กมธ.ที่ดินฯ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่นราธิวาส รับฟังปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ โดยเฉพาะอุทยาน “บูโด-สุไหงปาดี” ภาคประชาสังคมฝากรัฐเร่งแก้ไข ขณะที่ชาวบ้านหวังได้กรรมสิทธิ์ที่ดินคืน เหตุทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ส่วน “ส.ว.พบประชาชน” ลงใต้ติดตามความคืบหน้าโครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ให้การต้อนรับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.และเลขาธิการพรรคประชาชาติ, นางผ่องศรี แซ่จึง นายสมชาย ฝั่งชลจิตร รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อรับฟังปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากพระราชบัญญัติแห่งชาติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ 2562 กรณีอุทยานแห่งชาติเทือกเขาบูโด-สุไหงปาดี ตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจนประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่ดินทำกินเข้าร่วมประชุมอย่างคับคั่ง
การลงพื้นที่ของ กมธ.ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังปัญหาของชาวชุมชน เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อยู่อาศัย และยังได้ร่วมประชุมร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด เพื่อหารือแนวทางการช่วยเหลือและทางออกในการแก้ไขปัญหาของชุมชนและประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาที่ดินและการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินบริเวณพื้นที่เขาบูโด-สุไหงปาดี เพื่อรวบรวมข้อมูล นำไปประมวลแก้ไขปัญหา รวมทั้งนำไปพิจารณาปรับปรุงกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน
@@ ปัญหาอยู่ที่กฎหมาย
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ปัญหาที่ดิน ระหว่างที่ดินของรัฐ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ หรือเขตสงวนรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กับที่ดินของประชาชน ปรากฏว่ามีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมากจากการประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งไปทับที่ของประชาชนที่อยู่มาก่อน ซึ่งรัฐบาลเองก็พยายามแก้ปัญหา แต่เนื่องจากเป็นปัญหาตามกฎหมายใหม่ การแก้ไขจึงติดขัด
ในส่วนของพรรคประชาชาติได้ดำเนินการในส่วนของ จ.นราธิวาส ที่เป็นปัญหาใหญ่คือที่บูโด - สุไหงปาดี และเขตสงวนรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
“เราอยากให้กลับไปอยู่ในจุดที่ให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยควรจะไปแก้กฎหมายในลักษณะที่ดินที่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวน ถ้ามีการพิสูจน์ว่าประชาชนอยู่มาก่อนประกาศแนวเขต ให้ประชาชนมีสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน และต้องให้สิทธิกับประชาชน”
“แต่เนื่องจากกฎหมายที่ถูกแก้ไขใหม่เมื่อปี 2562 กฎหมายป่าทุกชนิดจะเขียนในลักษณะว่า ประชาชนเป็นฝ่ายผิดไปก่อนแล้ว ไม่มีช่องทางในการพิสูจน์ ซึ่งปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่ใหญ่และซับซ้อนมาก โดยเฉพาะพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาจำนวนมาก เราก็อยากจะขับเคลื่อนให้เป็นสิทธิของประชาชน ให้ชุมชนนำมาใช้ประโยชน์ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นสิทธิของหน่วยงานราชการเกือบหมด และเป็นปัญหาใหญ่ ถ้าปล่อยปละละเลยนับวันจะแก้ปัญหาไม่ได้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
@@ รอมา 15 ปี ไม่มีอะไรคืบหน้า
นายมะรอมือลี เฮงมะนีลอ ประธานเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด เขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี กล่าวว่า ปัญหาที่ดินยังเป็นปัญหาที่ชาวบ้านยังรอการแก้ไขอยู่ เพราะได้มีการสำรวจมาหลายครั้งแล้ว เป็นเวลานานกว่า 15 ปีแล้ว ชาวบ้านไม่ได้โฉนดในเขตอุทยานฯ แต่กลับได้โฉนดเฉพาะในส่วนของชาวบ้านครอบครองอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่อุทยานฯมาประกาศแนวเขตภายหลังทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน
“เราอยากเรียกร้องตรงนี้ เพราะชาวบ้านทุกคนมีอาชีพอยู่บนภูเขา มีสวนยางพารา สวนลองกอง และสวนทุเรียน ล้วนแต่อยู่บนภูเขาหมดเลย แต่อยู่ๆ รัฐบาลก็ไม่ให้เข้า ก็เลยรอหนังสือสัญญาว่า จะสามารถเข้าไปทำกินได้เมื่อไหร่ ซึ่งกว่า 15 ปีแล้ว ที่ยังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ จึงอยากฝากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ศอ.บต. ตลอดจนรัฐบาลแก้ปัญหานี้ด้วย” ประธานเครือข่ายแก้ปัญหาที่ดินบูโด กล่าว
พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ไม่ใช่แค่ จ.นราธิวาส แต่ยังมีจังหวัดอื่นอีก ประกอบไปด้วย 9 อำเภอของ จ.นราธิวาส, 7 อำเภอ จ.ยะลา และ 1 อำเภอ จ.ปัตตานี ในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานฯเป็นร้อยปี ชาวบ้านเองก็รอความหวังว่ารัฐบาลจะให้อุทยานฯคืนกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เพราะชาวบ้านอยู่ก่อน นั่นก็อยู่ที่รัฐบาลจะให้หรือไม่ให้แค่นั้นเอง แต่ยังมีปัญหาเขตอุทยานทับที่ของชาวบ้านอีก ที่อยากฝากให้แก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพราะคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่จะคืนให้ชาวบ้านเสียที อันไหนที่ชาวบ้านอยู่ก่อนก็คืนให้กับชาวบ้านไป แต่อันไหนที่ชาวบ้านอยู่ทีหลัง ก็เอาคืนไป โดย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ เพิ่งออกแค่ปี 2562 ไม่กี่ปีนี้เอง เราเองอยู่ก่อนตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ปัญหาเหล่านี้ถ้าไม่เร่งแก้ จะสร้างความแตกแยกระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้าน”
@@ “ส.ว.” ลงใต้ติดตามคืบหน้าสะพานโก-ลก
อีกด้านหนึ่ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา พร้อมคณะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เดินทางลงพื้นที่ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ตามโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้เดินทางไปยังสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย ที่เชื่อมต่อด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก กันด่านรันเตาปันยัง เพื่อติดตามความคืบหน้าแผนในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2 สุไหงโก-ลก-รันเตาปัน ซึ่งเป็น Flagship Project ของคณะทำงานด้านการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งตามแผนงาน IMT-GT (โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดฯ มาเลเซีย ไทย) โดยฝ่ายมาเลเซียรับเป็นผู้ออกแบบสะพาน ซึ่งฝ่ายไทยไม่ขัดข้องต่อการออกแบบสถาปัตยกรรม ระยะห่างของสะพานเดิมกับสะพานใหม่และความยาวของสะพาน อีกทั้งได้มีการแบ่งเขตให้อยู่บริเวณกึ่งกลางสะพาน โดยไม่เกี่ยวข้องกับเขตแดนระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณาขอบเขตการสำรวจและเก็บข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์ในฝั่งไทย โดยปัจจุบันกรมทางหลวงทำการสำรวจจนแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการนำเสนอฝ่ายมาเลเซียผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งกรมทางหลวงจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-มาเลเซียแห่งที่ 2 คือ การเพิ่มศักยภาพในการนำเข้าและส่งออกสินค้า และเพิ่มสภาพคล่องในการเดินทางให้กับประชาชนรองรับการเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่นราธิวาส ได้พบกับหัวหน้าส่วนราชการ ได้รับทราบแนวทางการพัฒนาจังหวัดนราธิวาสที่มีแผนงานชัดเจนในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน การลงพื้นที่ได้สัมผัสวัฒนธรรมการ “แหลงเจ๊ะเห” (ภาษาเจ๊ะเห) การติดตามงานของด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก ที่มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย โดยหลายหน่วยงานได้มีการเสนอปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ซึ่งคณะทำงานของ ส.ว.ได้เก็บรายละเอียดที่มีการเรียกร้องเข้ามาไว้ทั้งหมดแล้ว โดยยืนยันว่า แม้จะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ก็สามารถนำทุกเรื่องไปติดต่อประสานงานและเร่งรัดติดตามให้เป็นไปตามตามแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน