เปิดภารกิจ “บิ๊กป้อม” ลุยนราธิวาส 19 ก.ย. ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ตรวจด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก นั่งหัวโต๊ะประชุม กพต.เคาะผลักดัน 9 หัวเมืองชายแดนเป็นพื้นที่มั่นคงปลอดภัย วางระบบกล้องวงจรปิดใหม่ ใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า พร้อมใช้โดรนตรวจการณ์ ทำแผนที่สามมิติ ขณะที่ ศอ.บต.เสนอวิธีคัดสรรข้าราชการลงใต้ ต้องเป็น “คนดี คนเก่ง”
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (ผอ.กอนช.) เตรียมลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ในวันจันทร์ที่ 19 ก.ย.65 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ และประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พร้อมตรวจติดตามการขับเคลื่อนมติ กพต.ในพื้นที่
โดยจุดแรกไปที่ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมือง จ.นราธิวาส เยี่ยมชมนิทรรศการที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
1.การขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพด่านศุลกากรไทย - มาเลเซีย
2.นิทรรศการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
3.นิทรรศการการส่งเสริมอัตลักษณ์ทางภาษา ประเพณี และวัฒนธรรม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
4.นิทรรศการเสริมสร้างศักยภาพมหาวิทยาลัยเพื่อรองรับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
5.กิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ตามกรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล
ทั้งนี้ ระหว่างเยี่ยมชมนิทรรศการน้ำ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บรรยายภาพรวมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 บรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำใน จ.นราธิวาส
จากนั้น พล.อ.ประวิตร เปิดปฏิบัติการขับเคลื่อนกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ พร้อมพูดคุยกับกลุ่มเกษตรกร (ผ่านระบบ Zoom) แล้วต่อด้วยการประชุม กพต. ครั้งที่ 4/2565 ที่ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ชั้น 2 อาคารสำนักงานอธิการบดี และพบปะหารือกับผู้บริหารภาคธุรกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมแถลงข่าว
ในช่วงบ่าย พล.อ.ประวิตร ไปตรวจด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก รับฟังบรรยายสรุปและชมจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก (ไทย-มาเลเซีย) แห่งที่ 2 ที่เชื่อมระหว่าง อ.สุไหงโก-ลก กับ เมืองรันตูปันยัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย รวมถึงรับฟังความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำในพื้นที่ชุมซน จ.นราธิวาส (คันกั้นน้ำ) ที่สะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ปิดท้ายด้วยการพบปะประชาชน มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
@@ ศอ.บต.ชงวิธีคัดสรรข้าราชการลงใต้ “คนดี คนเก่ง”
โอกาสนี้ ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จะเสนอให้พิจารณาหาวิธีการและแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการคัดสรรข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกหน่วยงานของพลเรือนให้เป็นไปตามหลักรัฐประศาสโนบายของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ที่ต้องเป็น “คนดี คนเก่ง”
แหล่งข่าวผู้มีอำนาจใน ศอ.บต. กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาได้ยืนยันมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ไปยังทุกส่วนราชการ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาส่งข้าราชการและพนักงานของรัฐเข้ามาปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามที่ปรากฏเป็นข่าวในหลายโอกาส
ส่วนในระยะยาวได้มอบหมายให้ ศอ.บต., คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาวางระเบียบหรือประกาศที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เป็นหลักการการปฏิบัติที่ชัดเจน รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของทุกหน่วยงาน
“ต่อไปข้าราชการและพนักงานของรัฐต่างพื้นที่จะได้มีการฝึกอบรมและพัฒนาที่สำคัญ และจำเป็นต่อการปฏิบัติราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การเรียนรู้ภาษามลายู การเรียนรู้อัตลักษณ์ หลักการทางศาสนาที่สำคัญ รวมทั้งความรู้ด้านลักษณะภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ที่จำเป็นต่อการนำไปกำหนดแนวทางการพัฒนาของส่วนราชการ” แหล่งข่าวผู้มีอำนาจใน ศอ.บต.ระบุ
@@ จ่อยกระดับ 9 หัวเมืองชายแดนใต้เป็นพื้นที่มั่นคงปลอดภัย
ขณะเดียวกัน ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และจังหวัดสตูล สงขลา ยะลา นราธิวาส และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมผลักดันโครงการส่งเสริมและพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเชื่อมโยงข้อมูล สร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 9 หัวเมืองสำคัญ เชื่อมโยงการบริหารจัดการด่านชายแดนไปยังพื้นที่อื่นๆ ประกอบด้วย
จ.ยะลา เน้นพื้นที่ อ.เมืองยะลา และ อ.เบตง
จ.นราธิวาส เน้นพื้นที่ อ.เมืองนราธิวาส และ อ.สุไหงโก-ลก
จ.สตูล เน้นพื้นที่ อ.เมืองสตูล และ อ.ควนโดน
จ.สงขลา เน้นพื้นที่ อ.เมืองสงขลา อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา
โดยจะมีการหารืออย่างต่อเนื่องในคราวประชุม กพต.สัญจร ในพื้นที่ จ.นราธิวาส 19 ก.ย.นี้
ขณะเดียวกัน กพต.ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบกรอบข้อเสนอโครงการดังกล่าวแล้ว และมอบหมายให้ ศอ.บต. เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานการปฏิบัติงานกับ 4 จังหวัด อีกทั้ง กพต.เห็นชอบให้แต่งตั้งอนุกรรมการ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานยกระดับ 9 หัวเมือง เชื่อมโยงด่านพรมแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีความมั่นคงและปลอดภัยด้วย
สำหรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาการการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นโครงการที่มีการดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานส่วนท้องถิ่น โดยเป็นหน่วยสำรวจความต้องการในการดำเนินงานยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พร้อมมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีระบบโทรคมนาคม การบริหารจัดการและเชื่อมโยงข้อมูล พร้อมเสริมสร้างเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ 9 หัวเมืองสำคัญ
โดยจะมีการสำรวจและติดตั้งระบบเสานิรภัย ประกอบด้วย ระบบกล้องวงจรปิดสำหรับตรวจสอบความปลอดภัยให้ประชาชน, ระบบแจ้งเหตุ และขอความช่วยเหลือฉุกเฉินไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ระบบตรวจจับความเร็วและแผ่นป้ายทะเบียน เพื่อตรวจสอบรถที่เข้าออกในพื้นที่และตรวจจับความเร็วเพื่อปลอดภัย, ระบบกล้องและระบบตรวจจับพฤติกรรมน่าสงสัย พร้อมตรวจจับใบหน้า, เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้งานรักษาความปลอดภัยและบรรเทาสาธารณภัย, พัฒนาระบบซอฟต์แวร์เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแจ้งเตือนประชาชน และให้ประชาชนแจ้งเหตุผิดปกติ, จัดระบบเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ จัดทำแผนที่ 3 มิติจากอากาศยานไร้คนขับที่มีความละเอียดสูง เพื่อเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง โดยดำเนินการจัดทำแยกเป็นโครงการในแต่ละจังหวัด เพื่อสอดรับกับความต้องการของประชาชนและหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในพื้นที่