ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนาน มีหลายคดีที่เป็นเงื่อนงำปริศนา และหาความจริงที่ยอมรับตรงกันทุกฝ่ายไม่ได้
ล่าสุดมีประเด็นหายตัวลึกลับของชายวัย 42 ปีที่ข้ามไปทำงานอยู่ฝั่งมาเลเซีย จากนั้นก็มีผู้พบศพปริศนาในแม่น้ำสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ทำให้ครอบครัวผู้สูญหายเชื่อว่าเป็นคนเดียวกัน และมีการโจษขานกันถึงปฏิบัติการอุ้มฆ่าของกลุ่มชายฉกรรจ์ โดยมีการกล่าวอ้างพาดพิงถึงเจ้าหน้าที่ไทยด้วย
ถือเป็นประเด็นอ่อนไหว เกี่ยวพันกับความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ไทยกับมาเลเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกัน
เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการพบศพชายปริศนาคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 29 ก.ย.65 ศพลอยอืดในแม่น้ำโก-ลก ชายแดนไทย-มาเลเซีย ด้าน จ.นราธิวาส
เหตุการณ์นี้ถูกมองเชื่อมโยงกับเมื่อ 2 วันก่อนหน้า คือ วันที่ 27 ก.ย. มีชายที่เป็นผู้ต้องหาคดีความมั่นคง และถูกระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มบีอาร์เอ็น มีหมายจับของหน่วยราชการไทย คือ นายยาห์รี ดือเลาะ ภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส หายตัวไปจากที่พัก ในเมือง รันเตา ปันยัง รัฐกลันตัน ของมาเลเซีย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
ตามข่าวที่มีการส่งข้อมูลต่อๆ กันเฉพาะกลุ่ม ในพื้นที่ชายแดนใต้ ระบุว่ามีเหตุการณ์อุ้มคนไทย ซึ่งก็คือ นายยาห์รี ขณะไปทำงานอยู่ในมาเลเซีย
ข้อมูลที่ส่งต่อกันยังอ้างว่า นายยาห์รี ถูกอุ้มหายไปโดยกลุ่มชายฉกรรจ์ไม่ทราบฝ่าย ใช้รถกระบะ 1 คัน และรถยนต์เก๋ง 2 คันเป็นพาหนะ คาดว่าติดตามนายยาห์รีขณะกลับจากทำงาน และอุ้มตัวไประหว่างแวะซื้ออาหาร เหตุเกิดในพื้นที่มาเลเซีย สอบถามตำรวจมาเลเซีย ยืนยันว่าไม่ทราบเรื่อง จึงมีการสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวโยงกับคนทางฝั่งไทย หรือเจ้าหน้าที่ไทย
เมื่อมีการพบศพปริศนาใน 2 วันต่อมา คือ วันที่ 29 ก.ย. ครอบครัวของนายยาห์รี จึงไปดูศพ พบสภาพศพมีรอยช้ำรอบคอ และมีรอยแผลบนใบหน้า ครอบครัวจำไม่ได้ว่าเสื้อที่ผู้เสียชีวิตสวมใส่เป็นเสื้อของนายยาห์รีหรือไม่ ส่วนหน้าตาของศพก็เปลี่ยนไปจนจำไม่ได้ แต่ภรรยาของนายยาห์รี บอกว่า จำแผลที่ขาได้ว่าเหมือนกับแผลของสามี จึงสันนิษฐานว่า ศพนี้คือนายยาห์รี ดือเลาะ
นำมาสู่การแจ้งความกับตำรวจทั้งในไทยและมาเลเซียเพื่อดำเนินคดีต่อไป รวมทั้งได้มีการจัดพิธีศพขึ้น เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่กุโบร์ หรือ สุสาน บ้านพงกือปัส ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
กล่าวสำหรับ นายยาห์รี ดือเลาะ เป็นบุคคลตามหมายจับในคดีความมั่นคง 3 หมายด้วยกัน
1. คดีวางเพลิง และปล้นรถยนต์หลบหนี เมื่อวันที่ 25 ก.พ.60 เหตุเกิดที่ อบต.โฆษิต อ.ตากใบ จ.นราธิวาส
2. คดียิงคนหาของป่าบาดเจ็บ 2 ราย เมื่อวันที่ 3 ส.ค.60 ที่ ต.ริโก๋ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
3. คดียิงตำรวจเสียชีวิต เมื่อวันที่ 4 เม.ย.61 ที่ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส แต่ภายหลังมีการถอนหมายจับหมายนี้
วันที่ 10 ต.ค.65 ผลชันสูตรศพจากโรงพยาบาลสุไหงโก-ลกออกมา และระบุว่าชายปริศนาที่เสียชีวิตนั้น เกิดจากการจมน้ำ ผู้สื่อข่าวของสื่อท้องถิ่นที่ติดตามข่าวนี้ ระบุว่า รายงานการชันสูตรศพไม่ได้กล่าวถึงรอยช้ำรอบคอ และรอยแผลเป็นบนร่างกาย
ขณะเดียวกัน ก็มีข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงไทยว่า เมื่อมีข้อสงสัยว่าผู้เสียชีวิตคือนายาห์รี จึงมีการเก็บลายนิ้วมือของผู้ตาย แล้วนำไปเทียบกับลายนิ้วมือของนายยารีห์ที่เคยถูกบันทึกไว้จากหมายจับเก่าของเจ้าตัว ซึ่งเคยถูกสั่งเข้ากระบวนการซักถามในศูนย์ซักถาม ปรากฏว่าผลออกมา “ไม่ตรงกัน”
พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ตรวจสอบลายนิ้วมือของศพแล้ว ชายที่เสียชีวิตไม่ใช่นายยาห์รี ดือเลาะ ที่หายตัวไป เป็นคนละคนกัน เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะกลุ่มขบวนการต้องการบิดเบือนความจริง หากต้องการรู้ว่าผู้เสียชีวิตเป็นใครกันแน่ ต้องทำการขุดศพขึ้นมาเพื่อนำร่างไปตรวจสอบให้ชัด ซึ่งเรื่องนี้มอบหมายให้ทางตำรวจเป็นคนดำเนินการ อาจต้องใช้เวลาเนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ยืนยันว่าผู้ตายไม่ใช่นายยาห์รี แน่นอน
@@โหมไฟใต้-สะเทือนข้ามพรมแดน?
เรื่องราวเหมือนจะจบลงตรงที่รอการค้นหาความจริงว่าผู้เสียชีวิตเป็นใครกันแน่ แต่แล้วจู่ๆ ในวันที่ 18 ต.ค.65 กลุ่มบีอาร์เอ็นได้ออกแถลงการณ์ “ประณามอย่างรุนแรง” ต่อการอุ้มฆ่าสมาชิกขบวนการ ซึ่งก็คือนายยาห์รี โดยอ้างว่านายยาห์รีห์ ถูกอุ้มฆ่า และแถลงการณ์ยังมีเนื้อหาโจมตีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะพูดคุยฯของรัฐบาลไทย กำลังพูดคุยอยุ่กับตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกด้วย
หลังจากบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมากขึ้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยให้ข้อมูลว่า “ไม่มีทางที่เจ้าหน้าที่จะก่อเหตุอุ้มฆ่า เพราะไม่มีนโยบายแบบนี้ รวมถึงมีคำถามว่า เหตุเกิดเมื่อปลายเดือน ก.ย. ทำไมบีอาร์เอ็นเพิ่งจะออกแถลงการณ์ เป็นความต้องการที่จะต่อรองอะไรหรือไม่”
และยังย้ำว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะส่งกำลังไปปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน
อีกด้านหนึ่ง สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ข้อกล่าวหาของบีอาร์เอ็น โดยยืนยันว่า ยังคงใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ เป็นแนวทางสำคัญในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งตามแนวทางสันติวิธีภายใต้กรอบของนโยบายและแผนสำคัญระดับชาติ และเจตจำนงที่ได้ให้ไว้ใน “หลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข”
ส่วนกรณีการกล่าวอ้างถึงการหายตัวและเสียชีวิตของบุคคลที่ใช้นามว่า “ยาห์รี” นั้น สำนักงานฯ ขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นกรณีใดๆ