แม้รัฐบาลยังคงสาละวนกับคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มีรักษาการนายกฯคนใหม่นามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั้น
ปรากฏว่าพรรคการเมืองแทบทุกพรรคได้ก้าวเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” กันแล้ว เพราะไม่ว่าการเมืองในรัฐบาลจะใช้ “นายกฯตัวจริง” หรือ “นายกฯสำรอง” และไม่ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯมาครบ 8 ปี ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 แล้วหรือยัง
แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ รัฐบาลและสภาชุดนี้จะครบวาระในวันที่ 24 มี.ค.66 หรือในอีก 7 เดือนข้างหน้า และหลังจากนั้นก็จะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น
ฉะนั้น ณ เวลานี้จึงได้เห็นการจัดกิจกรรมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. และวางตัวบุคคลเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องบอกว่าแข่งเดือด
การเลือกตั้งปี 62 พื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคง 33 อำเภอ มี ส.ส.ได้ 11 คน พรรคประชาชาติกวาดมาได้เกินครึ่งถึง 6 ที่นั่ง ตามด้วยพลังประชารัฐ 3 ที่นั่ง และประชาธิปัตย์ กับภูมิใจไทยพรรคละ 1 ที่นั่ง
ส่วนการเลือกตั้งครั้งหน้า พื้นที่นี้จะมี ส.ส.เพิ่มขึ้นเป็น 12 คน จาก 12 เขตเลือกตั้ง ถือเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่ทุกพรรคการเมืองหมายตา
โดยเฉพาะปัตตานี พื้นที่อัตลักษณ์และจิตวิญญาณของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดพรรคการเมืองต่างๆ วางตัวผู้สมัครและเปิดตัวหาเสียงกันบ้างแล้ว
เริ่มที่ เขต 1 ปัตตานี ประกอบด้วย อ.เมือง และ อ.ยะหริ่ง (เฉพาะ ต.บางปู ต.แหลมโพธิ์ ต.ตะโล๊ะกาโปร์ ต.ยามู ต.ราตาปันยัง ต.ตาแกะ ต.ปิยามุมัง และ ต.ปุลากง)
สำหรับเขตนี้ เดิมเป็นของ นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ประชาธิปัตย์ แต่หลังจากที่ นายอันวาร์แตกหักกับพรรคประชาธิปัตย์ ทางพรรคจึงตัดสินใจส่ง นายสนิท นาแว อดีตผู้สมัครของพรรคชาติไทยพัฒนา ลงสมัครแทนนายอันวาร์ ส่วนนายอันวาร์ ทีแรกคาดว่าจะย้ายไปสังกัดพรรคประชาชาติ เพราะเริ่มออกงานทำกิจกรรมกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ
แต่ล่าสุดเริ่มมีข่าวอีกกระแสหนึ่งว่า อาจจะไปกันไม่ได้กับพรรคประชาชาติ เนื่องจากเงื่อนไขค่อนข้างสูง ทำให้นายอันวาร์ไปมีข่าวกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเจ้าตัวเคยตำหนิวิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ที่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐมาโดยตลอด ต้องรอดูว่าสุดท้ายนายอันวาร์จะไปจบกับพรรคไหน
ด้านพรรคภูมิใจไทย ได้เตรียมส่ง พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ลูกสาวของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส. และ ส.ว.ปัตตานี รวมทั้งอดีต รมช.มหาดไทย ลงชิงเก้าอี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมา พญ.เพชรดาว และพรรคภูมิใจไทย จะถูกโจมตีอย่างหนักจากกระแสค้าน “กัญชาเสรี” ซึ่งขัดกับหลักอิสลามก็ตาม แต่ทางพรรคยังมั่นใจว่าจะเอาชนะในเขตนี้ได้
ส่วนพรรคเพื่อไทย เตรียมส่ง นายอภิศักดิ์ หะยีมะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ขณะที่พรรคก้าวไกล หันไปใช้บริการ นายอารีฟิน โสะ เลขาธิการกลุ่ม The Patani ภูมิภาค Patani Lama
พื้นที่ เขต 2 จ.ปัตตานี ประกอบด้วย อ.หนองจิก อ.แม่ลาน และ อ.โคกโพธิ์
ในเขตนี้ ส.ส.เจ้าของพื้นที่เดิมคือ นายอับดุลบาซิม อาบู จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งทางพรรคก็ตัดสินใจส่งลงสมัครรักษาที่นั่งในเขตเดิม
ส่วนพรรคประชาชาติ เตรียมส่ง นายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 พรรคประชาชาติ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เมื่อปี 62 คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ตามหลังนายอับดุลบาซิม ไม่ถึง 500 คะแนน
ส่วนพรรครวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “พรรครวมพลัง” ดร.ศิรวัชโชติ รัตนมาลา อดีตผู้สมัครของพรรค ซึ่งการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมามีคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 3 ห่างจากอันดับ 1 และ 2 เพียง 2,000 กว่าคะแนน ทั้งยังเป็นประธาน อรบ.จังหวัดปัตตานี (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) และเป็นสามีของ นางดวงรัศมี รัตนมาลา รองนายกเทศบาลตำบลบ่อทอง อ.หนองจิก ก็ตัดสินใจสู้ศึกต่อ หวังเบียดแทรกขึ้นมานั่งเก้าอี้ ส.ส.ให้จงได้
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมส่ง นายมนตรี ดอเลาะ นายกเทศมนตรีตำบลมะกรูด อ.โคกโพธิ์ แทน นายอิสมาแอล เบญอิบรอฮีม อดีต ส.ส.3 สมัยของพรรค ที่การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาไม่ได้รับการเลือกตั้ง
พรรคเพื่อไทยเตรียมส่ง ด.ต.อับดุลเล๊าะห์ สะนิดอเลาะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคพลังประชารัฐ คาดว่าจะส่ง นายคอซีย์ มามุ อดีตนายก อบต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์
พื้นที่ เขต 3 ปัตตานี ประกอบด้วย อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น อ.กะพ้อ และ อ.ยะหริ่ง (ยกเว้น ต.บางปู ต.แหลมโพธิ์ ต.ตะโละกาโปร์ ต.ยามู ต.ราตาปันยัง ต.ตาแกะ ต.ปิยามุมัง ต.ตะโละ ต.ตาลีอายร์ และ ต.ปุลากง)
พื้นที่นี้เดิม นายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.พรรคประชาติ ครองแชมป์อยู่ แต่ภายหลังกลายเป็น “งูเห่า” ย้ายซบพรรคพลังประชารัฐ และโหวตสวนมติพรรคมาโดยตลอด คาดว่าในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า จะหันไปสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ แม้จะไม่ได้ลงสมัครเองเนื่องจากปัญหาเรื่องสุขภาพ แต่ก็ได้ส่ง นายอริญชัย ซูสารอ ลูกชาย ซึ่งเป็น กำนัน ต.ควน อ.ปะนาเระ ลงสนามแทน
ส่วนทางพรรคประชาชาติ เตรียมส่ง นายสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส นายกเทศมนตรีตำบลตันหยง อ.ยะหริ่ง ลงสมัครทวงเก้าอี้คืน
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย เตรียมส่ง นายอับดุลกอฮา อาแวปูเต๊ะ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 พรรคภูมิใจไทย และ ผอ.มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมชายแดนใต้ ซึ่งในศึกเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีคะแนนมาเป็นอันดับ 2
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมส่ง ดร.ยูนัยดี วาบา ผอ.โรงเรียนดรุณศาสตร์วิทยา อ.สายบุรี และเป็นบุตรชายของ นายนิมุคตาร์ วาบา อดีต ส.ส.ปัตตานี พรรคเพื่อแผ่นดิน
ด้านพรรคเพื่อไทย เตรียมส่ง นายอาหมัดบูรฮัน ติพอง กรรมการโซน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะอนุกรรมาธิการด้านการป้องกันประเทศ
พรรครวมพลังเตรียมส่ง ว่าที่ ร.ต.โมฮามัดยาสรี ยูซง อดีต ส.ส.เขต 3 ปัตตานี เมื่อครั้งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 48
เขต 4 ปัตตานี ประกอบด้วย อ.ยะรัง อ.มายอ และ อ.ทุ่งยางแดง
เจ้าของพื้นที่เดิม คือ นายสมมุติ เบ็ญจลักษณ์ ส.ส. พรรคประชาชาติ ที่เอาชนะได้แบบขาดลอย มีคะแนนทิ้ห่างคู่แข่งจากพรรคพลังประชารัฐเกือบเท่าตัว
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ รอบนี้คาดว่าจะส่ง นายบูรฮันธ์ สะเม๊าะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และนายกสมาคมส่งเสริมพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ชายแดนใต้ Ybit ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวเปิดตัวลงสมัครพรรคภูมิใจไทย
ขณะที่พรรคภูมิใจไทย เตรียมส่ง นายฟรีดี เบญอิมรอม (แบแดร์) อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งคะแนนการเลือกตั้งในรอบที่แล้วมาเป็นอันดับ 4 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เตรียมส่ง นายนาวี หะยีดอเลาะ อดีตสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส บุตรชายอดีตกำนันตำบลกระเสาะ อ.มายอ ลงชิงชัย
ด้านพรรคเพื่อไทยเตรียมส่ง นายอิสมะแอ ทาเน๊าะ อดีตประธานสภานักศึกษา PNYS มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประธานกองทุนเด็กกำพร้า PNYS เคยลงสมัครนายก อบต.กระหวะ แต่แพ้การเลือกตั้งเมื่อปี 64 และพรรคไทยสร้างไทย เตรียมส่ง ดร.อิบรอฮิม ยานยา อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักษาชาติ