เหตุกราดยิงที่โคราชเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 สร้างความตกตะลึงแก่คนไทยทั้งประเทศอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการสังหารหมู่แบบปฏิบัติการคนเดียวครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย และประเทศไทยเองก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์กราดยิงในลักษณะนี้มาก่อน
การกราดยิงครั้งนั้นเป็นการยิงแบบไม่เลือกหน้า เพราะผู้เสียชีวิตจำนวนมากถึง 31 คน และผู้ได้รับบาดเจ็บ 58 คนนั้น มีทั้งเด็ก ผู้หญิง และผู้ชาย ซึ่งมีทั้งบุคคลทั่วไป รวมทั้งตำรวจและทหาร จากการกระทำของอดีตทหารคนหนึ่งซึ่งภายหลังถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมภายในห้างสรรพสินค้าใหญ่ในเมืองโคราชที่เขาเข้าไปก่อเหตุและหลบซ่อนตัวอยู่นั่นเอง
แทบไม่น่าเชื่อว่าเพียงระยะเวลาแค่สองปีเศษ เหตุการณ์แบบเดียวกันได้กลับมาสร้างความตกตะลึงให้กับคนไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ซึ่งเป็นเหตุการณ์กราดยิงในลักษณะคล้ายกันจากผู้ก่อเหตุซึ่งเป็นอดีตตำรวจเพียงคนเดียว แต่ในครั้งนี้ก่อเหตุในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ทำให้เด็กที่ไร้เดียงสาต้องสังเวยชีวิตไปมากถึง 24 คน และผู้ใหญ่อีก 13 คน รวมยอดผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 37 คนและบาดเจ็บอีก 10 คน
ทั้งๆ ที่การถอดบทเรียนจากความสูญเสียครั้งใหญ่ที่โคราชยังไม่ชัดเจนและตกผลึกพอที่จะรู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของการก่อเหตุครั้งนั้นเกิดจากแรงจูงใจประเภทใด นอกเหนือจากความคับแค้นผู้บังคับบัญชาที่เอาเปรียบเรื่องบ้านพักสวัสดิการ จนมาเกิดเหตุกราดยิงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หนองบัวลำภูอีกครั้ง สังคมไทยจึงเป็นเหมือนสังคมที่เรียกกันว่า “ไฟไหม้ฟาง” ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน นับ ตั้งแต่การกวดขันเรื่องวินัยจราจร จนไปถึงปัญหาระดับชาติที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของคนไทยในภาพรวม
คำพูดที่ว่าคนไทยลืมง่าย และทำอะไรแบบครึ่งๆ กลางๆ นั้น จึงอาจนำมาใช้ได้กับการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ใหญ่ๆ ได้เกือบทุกเหตุการณ์
@@ อินเซล-กราดยิงหมู่ : ทฤษฎีเดียวกัน
ครั้งที่เกิดเหตุกราดยิงหมู่ที่โคราช ผู้เขียนได้เขียนบทความชื่อ “มาโนสเฟียร์ : จากอาณาจักรออนไลน์สู่แดนสังหาร” ซึ่งกล่าวถึงพฤติกรรมการก่อเหตุของพวก “อินเซล” (incel : Involuntary Celibate) ที่ใช้ความรุนแรงในการสังหารหมู่เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ปี 2014 ที่ชุมชน อิสลา วิสต้า (Isla Vista) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ใกล้กับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขต ซานตา บาร์บารา
โดย เอลเลียต รอดเจอร์ หนุ่มน้อยวัยเพียง 22 ปี ใช้อาวุธปืนและมีดสังหารผู้บริสุทธิ์ไปถึง 6 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก โดยผู้ก่อเหตุได้ฆ่าตัวตายตามในรถของตัวเอง และเขาได้ประกาศตัวเองว่าเขาคือ “อินเซล” (หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มคนที่ไม่สามารถหาคู่เพื่อมีเพศสัมพันธ์ได้ แม้ว่าจะมีความต้องการก็ตาม และยังรวมไปถึงกลุ่มคนวัยหนุ่มผู้ซึ่งมีความโกรธแค้นจากการถูกปฏิเสธจากผู้หญิงด้วย)
นับตั้งแต่การสังหารที่ อิสลา วิสต้า ทำให้ เอลเลียต รอดเจอร์ กลายเป็นฮีโร่ของพวกอินเซลบางคน ดังนั้นการเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ของเขาจึงได้รับการยกย่องจากพวกอินเซลที่นิยมความรุนแรงอย่างท่วมท้น เมื่อถึงวันครบรอบวันสังหารคราวใด เหล่าบรรดาสาวก “อินเซล” ยังได้โพสต์รูปและข้อความแสดงความอาลัยและยกย่องต่อการกระทำอันน่าสยองขวัญของเขาโดยไม่ได้มีความสำนึกเลยว่าสิ่งที่ เอลเลียต รอดเจอร์ กระทำไปนั้น คือการฆ่าหมู่ที่สะเทือนใจคนอเมริกันมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่ง
แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือเกิด “พฤติกรรมเลียนแบบ” เอลเลียต รอดเจอร์ ขึ้นในแคนาดา เมื่อหนุ่มวัยเบญจเพส ชื่อ อเล็ก ไมนาสเซียน ขับรถตู้พุ่งชนผู้คนที่เดินอยู่บนถนนตายไปถึง 10 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 16 คน ในอีก 4 ปีต่อมา
หลังจากถูกจับ ไมนาสเซียน ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่เคยมีแฟนและยังไม่เคยเสียความบริสุทธิ์ เขาสารภาพว่าสิ่งที่เขาทำไม่มีการวางแผนมาก่อน ทันทีที่เขาเห็นผู้คนเดินบนถนน เขาตัดสินใจเร่งรถพุ่งเข้าหาฝูงชนในทันที และประโยคที่ทำให้ผู้ฟังต้องขนลุกก็คือ “เขารู้สึกเหมือนว่า ภารกิจของเขาได้สำเร็จแล้ว”
ก่อนก่อเหตุไม่ถึงชั่วโมง ไมนาสเซียนได้โพสต์ข้อความบนเพจของเขา บนเฟซบุ๊ก ซึ่งทางเฟซบุ๊กออกมายืนยันในภายหลังว่าเป็นเพจของเขาจริง ข้อความบนเฟซบุ๊กที่เขาโพสต์ ได้กล่าวสรรเสริญ เอลเลียต รอดเจอร์ และในทำนองเดียวกัน ปฏิบัติการของ ไมนาสเซียน ได้รับการยกย่องจากสังคมอินเซลไม่ต่างจากปฏิบัติการของ เอลเลียต รอดเจอร์ ที่ ไมนาสเซียส ถือว่าเป็นฮีโร่ในใจของเขา
ในบทความข้างต้นผู้เขียนได้ให้ความเห็นส่วนหนึ่งเอาไว้ว่า “การสูญเสียครั้งใหญ่ๆ ของชีวิตมนุษย์จากการสังหารหมู่ การสูญเสียจากภัยธรรมชาติ หรืออุบัติเหตุร้ายแรง มักจะให้บทเรียนราคาแพงต่อผู้อยู่ข้างหลังเสมอ แต่บทเรียนที่ได้รับมักจะถูกลืมในระยะเวลาอันสั้นดังคลื่นกระทบฝั่ง
โศกนาฏกรรมจากการสังหารหมู่ต่อเนื่องที่โคราช ควรเป็นเรื่องที่คนไทยต้องเรียนรู้และติดตามการวิเคราะห์ในทางลึกถึงมูลเหตุจูงใจต่อพฤติกรรมการสังหาร และคงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายหากไม่มีการศึกษาบทเรียนนี้อย่างจริงจังและนำมาเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ เพราะพฤติกรรมการก่อเหตุครั้งนี้มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศหลายเหตุการณ์ ซึ่งใช้เป็นกรณีศึกษา นำมาสู่ข้อสรุปและเปิดเผยให้สาธารณะได้รับทราบในภายหลัง”
และในบทความเดียวกันผู้เขียนได้แสดงความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่ออนาคตของคนไทยต่อเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตว่า “ปฏิบัติการของอินเซลพวกนิยมความรุนแรงที่ผ่านมามักเป็นปฏิบัติการแบบ ‘โลนวูล์ฟ’ ซึ่งเป็นปฏิบัติการของหมาป่าตัวเดียว คล้ายกับการสังหารที่โคราชเป็นอย่างยิ่ง จึงไม่ควรวางใจว่าการสังหารลักษณะนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในเมืองไทย เพราะพฤติกรรมเลียนแบบฮีโร่สามารถเกิดขึ้นผ่านโลกออนไลน์ได้ตลอดเวลา และมีความเป็นไปได้ว่ามือสังหารที่โคราชได้กลายเป็นพระเอกในใจของใครบางคนไปแล้ว”
(อ่านบทความ https://www.isranews.org/content-page/item/85643-article-85643.html )
@@ การระบาดของความรุนแรง
การปฏิบัติการกราดยิงและการสังหารหมู่ของพวกอินเซล ซึ่งถือเป็นความรุนแรงที่สุดขั้วและเป็นเหมือนการแพร่ระบาดของการกระทำของพวกอินเซล (Incel contagion) ที่เกิดคู่ขนานกับการแพร่ระบาดของการยิงกราดในโรงเรียน (School shooting contagion) อย่างแยกกันแทบไม่ออก และในภายหลังยิ่งมีการแพร่กระจายข่าวผ่านสื่อประเภทโซเชียลมีเดีย จนเหตุการณ์นั้น กลายเป็นพิมพ์เขียวของคนบางจำพวกที่ต้องการลอกเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงที่ง่ายดายยิ่งขึ้น
การมีชีวิตในโลกดิจิทัลทำให้คนบางคนอยู่ในสภาวะว่างเปล่าทางอารมณ์ (หมดหวัง อ้างว้าง โดดเดี่ยว) และอยู่ในโลกที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากผู้คนอย่างไม่รู้จบ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเชื่อเพลิงที่สามารถสร้างสภาวะการกราดยิงหมู่ในโรงเรียนและในสถานที่สาธารณะได้ไม่ยาก ถ้าสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมอเมริกันที่ปืนหาง่ายพอๆ กับน้ำอัดลม เป็นสังคมที่เกิดการยิงกราดอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นต้นแบบของการยิงกราดหมู่ที่มักเป็นข่าวอยู่เสมอ
ในขณะที่สังคมอเมริกันกำลังเผชิญกับเหตุกราดยิงในโรงเรียน แต่ในประเทศจีนซึ่งเข้มงวดเรื่องอาวุธกลับพบว่ามีการทำร้ายหมู่โดยการใช้มีดแทงเหยื่อในโรงเรียนอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าการระบาดของการทำร้ายหมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่อยู่ห่างกันคนละซีกโลก มีระบบการปกครอง ภาษา และวัฒนธรรมที่ต่างกัน และใช้อาวุธคนละประเภทกัน แต่สามารถก่อเหตุน่าสลดได้ไม่แพ้กัน
@@ อเมริกา : ต้นแบบกราดยิงในโรงเรียน
จากข้อมูลของการรวบรวมสถิติการทำร้ายด้วยความรุนแรงในสถานศึกษา พบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา มีเหตุการณ์ความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืนในโรงเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกามากถึง 1,316 ครั้ง (เข้าใจว่าเป็นข้อมูลที่รวมทั้งการกราดยิงหมู่และการใช้อาวุธปืนโดยทั่วไป) นับตั้งแต่นั้นมาการใช้อาวุธปืนในโรงเรียนได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้คนในสังคมอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพ่อ-แม่ ผู้ปกครองของเด็กในวัยเรียนต้องตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงจากการกราดยิงหมู่ตลอดเวลานับสิบๆ ปีที่ผ่านมา
การกราดยิงครั้งใหญ่ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญไปทั่วโลกและกลายเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มการกราดยิงในสหรัฐอเมริกา คงไม่มีครั้งไหนได้รับการกล่าวขวัญมากเท่าเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ (Columbine high school) ในปี 1999 เมื่อเด็กหนุ่มสองคน ชื่อ อิริค แฮริส( Eric Harris) และไดแลน คลีโบลด์ (Dylan Klebold) ก่อเหตุกราดยิงเด็กนักเรียนในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์และครูเสียชีวิตไปทั้งสิ้น 15 ค นและบาดเจ็บอีก 24 คน
โศกนาฏกรรมครั้งนั้นแม้ว่าจะถือเป็นการเริ่มต้นการกราดยิงในสังคมอเมริกันครั้งใหญ่ และกลายเป็นรูปแบบของการกราดยิงหมู่ที่รู้จักกันในชื่อว่า ปรากฏการณ์ โคลัมไบน์ (Columbine effect) แต่การกราดยิงที่โคลัมไบน์ไม่ใช่การกราดยิงครั้งแรกในสังคมอเมริกัน หากย้อนกลับไปในปี 1966 ก็เคยเกิดเหตุการณ์กราดยิงหมู่มาแล้วจากน้ำมือของนักศึกษามหาวิทยาลัยเท็กซัส ชื่อ ชาลส์ โจเซฟ วิทแมน(Charls Joseph Whitman) ที่สังหารแม่และภรรยาของตัวเองด้วยมีด และสังหารผู้คนในมหาวิทยาลัยโดยการกราดยิงจากหอคอยมหาวิทยาลัยไปมากถึง 18 คน และบาดเจ็บอีก 31 คน จนกลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อ การยิงที่หอคอยเท็กซัส (Texas tower shooting)
@@ พฤติกรรมเลียนแบบฮีโร่
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนปี 1966 การกราดยิงหมู่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันมาก่อน และหลังจากการกราดยิงที่เท็กซัสเป็นต้นมาการกราดยิงในโรงเรียนอเมริกันเกิดอีกครั้งเดียวในเวลาไล่เลี่ยกัน และหลังจากนั้นแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย จนกระทั่งเกิดเหตุกราดยิงที่โรงเรียนโคลัมไบน์ในอีก 33 ปีต่อมา และนับจากการกราดยิงที่โคลัมไบน์เป็นต้นมา การกราดยิงในโรงเรียนในสังคมอเมริกันเริ่มแพร่หลายและกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สถิติการกราดยิงสองครั้งในปี 1966 จนถึงการกราดยิงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นในทุก 8 วันในปี 2018 จึงเป็นการเพิ่มจำนวนการกราดยิงที่น่าตกใจอย่างยิ่ง
การกราดยิงหมู่หลายต่อหลายครั้งในสหรัฐอเมริกาเป็นการกราดยิงที่เกิดจากการเลียนแบบฆาตกร ซึ่งคาดว่าเกิดจากการรับรู้จากการเผยแพร่ข่าวจากสื่อ โดยการนำเสนอของนักข่าวที่น่าเชื่อถือในสังคมอเมริกันในขณะนั้น จนอาจทำให้เกิดแรงจูงใจสำคัญในการเลียนแบบ เพราะเพียงไม่กี่เดือนจากการกราดยิงหมู่ครั้งแรก ได้มีการกราดยิงในลักษณะเดียวกันที่วิทยาลัยการเสริมสวยโรส-มาร์ (Rose –Mar College of Beauty) รัฐอริโซน่า ด้วยน้ำมือของหนุ่มน้อยวัยเพียง 18 ปี ที่ชื่อ บ็อบ สมิธ (Bob Smith) จนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5 คน และบาดเจ็บอีก 2 คน โดยเขาได้สารภาพกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในภายหลังว่า เขาปฏิบัติการโดยการเลียนแบบฆาตกร วิทแมน จากเหตุการณ์การกราดยิงที่หอคอยเท็กซัสเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้าเหตุกราดยิงที่เท็กซัส สังคมอเมริกันไม่เคยเผชิญเหตุกราดยิงหมู่มาก่อน
การตั้งข้อสังเกตว่าการเผยแพร่เหตุความรุนแรงจากสื่อในยุคนั้น คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดของการเลียนแบบการกราดยิงในโรงเรียนอเมริกัน ซึ่งเป็นการเลียนแบบผ่านสื่อในยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียใดๆ เกิดขึ้น และหากข้อสังเกตจากการเลียนแบบที่เกิดจากสื่อขณะนั้นเป็นปัจจัยสำคัญของการเลียนแบบฆาตกร คงไม่ต้องสงสัยเลยว่าการเลียนแบบฆาตกรในยุคโซเชียลมีเดียจะรวดเร็ว รุนแรง และกว้างขวางมากมายเพียงใด
และที่น่ากังวลมากที่สุดคือแนวคิดและพฤติกรรมของฆาตกรที่ต้องการเรียกร้องความสนใจจากคนทั้งโลกผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งในรูปแบบของการไลฟ์สดก็ดี หรือการเผยแพร่ความน่าสะพรึงกลัวของเหตุการณ์ออกไปเพื่อให้โลกจดจำก็ดี เหตุการณ์เหล่านี้สามารถจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของโลกในยุคที่ผู้คนไม่ได้มองมนุษย์ด้วยความสูงส่งกว่าวัตถุ พวกเขาจึงสามารถจะทำสิ่งเลวร้ายที่เกินความคาดหมายของคนทั่วไปได้เสมอในการเรียกร้องความสนใจเพื่อความเด่นดังของตัวเอง โดยไม่ยินดียินร้ายต่อความ ผิดชอบ ชั่ว ดีใดๆ ทั้งสิ้น
@@ ลักษณะของผู้ก่อเหตุ
จากเหตุการณ์กราดยิงหมู่ที่เกิดขึ้นในโลกรวมทั้งในเมืองไทย ผู้ก่อเหตุเกือบทุกรายมักถึงจุดจบด้วยการปลิดชีพตัวเองหรือถูกวิสามัญฆาตกรรม จึงยากที่จะหยั่งรู้ได้ถึงแรงบันดาลใจที่ได้กระทำลงไป และหลายกรณีหาข้อสรุปไม่ได้ เช่น การกราดยิงที่โคลัมไบน์ หรือแม้แต่เหตุการณ์ที่โคราชและหนองบัวลำภู แต่จากการศึกษาพบว่าบุคคลเหล่านี้มักมีคุณลักษณะเฉพาะตัวที่มักแสดงออกใกล้เคียงกันเป็นต้นว่า
๏ ผู้ก่อเหตุมีปัญหาทางจิต(Mental illness) : อยู่ในภาวะซึมเศร้า (Depression) และอื่นๆ (เช่น การกราดยิงที่สถาบันโปลีเทคนิคแห่งเวอร์จิเนีย และการกราดยิงที่โรงเรียนโคลัมไบน์ )
๏ ผู้ก่อเหตุมีบุคลิกไม่กล้าเข้าสังคม (Socially awkward) และเก็บเนื้อเก็บตัว/โดดเดี่ยว (Isolated)
๏ ผู้ก่อเหตุถูกข่มเหงรังแก (Bully) (เช่น กรณีการกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ และการกราดยิงที่สถาบันโปลีเทคนิคแห่งเวอร์จิเนีย )
๏ ผู้ก่อเหตุนิยมชมชอบการเล่นเกม (Gamer) (เช่น กรณีการกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์)
๏ ผู้ก่อเหตุประกาศถึงแรงจูงใจจากฆาตกรที่เคยก่อเหตุกราดยิงก่อนหน้า หรือมีการคอมเมนต์หรือประกาศบนโซเชียลมีเดียเพื่อเรียกร้องความสนใจให้มากที่สุด (Gain maximum attention) ต่อการกระทำของตัวเอง หรือแม้แต่แจ้งไปยังสำนักข่าวถึงแผนปฏิบัติการของตนเอง เป็นต้น (เช่น กรณี อเล็ก ไมนาสเซียน ที่ขับรถพุ่งชนคนตายในแคนาดา และ โช ซึงฮุย จากการกราดยิงที่สถาบันโปลีเทคนิคแห่งเวอร์จิเนีย )
จากรายงานที่เผยแพร่ยังไม่พบรายงานว่าผู้ก่อเหตุในสหรัฐอเมริกามีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างชัดเจน และผู้ก่อเหตุกราดยิงในโรงเรียนส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาและมีอายุน้อย ในขณะที่การก่อเหตุกราดยิงครั้งใหญ่ในเมืองไทย ผู้ก่อเหตุทั้งสองรายเป็นบุคคลในเครื่องแบบ ทั้งตำรวจและทหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน และหนึ่งรายมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
@@ เกมสังหารหมู่ : นวัตกรรมวิบัติ
แทบไม่น่าเชื่อว่านอกจากมีการเลียนแบบความโหดเหี้ยมของฆาตกรซึ่งคนเหล่านั้นถือว่าเป็นฮีโร่ของตัวเองแล้ว นักเทคโนโลยีจำนวนหนึ่งยังฉวยโอกาสนำเอาเหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ๆ ของโลกไปพัฒนาเป็นเกมให้มนุษย์ได้ประหัตประหารกันบนหน้าจออย่างเมามัน เหมือนกับการปฏิบัติการของฆาตกร โดยไม่ได้สนใจต่อความเจ็บปวดของครอบครัวผู้สูญเสียที่อยู่ข้างหลัง หรือความอ่อนโยนในฐานะที่เป็นมนุษย์แม้แต่น้อย
เท่าที่ปรากฏตามข่าวพบว่าอย่างน้อยที่สุดมีการนำเรื่องราวของการกราดยิงและสังหารหมู่ในชีวิตจริงสองเหตุการณ์ไปพัฒนาเป็นเกมที่ชื่อว่า Columbine massacre RPG! โดยให้ผู้เล่นเกมสวมบทบาทเป็นแฮริสและคลีโบล์ สองฆาตกรตัวจริง และทำการไล่ล่าเพื่อสังหารเหยื่อในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์
ในขณะที่การกราดยิงที่สถาบันโปลีเทคนิคแห่งเวอจิเนียร์ (Virginia Polytechnic Institute) ซึ่งมีผู้เสียชีวิตถึง 33 คน และบาดเจ็บอีก 23 คน และถือเป็นการสังหารหมู่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์การกราดยิงในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกา ได้ถูกนำเรื่องราวไปพัฒนาเป็นเกมที่ชื่อว่า V-Tech Rampage
การพัฒนาเกมทั้งสองเกมได้รับการชื่นชมจากวงการเกมว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์และเป็นนวัตกรรมของเกม ในขณะที่อีกด้านหนึ่งผู้พัฒนาเกมถูกประณามและถูกกดดันอย่างหนักจากสื่อเพื่อให้ยุติการนำเกมออกให้บริการ
การที่ผู้พัฒนาเกมได้นำเหตุการณ์ซึ่งเป็นที่สุดของสองเหตุการณ์กราดยิงมาเป็นจุดขายในการพัฒนาเกม โดยไม่ได้รู้สึกเลยว่าตัวเองกำลังกระทำการอันไม่เหมาะสมทั้งปวงต่อความเป็นมนุษย์ และยังเป็นการสนับสนุนให้มีการยกย่องความเป็นฮีโร่ของฆาตกรอีกด้วย จึงทำให้เกมทั้งสองกลายเป็นนวัตกรรมวิบัติที่ไม่ควรถือเป็นเยี่ยงอย่าง แม้ว่าผู้พัฒนาจะใช้เหตุผลร้อยแปดในเรื่องความสร้างสรรค์และนวัตกรรมมาเป็นข้ออ้างก็ตาม
@@ ลางบอกเหตุ
ก่อนการกราดยิงและสังหารผู้คนด้วยอาวุธมีดที่หนองบัวลำภูจะเกิดขึ้นเพียงไม่ถึงสัปดาห์ มีรายงานข่าวเกี่ยวกับการกราดยิงในสหรัฐอเมริกาให้ได้ยินอยู่หนาหู
จากรายงานพบว่าระหว่างวันที่ 13-30 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา มีการข่มขู่ว่าจะมีการกราดยิงในโรงเรียนของรัฐต่างๆ จำนวนมากถึง 92 ครั้งใน 16 รัฐ แต่เมื่อตรวจสอบโดยละเอียดแล้วพบว่าเป็นการโทรศัพท์หลอกลวงเพื่อให้เจ้าหน้าที่เกิดความโกลาหลและไปยังสถานที่รับแจ้งว่าจะเกิดเหตุ แต่คว้าน้ำเหลว เพราะไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง
เหตุการณ์ใช้โทรศัพท์หลอกลวงไปที่เกิดเหตุประเภทนี้รู้จักกันในชื่อ Swatting โรงเรียนเป้าหมายล้วนเป็นโรงเรียนไฮสคูลของรัฐต่างๆ ทั้ง 16 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา การแจ้งเหตุกราดยิงลวงในครั้งนี้ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ไม่น้อย เพราะแต่ละพื้นที่ที่ได้รับแจ้งเหตุได้มีการระดมสรรพกำลังไปยังที่เกิดเหตุด้วยความเร่งรีบ และต้องทิ้งงานอื่นๆ ทั้งหมดเพื่อภารกิจฉุกเฉินเร่งด่วน
พฤติกรรม Swatting ในการหลอกลวงเจ้าหน้าที่ในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นมานานนับสิบปี แม้เหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่ได้สร้างความความอกสั่นขวัญแขวนต่อทั้งนักเรียน พ่อ-แม่และครูโดยถ้วนหน้าทุกครั้งที่มีการข่มขู่ และการกระทำเหล่านี้อาจเป็นลางบอกเหตุที่อาจเกิดเหตุการณ์กราดยิงจริงๆ ได้ตลอดเวลาเช่นกัน
จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญพบว่าพฤติกรรม Swatting ที่เกิดขึ้นในแต่ละรัฐ มีความเชื่อมโยงกัน และหลายสถานที่อาจเป็นคนเพียงคนเดียวที่สร้างความโกลาหลให้ผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งยังชี้ว่าข่าวการหลอกลวงเกี่ยวกับการกราดยิงในโรงเรียนอาจนำไปสู่การเลียนแบบได้ไม่มากก็น้อย สังคมอเมริกันจึงเป็นสังคมที่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวต่อการสังหารหมู่ซึ่งทวีความถี่มากขึ้นทุกที และหากมีเหตุการณ์จริงเกิดซ้อนกับ Swatting ยิ่งจะสร้างความสับสนต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มากขึ้นไปอีก
ผู้ก่อเหตุบางรายอาจทิ้งเบาะแสเอาไว้ก่อนเกิดเหตุ เป็นต้นว่า อเล็ก ไมนาสเซียน ซึ่งมีพฤติกรรมเลียนแบบ เอลเลียต รอดเจอร์ ได้โพสเฟซบุ๊กสรรเสริญ เอลเลียต รอดเจอร์ ก่อนก่อเหตุเพียงไม่ถึงชั่วโมง หรือในกรณีของการกราดยิงที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ ซึ่งมีการแสดงให้เห็นถึงเบาะแสการก่อเหตุนานนับปี ตั้งแต่ผู้ก่อเหตุเริ่มสร้างเว็บไซต์เกี่ยวกับเกมที่ตัวเองชื่นชอบ และโพสต์ข้อความแสดงให้เห็นถึงระดับการเล่นเกมการยิงของตัวเอง จนถึงการเขียนบล็อกพรรณนาถึงความโกรธเกลียดเกี่ยวกับชีวิต และวางแผนการซื้ออาวุธปืนเพื่อก่อเหตุ หรือกรณีของ โช ซึง ฮุย จากการกราดยิงที่สถาบันโปลีเทคนิคแห่งเวอจิเนียร์ ได้ถ่ายวิดีโอคำประกาศของตัวเอง และแจ้งไปยังสำนักข่าว NBC ก่อนที่เขาจะก่อเหตุ เป็นต้น
@@ โอกาสเกิดเหตุซ้ำในเมืองไทย
การก่อเหตุกราดยิงหมู่แบบปฏิบัติการเดี่ยว เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นในเมืองไทย แต่ก็เกิดขึ้นมาแล้วจากเหตุการณ์ที่โคราชแ ละเกิดซ้ำอีกที่หนองบัวลำภู ภายในระยะเวลาห่างกันเพียงสองปีเศษ ในอนาคตจึงไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกหรือไม่ภายในระยะเวลาอีกกี่ปี
หากย้อนดูประวัติศาสตร์การกราดยิงในสหรัฐอเมริกาซึ่งก่อนปี 1966 ไม่เคยเกิดเหตุกราดยิงหมู่มาก่อน แต่หลังจากเหตุการณ์ครั้งแรกจึงเริ่มเห็นการปฏิบัติการในลักษณะเดียวกันเกิดตามมาหลายต่อหลายครั้ง แม้ว่าบางช่วงเวลาจะว่างเว้นไปนานหลายปี แต่หลังจากเหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ที่โรงเรียนโคลัมไบน์เป็นต้นมา เหตุกราดยิงในโรงเรียนเริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นต้นแบบของการกราดยิงในโรงเรียนที่รู้จักกันโดยทั่วไป
การกราดยิงหมู่ที่คร่าชีวิตผู้คนจึงเป็นเหมือนปฏิกิริยาการแพร่ระบาดของความรุนแรงในสังคมที่อาจเกิดภายในประเทศหนึ่ง แต่สามารถแพร่ไปยังประเทศอื่นๆ ได้ด้วยการนำเสนอของสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านโซเชียลมีเดียที่สามารถเข้าถึงทุกซอกทุกมุมของโลกภายในเสี้ยววินาที จึงทำให้คนบางคนสามารถที่จะเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงได้อย่างง่ายดาย
การระบาดของความรุนแรงด้วยวิธีเลียนแบบเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้ต่างจากพฤติกรรมการเลียนแบบการฆ่าตัวตายซึ่งรู้จักกันในชื่อ ปรากฏการณ์เวอร์เธอร์ (Werther fever) ซึ่งเป็นการเลียนแบบการฆ่าตัวตายจากบุคคลต้นแบบซึ่งเป็นฮีโร่ในใจของตัวเองหรือแม้แต่ตัวละครสมมุติในหนังสือนิยาย
นักจิตวิทยาอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เมื่อใครก็ตามสามารถกระทำในสิ่งที่สุดขั้วครั้งแรกได้สำเร็จ การกระทำนั้นจะไปลดภูมิต้านทานของการกระทำความรุนแรงลง และเป็นเสมือนประตูที่เปิดให้คนต่อๆ ไปกระทำความรุนแรงแบบเดียวกันได้ง่ายขึ้น
สาระสำคัญของ ปรากฏการณ์เวอร์เธอร์ จึงสามารถนำไปใช้อธิบายถึงความเชื่อมโยงของ พฤติกรรมความรุนแรงของพวกอินเซล การกราดยิงหมู่ และการเลียนแบบการฆ่าตัวตายซึ่งเกิดกับคนหมู่มากได้
การกระทำที่สุดขั้วจากเหตุการณ์กราดยิง จึงสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์เวอร์เธอร์ได้เช่นกัน เพราะเมื่อการกราดยิงหมู่ครั้งแรกซึ่งเป็นการกระทำที่สุดขั้วสำเร็จ การกราดยิงครั้งต่อมาจึงเกิดขึ้นโดยไม่ยาก เพราะกำแพงความต้านทานต่อการกระทำสิ่งที่สุดขั้ว (Threshold) ถูกลดระดับลงจนถึงระดับที่ยอมให้เหตุการณ์ต่อๆ ไปสามารถเกิดขึ้นได้ในระดับความรุนแรงที่เท่ากัน น้อยกว่า หรือมากกว่า จนกลายเป็นปฏิบัติการที่ดูเหมือนปกติ
ดังเช่นการกราดยิงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำซากในสหรัฐอเมริกาเพราะกำแพงต่อต้านความรุนแรงในสังคมอเมริกันได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นแล้ว เราจึงต้องไม่ยอมรับในความเป็นปกติของความรุนแรงเหล่านี้ในสังคมไทยเป็นอันขาด มาตรการการเข้มงวดอาวุธปืนและยาเสพติดอาจเป็นมาตรการทางวัตถุที่สามารถจับต้องได้ แต่สภาพจิตใจและแรงจูงใจของผู้ก่อเหตุคือกุญแจสำคัญที่สังคมไทยต้องร่วมกันหาทางออก
คนไทยควรตระหนักว่า พฤติกรรมเลียนแบบการกราดยิงหมู่ทั่วไป และกราดยิงหมู่ในโรงเรียนได้ระบาดเข้ามาถึงเมืองไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากดูจากประวัติศาสตร์การกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ทั้งรูปแบบ ระดับความรุนแรง จำนวนผู้เสียชีวิต การใช้อาวุธ และองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ แล้ว สังคมไทยกำลังเข้าใกล้ต้นแบบความรุนแรงในสหรัฐอเมริกาเข้าไปทุกที เพราะเหตุการณ์รุนแรงที่โคราชและหนองบัวลำภูได้ทำให้ภูมิคุ้มกันที่ต้านความรุนแรงในสังคมไทยถูกลดระดับลงจนเป็นที่น่าหวาดหวั่นว่าเหตุการณ์ครั้งต่อๆ ไปน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นต่อเนื่อง ดังเช่นในสังคมอเมริกันได้ไม่มากก็น้อย
หากเงื่อนไขเกี่ยวกับ อาวุธ อารมณ์และสิ่งแวดล้อมของการก่อเหตุมาบรรจบกันอย่างลงตัวพอดี
———————————
อ้างอิง
1.Wikipedia :เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563
2.Wikipedia :เหตุกราดยิงที่จังหวัดหนองบัวลำภู พ.ศ. 2565
3.https://www.isranews.org/content-page/item/85643-article-85643.html
4.Digital Madness โดย Nicholas Kardaras
5.https://www.wired.com/story/swatting-schools-us-september-2022/
6.Wikipedia : Columbine_High_School_massacre
7.https://www.britannica.com/topic/school-shooting
8.http://www.acolumbinesite.com/ericpage.php
ภาพประกอบในเรื่อง
https://www.history.com/topics/1990s/columbine-high-school-shootings
https://www.chron.com/news/houston-texas/education/article/50-Charles-Whitman-debate-Austin-sniper-killed-UT-7940750.php#photo-4988276
https://www.mobygames.com/game/windows/super-columbine-massacre-rpg/screenshots/gameShotId,181508/