราไปเองมันได้พูดคุยตรงๆ”
“สิ่งที่นำเสนอสิ่งแรกเลย คือความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่ามุสลิมและคนพุทธ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนพุทธก็จะเป็นครูกับพระที่จะถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลา เราจึงได้นำเสนอตรงนี้ไป สมมติต่อไปการพูดคุยจบลง สามารถเลือกตั้งปกคครองพิเศษได้ แต่ถ้าไม่มีคนพุทธอยู่ตรงนี้ มีแต่คนตานีอย่างเดียว มันก็ไม่เกิดความสมบูรณ์แบบของพื้นที่ ต้องอาศัยคนหลายๆ กลุ่มเข้ามา แล้วก็หลายๆ ศาสนา หลายมิติความเชื่อ เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน จึงได้นำเสนอเรื่องของการยุติความรุนแรง”
@@ ไปอย่างมิตร - ตัวแทนขบวนการตอบรับ
ประธานชมรมพุทธรักษานราธิวาส ยังเล่าถึงท่าทีของตัวแทนกลุ่มขบวนการ
“เขาตอบรับเชิงบวก เพราะท่าทีของเราเป็นมิตรด้วย เราไปอย่างเป็นมิตร เราไม่ได้พาความเป็นรัฐเข้าไป แต่เราพาความเป็นคนพุทธที่ซื่อๆ และได้รับผลกระทบเข้าไป เราไปในสภาพของคนที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ แต่กำลังไปหาพวกเขา เพื่อที่จะมาถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วเขาจะให้เราทำอย่างไร เราควรจะทำอย่างไรต่อไปกับการพูดคุย”
“สมมติว่าอะไรก็ตามที่เขาไม่เข้าใจภาครัฐ เราในฐานะคนของภาครัฐ เราพร้อมจะชี้แจงว่าสิ่งที่เขาเข้าใจมันเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกต้อง เพราะถ้าเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะคลี่คลายปัญหาได้ ในกระบวนการพูดคุย เราเป็นโต๊ะเล็ก แต่ถ้าเราสามารถทำให้กระบวนการพูดคุยตรงนี้ชัดเจนขึ้น มันมีความจริงใจมากขึ้น พอขึ้นไปอยู่โต๊ะใหญ่ เขาก็รู้สึกว่าสิ่งที่เขาคุยกับพวกเราแล้วมันก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจ และไปหนุนเสริมความรู้สึกที่ดีของเขา มันน่าจะเป็นผลบวกต่อการดำเนินการต่อไป”
@@ “กัสตูรี” เสนอดึงคนพุทธร่วมพูดคุย - ชี้คนปาตานีด้วยกัน
ด้าน นายกัสตูรี มะห์โกตา ประธานองค์การปลดปล่อยสหปาตานี หรือ พูโล กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ได้เจอกับตัวแทนคนพุทธ ได้คุยกัน เพราะเราคือคนปาตานี ต้องช่วยกันในการแก้ไขปัญหา ทางคณะได้มีข้อเสนอการแบ่งอำนาจในการอยู่ร่วมกัน มีความรุนแรงน้อยลงระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยใช้แบบจำลองเดือนรอมฎอน และแนวโน้นอาจต้องมาทำงาน หรือขับเคลือนร่วมกัน ถ้ามีโอกาสเราจะพบกันอีกหลายๆ ครั้ง
“ผมอยากเห็นตัวเเทนองค์กรพุทธมาอยูบนโต๊ะเจรจาด้วย” นายกัสตูรี กล่าว