ขยายความจาก พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพน้อยที่ 4 เรื่องที่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งหนักและถี่หลังจบโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ซึ่งเป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 2 ส.ค.65
ข้อสังเกตนี้ โฆษกกระทรวงกลาโหม พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ก็เคยพูดมาแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ส.ค.ผ่านมา หลังเกิดเหตุระเบิดในสวนยางพารา
“ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมข้อมูลเหตุรุนแรงตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค.65 พบว่าเหตุร้ายรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นถี่ยิบจริงๆ
1 ส.ค. เป็นวันทหาร “บีอาร์เอ็น” มีเหตุป่วนก่อนหน้านั้น เผายาง-วางวัตถุต้องสงสัย 6 อำเภอยะลา
3 ส.ค. ยิงชาวบ้านไทยพุทธหาของป่า 2 ศพ ที่ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
4 ส.ค.วางระเบิดโจมตีชุดตรวจที่เกิดเหตุ โชคดีใช้รถหุ้มเกราะ ไร้เจ็บ
4 ส.ค. กราดยิงรถไฟที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ทำรถหยุดวิ่งหลายวัน
6 ส.ค. “โชเล่ย์บอมบ์” อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ชาวบ้านดับ 1 เจ็บ 2
8 ส.ค. ระเบิดใกล้รีสอร์ทริมหาดบ้านทอน อ.เมือง จ.นราธิวาส (เป็นจุดที่ใกล้สนามบินนราธิวาสด้วย)
11 ส.ค. กู้ระเบิดถังแก๊ส ใกล้เสาไฟฟ้าริมถนนสาย 43 (หาดใหญ่-ปัตตานี) อ.เทพา จ.สงขลา
15 ส.ค. วางระเบิดในสวนยางพารา อ.สุไหงปาดี ชาวบ้านบาดเจ็บ ดักระเบิดเจ้าหน้าที่ซ้ำ ดับ 1 เจ็บนับสิบ
16-17 ส.ค. วางระเบิด-วางเพลิง ปั๊มน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นฯ-บิ๊กซี 17 จุด
@@ คาดฝีมือ BRN กดดันไทยหยุดปฏิบัติการทางทหาร
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รับข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงที่ได้สรุปรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ โดยเฉพาะชนวนเหตุที่ทำให้เกิดความรุนแรง และกลุ่มที่คาดว่าเป็นผู้ลงมือ
1. การก่อเหตุมีเป้าหมายเป็นร้านสะดวกซื้อ, ปั้มน้ำมัน, เสาสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งจัดเป็นเป้าหมายทางเศรษฐกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะส่งผลสร้างความเสียหายในวงกว้าง โดยเฉพาะชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
เป้าประสงค์ของผู้ก่อเหตุ มีทั้งเรื่องภายในองค์กรของตนเอง คือเพิ่มขีดความสามารถในการโจมตี ฝึกความชำนาญ และสร้างขวัญกำลังใจให้กับบรรดานักรบ
ขณะเดียวกัน การโจมตีในพื้นที่เศรษฐกิจ ชุมชน และเขตเมือง ก็เพื่อสร้างอำนาจต่อรองบนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ
นอกจากนั้นยังมีเป้าประสงค์ต่อยอดเพื่อทำลายเศรษฐกิจ ทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหาย และลดความน่าเชื่อถือของรัฐ เพราะฝ่ายความมั่นคงดูแลความปลอดภัยให้ไม่ได้ แม้จะเป็นเขตเมือง หรือร้านสะดวกซื้อที่มีคนเข้า-ออกพลุกพล่าน เปิดบริการ 24 ชั่วโมงก็ตาม
2. กลุ่มที่ปฏิบัติการ น่าจะเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยหวังผลเพื่อกดดันให้คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายรัฐบาลไทย ลงนามในเอกสารข้อเสนอที่เป็นกรอบการพูดคุย หรือที่เรียกว่า “ทีโออาร์” ซึ่งยังตกลงกันไม่ได้ในการพูดคุยหลายครั้งที่ผ่านมา ขณะที่การพูดคุยฯรอบล่าสุด ฝั่งบีอาร์เอ็นก็ไม่ได้คุยข้อเสนอ “เข้าพรรษาสันติ” ยุติความรุนแรง 3 เดือน จากกลุ่มไทยพุทธในพื้นที่ ซึ่งคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทยนำไปหารือ
ขณะที่ฝ่ายบีอาร์เอ็นต้องการให้รัฐบาลไทยยอมรับเรื่องยุติปฏิบัติการทางทหารอย่างเป็นทางการ (บีอาร์เอ็นใช้คำว่า ความรุนแรงจากฝั่งรัฐ) โดยหวังผลให้รัฐบาลยกเลิกการตั้งด่านตรวจ การลาดตระเวน และการรักษาความปลอดภัยต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่รัฐบาลไทยยอมรับไม่ได้
3. ห้วงเวลาที่เกิดเหตุ เป็นช่วงเวลาที่มีวันเชิงสัญลักษณ์ จึงทำให้เกิดการก่อเหตุรุนแรงต่อเนื่องมา เช่น วันทหารของบีอาร์เอ็น วันที่ 1 ส.ค. วันครบรอบการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยของ หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำทางจิตวิญญาณของคนชายแดนใต้ วันที่ 13 ส.ค. เป็นต้น
4. กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังมีแนวโน้มปฏิบัติการต่อไป เพื่อกดดันรัฐบาลไทย และคณะพูดคุยฯให้ยอมรับข้อเสนอของบีอาร์เอ็น
@@ ประธานพูโลโดดหนี อ้างไม่เกี่ยว
ทั้ง 4 ข้อเป็นสมมติฐานหลักที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งขึ้น และสรุปรายงานหลังเกิดเหตุ ส่วนสมมติฐานรอง คือการแสดงพลังตอบโต้ปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐที่จับกุมแนวร่วม และแกนนำผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่ม พูโล จี5 ที่มีการจับกุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนั้นยังมีการจับกุม ครูสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งหนึ่งใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ซึ่งเกี่ยวพันกับการก่อเหตุรุนแรงหลายเหตุการณ์ในพื้นที่ อ.รือเสาะ และหลายอำเภอของ จ.ยะลา
ความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ของประชาคมชายแดนใต้ มีการพยายามโพสต์ภาพของบรรดาแนวร่วม เพื่อโยงเหตุรุนแรงกับปฏิบัติการของกลุ่มพูโล แต่ นายกัสตูรี่ มะห์โกตา ประธานพูโล ให้สัมภาษณ์กับ “ทีมข่าวอิศรา” ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงเมื่อคืนที่ผ่านมา
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประธานพูโล นายกัสตูรี่ เพิ่งถูกศาลจังหวัดยะลาออกหมายจับในคดีกบฏ ก่อการร้าย และครอบครองวัตถุระเบิด แต่นายกัสตูรี่ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย เขานักอยู่ที่ประเทศสวีเดน และเดินทางเข้า-ออกประเทศมาเลเซียบ่อยครั้ง จึงไม่ชัดเจนว่า นายกัสตูรี่ ปฏิเสธความรับผิดชอบกับเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะเพิ่งถูกออกหมายจับหรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้จะส่งผลต่อกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขด้วย หากในอนาคต นายกัสตูรี่ เข้าสู่โต๊ะพูดคุยฯ ก็จะเคลื่อนไหวลำบาก เนื่องจากมีหมายจับติดตัว
และที่ผ่านมา นายกัสตูรี่ ก็แสดงท่าทีชัดเจนผ่านการก่อเหตุรุนแรงของกองกำลังพูโล จี5 ว่าต้องการร่วมโต๊ะพูดคุยฯ เนื่องจากพื้นที่นี้ไม่ได้มีแต่บีอาร์เอ็น ที่รัฐบาลไทยเลือกพูดคุยด้วยเท่านั้น