อุปนายกสมาคมท่องเที่ยวเบตง เผย หลังนกแอร์หยุดบิน ได้หารือร่วม “บางกอกแอร์เวย์” ตกลงเปิดเส้นทางบิน “หาดใหญ่ - เบตง” ตั๋ว 1,200-1,500 บาท ถูกกว่าบินตรงจากกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างเสนอรอคมนาคมอนุมัติก่อนทำ MOU ด้าน “นกแอร์” ไม่ขอร่วมวง ขณะที่กรมท่าอากาศยาน แจงเหตุขยายรันเวย์ทั้งๆ ที่เพิ่งเปิดทำการบินได้ 8 เดือน
นายนรินทร์ เรืองวงศา อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวอำเภอเบตง จ.ยะลา กล่าวว่า กรณีนกแอร์จะหยุดทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เบตง เมื่อวันที่ 28 ต.ค.ผ่านมา เนื่องจากทนภาระการขาดทุนไม่ไหว ซึ่งที่ผ่านมาสายการบินนกแอร์ ได้เปิดให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ(ดอนเมือง) - เบตง(ยะลา) 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันอังคาร ศุกร์ และอาทิตย์ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว (สธทท.) และบริษัททัวร์ต่างๆ ส่วนหลังจากนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
“โดยท่านภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตง ได้หารือกับทางบางกอกแอร์เวย์ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า จะเปิดบินเส้นทาง ‘หาดใหญ่ – เบตง - หาดใหญ่’ ใช้ระยะเวลา 25 นาที และราคาอยู่ที่ประมาณ 1,200 -1,500 บาท ถูกกว่าบินตรงจาก กรุงเทพฯ - เบตง โดยขณะนี้กำลังเสนอเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ปลัดกระทรวงคมนาคมอนุมัติ จากนั้นจะมีการเซ็นเอ็มโอยูระหว่างกันอีกครั้งหนึ่ง”
นายนรินทร์ บอกด้วยว่า ตั้งแต่เปิดบริการเที่ยวบิน “กรุงเทพฯ - เบตง” ช่วงปลายเดือน เม.ย.65 จนถึงปัจจุบัน ยังได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้โดยสาร ส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารแบบกรุ๊ปทัวร์ ประมาณ 80 - 90% ขณะที่ผู้โดยสารทั่วไปประมาณ 10 - 20% ภาพรวมของอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) อยู่ที่ประมาณ 80 - 90%
“ยอมรับว่าเส้นทาง กรุงเทพฯ(ดอนเมือง) - เบตง มีต้นทุนค่อนข้างสูง บัตรโดยสารในราคาประมาณ 4,000 - 5,000 บาทต่อเที่ยว มาในแบบกรุ๊ปทัวร์ 3 วัน 2 คืน ราคาราวๆ 10,000 บาท ซึ่งทางสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเบตงจะไม่การันตี 60 ที่นั่งอีกแล้ว ทำให้สายการบินนกแอร์ตัดสินใจหยุดทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ - เบตง เนื่องจากมีต้นทุนสูงมากในการบินมาเบตง”
@@ “นกแอร์” เมินร่วมบิน “หาดใหญ่-เบตง”
สำหรับแนวทางการเปิดเส้นทางบินใหม่ “หาดใหญ่ - เบตง” นั้น ไม่ได้รับการตอบรับจากนกแอร์ โดย นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด กล่าวว่า ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในการเปิดเส้นทางบิน “หาดใหญ่ - เบตง” นอกจากจะมีค่าใช้จ่ายในการนำเครื่องบินขึ้น-ลงที่ท่าอากาศยานแล้ว จะมีค่าซ่อมบำรุงการสึกหรอของเครื่องยนต์ด้วย
นอกจากนี้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการนำเครื่องบินจากดอนเมืองมายังหาดใหญ่ เพื่อใช้เครื่องบินมาทำการบินในเส้นทางหาดใหญ่ – เบตง ประกอบกับการทำราคาตั๋วของเครื่องบินใบพัดเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ก็คงจะสู้กับเครื่องบินของสายการบินอื่นที่มีขนาดใหญ่กว่าไม่ได้ อีกทั้งปริมาณความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสาร ส่วนใหญ่ก็จะมาจากกรุงเทพฯ มากกว่าที่หาดใหญ่
@@ แจงปมขยายรันเวย์ - เปิดบริการอีกรอบปี 71
ด้านกรมท่าอากาศยาน แจ้งว่า ขณะนี้กลุ่มที่ปรึกษาโครงการออกแบบงานก่อสร้าง พร้อมศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ขยายทางวิ่ง (รันเวย์) ทางขับ (แท็กซี่เวย์) ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินและส่วนประกอบอื่นๆ ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ได้ส่งผลการศึกษาฯ มายังกรมท่าอากาศยานแล้ว และจะเสนอผลการศึกษาต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป และเปิดบริการประมาณปี 2571
สำหรับการขยายรันเวย์ครั้งนี้ จะเพิ่มความยาวจากเดิม 1,800 เมตร เป็น 2,500 เมตร เพิ่มขึ้น 700 เมตร โดยขยายไปทางทิศตะวันตก 375 เมตร และทางทิศตะวันออก 325 เมตร เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ 180 ที่นั่งได้ อาทิ แอร์บัส A320 และโบอิ้ง B-737 จากปัจจุบันรองรับได้เพียงเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่ง อาทิ Q400 และ ATR 72
นอกจากนี้จะขยายลานจอดอากาศยานจากเดิมที่มีขนาด 94x180 เมตร เป็นขนาด 94x240 เมตร ทำให้สามารถจอดอากาศยานขนาด 180 ที่นั่งได้พร้อมกัน 3 ลำ
ส่วนสาเหตุที่ไม่สร้างรันเวย์ให้ยาว 2,500 เมตรไปในคราวเดียว ไม่ต้องมาขยายเพิ่มเติมอีกนั้น เนื่องจากการออกแบบรันเวย์ขึ้นอยู่กับความจำเป็น การศึกษาเมื่อปี 50 พบว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินในขนาดรันเวย์ที่ 1,800 เมตร รองรับได้อย่างเพียงพอ เมื่อเวลาผ่านไปการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและเที่ยวบินเปลี่ยนไปจึงขยายเพิ่มภายหลัง ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานเบตง มีผู้โดยสารมาใช้บริการ (ม.ค.- 26 ก.ย.65) อยู่ที่ 10,691 คน 150 เที่ยวบิน