โศกนาฏกรรมที่หนองบัวลำภู มีประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอย่างกว้างขวาง 2 ประเด็น คือ
หนึ่ง ยาเสพติดระบาดหนัก และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโศกนาฏกรรม
ประเด็นนี้ แม้ผลชันสูตรศพจะชัดเจนแล้วว่า ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีสารเสพติดในร่างกาย แต่ปัญหายาเสพติดระบาดหนัก มีเหตุร้ายจากคนเสพยาแล้วคลุ้มคลั่งมากมาย จึงกลายเป็นเสียงเรียกร้องของสังคมให้รัฐบาลเร่งจัดการ
สอง อาวุธปืนเกลื่อนประเทศ หาง่าย ไม่มีใครตรวจสอบว่าผู้ที่พกปืน มีใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนจริงหรือไม่ โดยเฉพาะบรรดาคนมีสี และอดีตคนมีสีทั้งหลาย อีกทั้งหน่วยราชการบางหน่วย ทั้งตำรวจ ทหาร และมหาดไทย ก็มีโครงการ “ปืนสวัสดิการ” ทำให้ยิ่งเพิ่มปริมาณอาวุธปืนในมือ
ประเด็นนี้ ฝ่ายตำรวจพยายามออกมาให้ข่าวถึงมาตรการควบคุม โดยเฉพาะการมีและใช้อาวุธของตำรวจเอง ซึ่งกรณีนี้ผู้ก่อเหตุเป็นอดีตตำรวจ
ขณะที่เครือข่ายองค์กรเอกชนหลายองค์กร ได้ออกมาเรียกร้องให้ปลดปืนจากมือผู้ไม่เกี่ยวข้อง
@@ ตำรวจพกปืนได้ตลอดเวลา?
แต่ประเด็นที่ “ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบพบเพิ่มเติม คือ ปัญหาการตีความและเงื่อนแง่ของกฎหมาย ระเบียบ ตลอดจนข้อบังคับต่างๆ เองที่ไม่เป็นเอกภาพ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้งปืนและยาเสพติดกระจายเกลื่อน แม้แต่ในหมู่คนมีสีที่มีหน้าที่ต้องควบคุมปราบปรามเรื่องเหล่านี้นั่นเอง
หนึ่ง เรื่องอาวุธปืน - ยังคงมีการตีความกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยอ้างอิงคำพิพากษาของศาลในหลายๆ คดี ซึ่งมีข้อเท็จจริงต่างกัน ว่าตำรวจสามารถพกปืนได้ตลอดเวลาหรือไม่ แม้นอกเวลาราชการ หรือไม่ใช่เวลาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่
เรื่องนี้มีผู้รู้ทางกฎหมาย และฝ่ายเจ้าหน้าที่เองจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า ตำรวจสามารถพกปืนได้ตลอดเวลา แม้ไม่ได้อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เพราะการเป็นตำรวจ เป็นตลอด 24 ชั่วโมง หากประสบเหตุซึ่งหน้า ด้วยความเป็นตำรวจย่อมมีหน้าที่ต้องคลี่คลายสถานการณ์ ฉะนั้นตำรวจจึงพกปืนได้ตลอดเวลา แต่กฎหมายไม่ได้คุ้มครองให้นำปืนไปใช้ในทางที่ผิด
แนวคิดนี้ ซึ่งอ้างอิงมาจากนักกฎหมาย และคำพิพากษาในบางคดี บางข้อเท็จจริง ได้ทำให้เกิดความเชื่อว่า ตำรวจพกปืนได้ตลอด ทำให้ปืนอยู่ในมือผู้ประกอบอาชีพนี้ตลอดเวลา และสุ่มเสี่ยงที่ปืนจะถูกใช้ในทางที่ผิดได้ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
@@ เคยต้องคดียาเสพติด เข้าเป็นตำรวจได้?
สอง มีคดีฟ้องร้องในศาลปกครองหลายคดีที่หน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แพ้คดีบุคคลที่เคยต้องโทษเกี่ยวกับยาเสพติด ทำให้ต้องรับบุคคลผู้นั้นเข้าเป็นตำรวจ กลายเป็นความสุ่มเสี่ยงให้ตำรวจบางนายอาจข้องแวะกับยาเสพติดได้ง่าย
ยกตัวอย่าง คดีฟ้องร้องในเรื่องคุณสมบัติของผู้สอบเข้านักเรียนนายสิบของตำรวจภูธรภาค 5 โดยผู้สอบเคยต้องโทษคดีเสพยาบ้าในช่วงที่ยังเป็นเยาวชน จึงถูกตัดสิทธิ์การเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ แม้จะสอบผ่านก็ตาม ทำให้ผู้สอบนำเรื่องไปฟ้องศาลปกครอง
คดีนี้สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ตำรวจภูธรภาค 5 ยกเลิกการตัดสิทธิการเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจของผู้ฟ้อง โดยยกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2550 เรื่องการให้โอกาสผู้ติดเชื้อเอดส์ คนพิการ และผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ซึ่งพ้นสภาพการใช้ยาเสพติด เข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐได้
สรุปก็คือ ผู้สอบนักเรียนนายสิบ เป็นผู้ชนะคดี
ส่วนอีกคดี ผู้สอบเข้านักเรียนนายสิบตำรวจ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) เคยต้องโทษในคดีพืชกระท่อม ข้อหาผลิตและเสพ ในขณะอายุ 17 ปี ยังเป็นเยาวชนอยู่ ได้หยิบยกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2550 ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อให้ ศชต.เพิกถอนคำวินัจฉัยที่ระบุว่า ตนขาดคุณสมบัติเพราะเคยต้องโทษคดียาเสพติด และให้รับเข้าเป็นนักเรียนนายสิบหลังจากที่สอบผ่าน
แต่คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง หมายถึงให้ผู้สอบนักเรียนนายสิบแพ้คดี เพราะพฤติกรรมที่เคยต้องคดี เป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ฐานผลิตและเสพ ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมถึง
@@ โจทย์ข้อยากรื้อหลักเกณฑ์-กฎหมาย
ทั้งสองคดี มีข้อสังเกตจากผู้เกี่ยวข้องว่า คดีแรก เสพยาบ้า เป็นยาเสพติดที่มีอัตราโทษในการครอบครองสูงกว่าพืชกระท่อม แต่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเรื่องคุณสมบัติได้ เพราะกระทำผิดแค่ “เสพ” แต่คดีพืชกระท่อม ซึ่งกระบวนการเสพส่วนใหญ่ของผู้ใช้สารเสพติดประเภทนี้ เยาวชนจะใช้วิธีการต้ม จึงโดนข้อหาผลิตด้วย ทำให้ไม่สามารถเข้าเป็นตำรวจได้
เหล่านี้อาจเป็นการบ้านข้อยากสำหรับการล้อมคอกปัญหา ทั้งยาเสพติด และอาวุธปืน เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ รวมไปถึงมติคณะรัฐมนตรี และระเบียบปฏิบัติอีกหลายข้อ ประกอบกับนโยบายของภาครัฐในแต่ละห้วงเวลาก็แตกต่างกัน โดยเฉพาะการให้โอกาสกับ “ผู้เสพยาเสพติด” ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันมาตลอด
@@ เปิดตัวเลขคนไทยครอบครองปืน 6.1 ล้านกระบอก
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รับข้อมูลทางการจากหน่วยงานฝ่ายปกครองที่รับผิดชอบโดยตรงในการออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน
สรุปว่า จำนวนใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (ป.4) ทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 6,135,065 รายการ แยกเป็น
ปืนสั้น จำนวน 3,916,423 รายการ
ปืนยาว จำนวน 2,218,642 รายการ
จำนวนใบอนุญาต ป.4 จำนวนกว่า 6.1 ล้านรายการ หรือ 6.1 ล้านกระบอกนี้ นับเฉพาะอาวุธปืนถูกกฎหมาย ที่มีการจดทะเบียนและครอบครองอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น ไม่รวมอาวุธปืนเถื่อนทุกชนิด