สารพัดคำวิจารณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญต่อตั๋วให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปต่อบนเก้าอี้นายกฯ
หนึ่งในข้อวิพากษ์จากมุมมองทางรัฐศาสตร์ที่น่าสนใจยิ่ง มาจาก ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความมั่นคงชื่อดัง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์สุรชาติ ให้คำจำกัดความที่เป็น “คำสำคัญ” มาหลายข้อความ เช่น อมตะทางการเมือง และรัฐศรีธนญชัย เป็นต้น
ติดตามได้จากข้อเขียนหลังคำวินิจฉัย...
———————————
แล้วคำตัดสินวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีที่ถกเถียงกันอย่างหนัก ก็ปรากฏเป็นที่ชัดเจน คือ “อยู่ต่อ” …
คำตอบนี้ไม่ใช่สิ่งที่เกินความคาดหมาย เพราะทุกคนรู้ดีว่า “หวยการเมือง” มีเพียงสองตัวคือ “68” หรือ “70”
และสุดท้ายแล้ว หวยการเมืองรอบนี้ออกที่ “68” !
วันนี้ คงต้องยอมรับว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงความเป็น “อมตะทางการเมือง” ได้อย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะมีการเรียกร้องในเรื่องข้อกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลเอกประยุทธ์ ผลของคำชี้ขาดมีแต่เพียงอย่างเดียวคือ “ไม่ผิด” จนต้องยอมรับพลเอกประยุทธ์เป็น “เอกบุรุษ” ที่ฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้านไม่อาจทำอะไรได้เลย
ถ้าเราลองถอยเวลากลับสู่การเมืองในยุครัฐประหาร 2557 … ในช่วงเวลาดังกล่าว อำนาจรัฐอยู่ในมือของผู้นำรัฐประหารอย่าง “เบ็ดเสร็จ” อันเป็นคุณลักษณะปกติของ “ระบอบรัฐประหาร” ที่ผู้นำทหารจะสถาปนาตัวเองให้เป็น “ผู้มีอำนาจสูงสุด” ในทางการเมืองที่ใครจะคัดค้านและเห็นแย้งไม่ได้
หรือกล่าวได้ว่า ผู้นำรัฐประหารคือ “ผู้สถาปนาความถูกต้อง” ทางการเมืองแต่เพียงผู้เดียว และมีอำนาจในฐานะ “ผู้ควบคุมกฎกติกา” ทางการเมือง จึงทำให้ใครก็ไม่สามารถเอาชนะในทางกฎหมายได้
แต่เมื่อผู้นำทหารทนแรงกดดันทางการเมืองไม่ได้ ก็มักใช้กระบวนการ “สืบทอดอำนาจ” ด้วยรูปแบบและวิธีการที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้นำรัฐประหารทำจะเป็นแบบแผนเดียวกันหมดคือ การร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพรรคพวก เพื่อรองรับการเตรียมเปิดการเลือกตั้ง
ต่อมาคือการจัดตั้งพรรคการเมือง หรือที่เรียกกันว่า “พรรคทหาร” และตามมาด้วยการแสวงหาสมาชิก โดยใช้แรงจูงใจคู่ขนานกับการ “ใช้อำนาจบังคับ” ในรูปแบบต่างๆ
กระบวนการเช่นนี้ดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองแต่เพียงประการเดียวคือ เพื่อให้ผู้นำรัฐประหารได้อยู่ในอำนาจต่อไปหลังการเลือกตั้ง
สำหรับในยุคปัจจุบัน เพื่อให้การอยู่ต่อหลังการเลือกตั้งมี “เกราะป้องกันตัวเอง” จึงจำเป็นต้องส่งคนที่ผู้นำรัฐประหารได้คัดเลือกแล้วด้วยความไว้วางใจ เข้าไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
การกระทำเช่นนี้ย่อมทำให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารสามารถเปลี่ยนตัวเองเป็น “นักการเมือง” ได้อย่างปลอดภัย ผู้นำทหารจึงกลายเป็นนักการเมืองที่ยังมีอำนาจทุกอย่างไว้ในมือไม่ต่างจากยุครัฐประหาร โดยเฉพาะการควบคุมกองทัพ การควบคุมองค์กรอิสระ และการควบคุมกลไกการตรวจสอบในทุกเรื่อง
ฉะนั้น ผู้นำทหารที่เปลี่ยนตัวเองจาก “นายกรัฐมนตรีทหารในเครื่องแบบ” ไปสู่ “นายกรัฐมนตรีทหารนอกเครื่องแบบ” จึงแตกต่างจากนักการเมืองพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยทั่วไป เพราะ “นายกรัฐมนตรีทหารนอกเครื่องแบบ” เช่นนี้ ไม่เคยเป็นผู้กระทำผิดในทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น
ผลจากเงื่อนไขทางการเมืองเช่นนี้ทำให้เขาเป็น “ผู้ถูกต้องตลอดกาล” ในระบบตรวจสอบและธรรมาภิบาลของรัฐไทย ดังจะเห็นได้ว่า จวบจนปัจจุบันนั้น พลเอกประยุทธ์เป็น “อมตะทางการเมือง” ที่ไม่มีใครสามารถเอาผิดด้วยข้อเรียกร้องใดๆ ได้
ตัวอย่างปัจจุบันที่ชัดเจนคือ ปัญหาการตีความการเริ่มต้นนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ได้กลายเป็นข้อถกเถียงทางกฎหมายอย่าง “พิสดารพันลึก” แต่หากมองทางรัฐศาสตร์แล้ว เวลาของการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าวไม่มีความซับซ้อน โดยควรจะเริ่มนับจากประกาศตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นจุดชี้ขาด
แต่เพื่อให้การตีความทางกฎหมายเอื้อสำหรับผู้นำทหารที่จะไม่ถูกสะดุดเวลาจากการนับ และให้ผู้นำทหารได้อยู่ในอำนาจนานที่สุดแล้ว กฎหมายในบริบทเช่นนี้จึงถูกใช้ตีความเพื่อประโยชน์สำหรับผู้มีอำนาจ ไม่ใช่เพื่อการสร้าง “นิติรัฐ” แต่ประการใด องค์กรอิสระจึงเป็นเพียง “ตรายาง” รองรับความต้องการของผู้นำ
เราอาจจะต้องยอมรับความจริงว่า รัฐไทยปัจจุบันได้กลายเป็น “รัฐศรีธนญชัย” ไปเสียแล้ว คือ เป็นรัฐที่ใช้การตีความทางกฎหมายเอื้อให้กับกลุ่มผู้มีอำนาจ ซึ่งไม่ว่าพวกเขาจะกระทำการเช่นไร ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องทางกฎหมายเสมอ อีกทั้ง ยังสอดรับกับความเป็น “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” ที่กติกาในรัฐถูกสร้างขึ้นเพื่อไม่ให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเดินหน้าไปได้จริง
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะคาดหวังอะไรกับการอำนวยความยุติธรรมทางกฎหมายของไทย นอกจากสังคมต้องทนอยู่กับการใช้การใช้กฎหมายที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้นำทหารของระบอบแบบปัจจุบัน
ดังจะเห็นได้ว่า แม้รูปคดีและการกระทำความผิดจะเหมือนกัน แต่คำชี้ขาดจะแตกต่างกัน และฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจะต้องเป็น “ผู้ผิด” เสมอ … โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า จะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ จนเกิดคำถามในใจคนมากมายว่า กระบวนการทางกฎหมายที่ใช้ในทางการเมืองมีความ “เที่ยงตรงและเที่ยงธรรม” เพียงใด
ประเทศที่ถูกตั้งคำถามเช่นนี้ เป็นภาพสะท้อนความเป็นรัฐที่ชัดเจนว่า ไทยได้กลายเป็น “รัฐศรีธนญชัย” ที่การใช้กฎหมายในบริบททางการเมืองนั้น อยู่ภายใต้อำนาจตัดสินขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนเหล่านี้ล้วนถูกแต่งตั้งมาจากคณะรัฐประหารทั้งสิ้น
ดังนั้น ในทางทฤษฎีว่า การเมืองไทยในมุมมองนี้คือ การปกครองด้วยระบอบ “ตุลาการธิปไตย” (Juristocracy) ที่คำตัดสินของตุลาการใช้เพื่อกำหนดทิศทางการเมือง
สุดท้ายนี้ เราอาจกล่าวได้ง่ายๆ ว่า พลเอกประยุทธ์จะถูกบันทึกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในอำนาจของความเป็นรัฐบาลได้ยาวนานที่สุด แซงหน้า จอมพล ป. และพลเอกเปรม ไปเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น สิ่งที่บทความนี้จะต้องขอบันทึกเพิ่มเติมคือ “อภินิหารทางกฎหมาย” ที่มี “ความมหัศจรรย์พันลึกทางการเมือง” อย่างคาดไม่ถึงนั้น ทำให้พลเอกประยุทธ์ได้เป็นดัง “นายกรัฐมนตรีตลอดกาล” ในการเมืองไทย
แต่ความอยู่รอดนี้ต้องแลกด้วยภาพลักษณ์ทางการเมืองของ “ระบบยุติธรรมไทย”
อย่างไรก็ตาม ผลทางการเมืองที่เกิดตามมาจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้ … คำชี้ขาดเช่นนี้จะทำให้เกิด “ตุลาอาถรรพ์” ที่เป็นวิกฤตการเมืองหรือไม่ และถ้าเกิดวิกฤตจริงแล้ว ผู้นำประเทศไหนจะอยากมานั่งรับประทาน “อาหารสุดวิเศษ” จาก “เมนู” สุดหรูของนายกรัฐมนตรีที่อยู่รอดได้ด้วยอภินิหารทางกฎหมาย
ในอีกด้าน แม้ “ม็อบจุดไม่ติด” แต่ม็อบในใจคนอาจจะ “จุดติดแล้ว” รอเพียงสถานการณ์ข้างหน้าที่อาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น …
แม้จะเชื่อว่ามีปืน แต่ก็อย่าประมาทว่าปืนคุม “อารมณ์การเมือง” ของคนไทยได้!